ไม่พบผลการค้นหา
โฆษก ศปช. เผย เขื่อนเจ้าพระยาทยอยปรับลดน้ำไหลผ่านลงต่อเนื่อง ด้านการฟื้นฟู เชียงราย-เชียงใหม่-ลำพูนคืบหน้า ศปช.เน้นย้ำเร่งจ่ายเงินช่วยเหลือให้ถึงมือ ปชช.โดยเร็ว

วันนี้ (13 ตุลาคม 2567) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. และ ศปช. ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำฝน-น้ำท่า กรมชลประทานได้ทยอยลดปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ตามลำดับ ดังนี้ 

1)  เวลา 12.00 น. ทยอยลดจากอัตรา 1,851 ลบ.ม./วิ   เหลืออัตรา 1,800 ลบ.ม./วิ  ในเวลา 15.00 น.  และคงอัตราดังกล่าวต่อเนื่อง  

2) เวลา 21.00 น. ทยอยลดจากอัตรา 1,800 ลบ.ม./วิ เหลืออัตรา 1,750 ลบ.ม./วิ ในเวลา 24.00 น. และคงอัตราดังกล่าวต่อเนื่อง

นายจิรายุ กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแผนสนับสนุนด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนภารกิจฟื้นฟู จังหวัดเชียงราย  ได้แก่ 

1) จัดทีมปฐมพยาบาล สนับสนุนจุดปฐมพยาบาลในพื้นที่สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ทำความสะอาด วันละ 4 ทีม และดูแลประชาชนในชุมชนเบื้องต้น 

2) จัดทีมเยียวยาจิตใจ ลงพื้นที่เยียวยาและประเมินสุขภาพจิตของประชาชน ให้คำแนะนำแก่ประชาชนตามแผนการดำเนินงานฯ 

3) จัดทีมดูแลและประเมินด้านสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ให้คำแนะนำวิธีการดูแลจัดการสิ่งแวดล้อมในบ้านหลังน้ำลด และสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ และชุดทำความสะอาดให้แก่บ้านของกลุ่มเปราะบาง  

4) จัดทีมดูแลและเฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำท่วม - โรคฉี่หนู โรคทางเดินอาหารและน้ำโรคระบบทางเดินหายใจ

ส่วนสถานการณ์การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังและน้ำมีกลิ่นเหม็น ในจังหวัดลำพูน ได้บูรณาการทำงานทุกภาคส่วนเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด โดยได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 74 ตัว อีกทั้ง ยังขอรับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำจากกองทัพเรือจำนวน 20 ลำ และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 6 ตัว ในเขตพื้นที่น้ำท่วมและคาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

สำหรับจังหวัดเชียงราย มีความก้าวหน้าการดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย อ.แม่สาย ดังนี้  

1. บริเวณหัวฝาย - สายลมจอย อาคารบ้านเรือนที่ได้รับฟื้นฟูแล้ว 116 หลัง คิดเป็นร้อยละ 78 

2. บริเวณเกาะทราย อาคารบ้านเรือนที่ได้รับฟื้นฟูแล้ว 104 หลัง คิดเป็นร้อยละ 62  

3. บริเวณไม้ลุงขน อาคารบ้านเรือนที่ได้รับฟื้นฟูแล้ว 129 หลัง คิดเป็นร้อยละ 68  

4. บริเวณเหมืองแดง อาคารบ้านเรือนที่ได้รับฟื้นฟูแล้ว 227 หลัง คิดเป็นร้อยละ 98 

5. บริเวณปิยะพร อาคารบ้านเรือนที่ได้รับฟื้นฟูแล้ว 82 หลัง คิดเป็นร้อยละ 100

ส่วนที่ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวานนี้ (12 ต.ค 67) ได้มีการประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัดเชียงใหม่ (ก.ช.ภ.จ.เชียงใหม่) ครั้งที่ 2  เพื่อร่วมกันพิจารณาการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งผู้ประสบภัยจะได้รับความช่วยเหลือในอัตราเดียวกันที่ครัวเรือนละ 9,000 บาทนั้น โดยจะให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของแต่ละอำเภอลงพื้นที่ไปสำรวจและรวบรวมข้อมูลครัวเรือนที่ประสบภัย พร้อมทั้งรับรองความเสียหาย นำเข้าสู่กระบวนการประชาคมของหมู่บ้าน และการประชุม ก.ช.ภ. ระดับอำเภอให้ความเห็นชอบ จากนั้นส่งต่อให้กับคณะกรรมการ ก.ช.ภ.จ.เชียงใหม่ พิจารณาอนุมัติในระดับจังหวัด ส่งต่อให้ธนาคารออมสิน ตรวจสอบพร้อมเพย์ ก่อนโอนเงินเข้าสู่บัญชีผู้ประสบอุทกภัย โดยตรงต่อไป

“คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัดเชียงใหม่ (ก.ช.ภ.จ.)  ได้พิจารณาอนุมัติขอรับเงินช่วยเหลือแล้ว จำนวน 2 อำเภอ ประกอบด้วย

- อำเภอฝาง จำนวน 1,257 ครัวเรือน เป็นเงิน 11,313,000 บาท 

- อำเภอสันทราย จำนวน 443 ครัวเรือน เป็นเงิน 3,987,000 บาท  

ส่วนอำเภอที่เหลือ หากทางจังหวัดฯ ได้รับคำร้องขอจากทางอำเภอแล้ว จะเร่งประชุมพิจารณาฯ อนุมัติเงินช่วยเหลือในทันที โดยไม่เว้นแม้แต่วันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดราชการ” นายจิรายุ ระบุ