ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา ร่วม 24 ชั่วโมง ในการปิดล้อมสารวัตรกานต์ มีการจัดชุดตำรวจชุดอินทราชเข้าพื้นที่ ผ่านการเจรจาและร้องเพลงกล่อม พร้อมเชิญบุคคลใกล้ชิดมาโน้มน้าวให้วางอาวุธ ก่อนยกระดับยิงแก๊สน้ำตา 2 รอบ หลังเจรจาไม่เป็นผล
ซึ่งมีรายงานว่าตำรวจอินทราชอย่างน้อย 1 นาย ถูกกระสุนยิงบริเวณหมวกนิรภัยที่สวมใส่ระหว่างการปิดล้อม ทำให้ไม่ได้รับบาดเจ็บถึงชีวิต ขณะที่ผู้ก่อเหตุได้รับบาดเจ็บสาหัส หลังเสียงกระสุนหลายสิบนัดระหว่างการบุกจับกุมสงบลง จากการถูกยิงบริเวณข้อพับแขนซ้าย หน้าอกซ้าย ต้นขาด้านบนซ้าย สุดท้ายหมอยื้อไม่ไหวผู้ก่อเหตุเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ประเด็นที่สนใจในคดีนี้คือ ในโลกออนไลน์ต่างตั้งคำถามว่าทำไมเจ้าหน้าที่ไม่เข้าชาร์จจับกุมและปล่อยให้ผู้ก่อเหตุยิงปืนอยู่เป็นระยะ และอาจเป็นอันตรายต่อชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง
“ไม่ทำตามกระแสสังคม” ปากคำยืนยันของ ‘พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล’ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ที่ลงพื้นที่ควบคุมสถานการณ์ ให้เหตุผลชี้แจงถึงคำถามจากสังคมว่าทำไมไม่เข้าชาร์จจับกุม โดยอธิบายว่าไม่ต้องการให้เกิดความสูญเสีย และผู้ก่อเหตุไม่ได้จับใครเป็นตัวประกัน รวมถึงเป็น ‘ผู้ป่วยจิตเวช’ ไม่ใช่ ‘คนร้าย’
‘ความเครียดจากการแต่งตั้งโยกย้าย’ ‘ป่วยทางจิตไม่ได้กินยาต่อเนื่อง’ หรือ ‘เรื่องความสัมพันธ์’ และอีกหลากหลายเงื่อนปมถูกเผยแพร่จากสื่อหลายสำนัก โดยมีรายงานว่าผู้ก่อเหตุมักจะเกิดอาการคลุ้มคลั่งบ่อยครั้ง และเข้ารับการรักษาด้านจิตเวช ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลสาเหตุที่แท้จริงในการก่อเหตุยังไม่มีการยืนยัน
ป่วยจิตเวชห้ามครอบครองปืน?
เคสตำรวจคลั่งไม่ใช่กรณีแรกที่เกิดขึ้น ย้อนไปเมื่อปี 2565 โศกนาฏกรรมอดีตตำรวจกราดยิงที่หนองบัวลำภู ทำให้ภาครัฐและองค์กรตำรวจต้องออกมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาอาวุธปืน ประกอบไปด้วย การอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน สำหรับรายใหม่ต้องมีใบรับรองแพทย์ตรวจสุขภาพจิต และมีความประพฤติที่ไม่เป็นภัย เช่นดื่มสุราแล้วขาดสติ หรือ มีอารมณ์ใช้ความรุนแรง โดยมีหนังสือรับรองจากต้นสังกัด หรือ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน
ขณะที่รายเก่าต้องมีการตรวจความประพฤติว่าพร้อมใช้ปืนได้หรือไม่ หากมีการกระทำผิดเพิกถอนทันที ในส่วนของปืนเถื่อนภาครัฐผ่อนผันให้ผู้ครอบครองนําอาวุธปืนที่ไม่ได้รับอนุญาต ส่งมอบให้แก่ภาครัฐหรือนํามาขึ้นทะเบียน
โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เน้นย้ำการออกมาตรการในเรื่องการเพิกถอนใบอนุญาตพกพาอาวุธปืน เมื่อพบปัญหาทางจิต พฤติกรรมเป็นภัยต่อสังคม ต้องมีการทบทวนและตรวจสอบในรอบด้าน
สถิติความเครียดตำรวจ
จากข้อมูลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่ามีการตรวจสุขภาพจิตข้าราชการตำรวจปีละ 1 ครั้ง ในปี 2560 มีตำรวจเข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้า 650 ราย ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องการทำงาน จากแรงกดดันด้วยภาระงาน หนี้สินจากเงินเดือน-สวัสดิการไม่เพียงพอ และความเครียดจากการแต่งตั้งโยกย้าย
นอกจากนี้พบว่าตั้งแต่ปี 2551-2564 มีตำรวจเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 443 นาย โดยเกิดจากปัญหาสุขภาพ 129 นาย ปัญหาอื่นๆ 121 นาย ปัญหาครอบครัว 98 นาย ปัญหาส่วนตัว 39 นาย ปัญหาหนี้สิน 38 นาย ปัญหาเรื่องงาน 18 นาย
ในปี 2564 มีการสรุปสาเหตุการตาย 21 นาย เกิดจากปัญหาสุขภาพ 11 นาย ปัญหาหนี้สิน 5 นาย ปัญหาส่วนตัว 3 นาย ปัญหาเรื่องงาน 1 นาย ปัญหาอื่นๆ 1 นาย