ไม่พบผลการค้นหา
"พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ" ระบุหนังสือคำสั่ง ฉบับที่ 4 ระงับการออกอากาศและเผยแพร่ข่าวสาร ยังไม่ได้ประกาศใช้ ต้องมีหลักเกณฑ์เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน ชี้ให้ กสทช.และดีอี พิจารณาดำเนินการ

พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวชี้แจงถึงการออกประกาศฉบับที่ 4 เรื่อง ให้ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามข้อ 2 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ว่า เนื่องจากได้รับแจ้งจากหน่วยข่าวว่าได้มีการนำเสนอข้อมูลอันอาจเกิดความสับสนปลุกปั่นก่อให้เกิดความไม่สงบได้ จึงออกเป็นประกาศที่ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ไปพิจารณา เรื่องข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมา หรือที่มีอยู่ว่าทำผิดกฎหมายหรือไม่ หากทำผิดให้หน่วยงานนั้นๆ ไปพิจารณาไปบังคับใช้กฎหมายพิจารณาตามปกติ แต่ถ้าเห็นว่าควรต้องถอดข้อความออกเป็นบ้างช่วง หรือระงับการออกอากาศ ต้องขออำนาจศาล ซึ่งการประกาศฉบับนี้ ยังไม่ได้บังคับใช้ เพราะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ และขั้นตอนให้เป็นมาตราฐานเดียวกัน จึงอยากประชาสัมพันธ์ว่า กอร.ฉ. ยังไม่มีคำสั่งจำกัดสิทธิสื่อ เป็นเพียงจัดการข้อมูลข่าวสารที่มีปัญหาเป็นช่วงๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดความสับสนรุนแรง จึงจำเป็นต้องออกมาลักษณะนี้ก่อน ทั้งนี้การประชุมเกี่ยวกับการดำเนินการด้านสื่อจะมีประชุมทุกวันเวลา 10.00 น .มีปลัดดีอี เป็นประธาน 

ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยว่า ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีการชุมนุม 3 พื้นที่หลักในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แยกอโศก และถนนสุขุมวิท แยกอุดมสุข ถึงแยกบางนา โดยตำรวจจัดกำลัง 12 กองร้อย ดูแลความปลอดภัย นอกจากนี้ ในช่วงการชุมนุมได้มีการดำเนินคดีผู้กระทำผิดรวมแล้ว 74 คน ซึ่งจะนำตัวไปดำเนินคดีตามกฎหมายทุกราย ส่วนผู้ที่ก่อความวุ่นวายบริเวณสุขุมวิท 103 ถึงแยกบางนา หลังมีเลิกการชุมนุมเมื่อวานนี้ (19 ต.ค.) จะมีการออกหมายจับ และดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ส่วนการดูแลความปลอดภัยการชุมนุมในวันนี้ (19 ต.ค.) เตรียมกำลังเบื้องต้นไว้ 12 กองร้อยเช่นเดิม โดยจะเน้นดูแลความปลอดภัยกลุ่มผู้ชุมนุม ป้องกันมือที่สามสร้างความวุ่นวาย ส่วนการสลายการชุมนุม พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จะเป็นผู้พิจารณาสั่งการ

ด้าน พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า พบเพจข่าวออนไลน์ มีการนำคลิปเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม มาถ่ายทอดซ้ำ ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด ว่ามีเหตุปะทะกันอีกครั้ง ถือเป็นการนำเข้าข้อมูลที่บิดเบือน จะมีการความแจ้งความดำเนินคดีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ