ที่รัฐสภา สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ....) พ.ศ........ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) รัฐสภา กล่าวถึงกรอบการทำงานของ กมธ.ดังกล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2563 ได้มีการเลือกตำแหน่งต่างๆ โดยตำแหน่งประธาน กมธ.คือ วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ส่วนเรื่องกรอบการทำงานจะมีการพูดคุยกันในวันที่ 27 พ.ย. นี้ ซึ่งฝ่ายค้านได้แจ้งไปในที่ประชุมว่าอยากให้เร็วกว่า45 วัน วิรัช ก็บอกว่าอยู่ที่กรรมการว่าจะดำเนินการอย่างไร เบื้องต้นจะประชุมทุกวันศุกร์เช้าถึงเย็น หากต้องเพิ่มเติมหรือเร่งรัดต้องพูดคุยกันอีกที พร้อมฝากไปยังสมาชิกทั้งหมดว่ามีเวลาแปรญัตติ15วัน ซึ่งแต่ละพรรคได้แจ้งไปยังสมาชิกแล้ว
สำหรับเนื้อหาการประชุมนั้น เป็นกรอบเนื้อหาแต่ละมาตรา และคิดว่าตอนนี้ยังไม่จำเป็นต้องตั้งอนุกรรมาธิการ ซึ่งหลายฝ่ายกำลังพูดคุยกันถึงกรอบสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) อยากให้มีการฟังเสียงของทุกภาคส่วน เพราะเป็นมาตราไม่กี่มาตรา ซึ่งฝ่ายค้านจะแปรญัตติ เรื่องวันเวลา เรื่องจำนวนคน ที่หลายพรรคมองว่าต้องมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งต้องนำเรื่องนี้เข้าไปคุยในกมธ.ว่า 50 คนของรัฐบาลที่มาจากการสรรหาหรือแต่งตั้ง จะปรับแก้อย่างไร โดยวันที่27 พ.ย.นี้ก็น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น
ทั้งนี้ สิ่งที่พรรคฝ่ายค้านอยากให้แก้มากที่สุดคือเรื่องที่มาและคุณสมบัติของส.ส.ร.เพราะฝ่ายค้าน อยากให้ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และจะมีการแปรญัตติเรื่องของไอลอว์ที่อยากให้เลือกตั้งเขตทั่วประเทศ จึงต้องมีการพูดคุยกันว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้หรือไม่ ทั้งนี้ฝ่ายค้านพยายามปนะสานไปยังภาคประชาชนให้มานั่งเป็นที่ปรึกษา เพราะอยากให้เข้ามามีส่วนร่วม
ขณะที่ "วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระบุว่าจะมีการประชุมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ถือว่าเพียงพอหรือไม่ว่า เท่าที่ทราบนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธาน กมธ.บอกว่าเบื้องต้น จะมีการประชุมในลักษณะนี้ไปก่อน แต่ถ้าในอนาคตการประชุมมีความล่าช้า ก็จะมีการปรับวันประชุม เพื่อนัดประชุมเพิ่มหรืออาจจะประชุมวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ ซึ่งทางนายวิรัช เห็นว่าขณะนี้ ยังไม่มีความจำเป็นต้องรีบร้อน เพราะถึงอย่างไรก็ต้องรอ กฎหมายประชามติอยู่ดี
‘เพื่อไทย’ จวก รบ.ไม่จริงใจ งัด 112 เล่นงานม็อบ
ขณะเดียวกัน สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่รัฐสภาตั้งคณะกรรมการปรองดองแต่ในขณะเดียวกันก็มีการออกหมายเรียกผู้ชุมนุมในมาตรา 112 ว่า จะปรองดองกันอย่างไร ปัญหาของการปรองดอง คือรัฐบาลไม่จริงใจ และรัฐบาลต้องเข้ามาทำ ซึ่งกลุ่มที่ทำไม่ได้มีอำนาจหรือตัดสินใจ เป็นเพียงการหาแนวทาง หาหลักการวิธีการให้ คนที่จะทำการปรองดองได้เลยคือรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการ(รมว.) กระทรวงกลาโหม และยืนยันว่าต้องมีการพูดคุย ถ้าไม่มีการพูดคุยต่อให้ตั้งขึ้นอีกกี่ชุด ก็ไม่มีประโยชน์ จึงขอฝากไปยังรัฐบาลว่าคนไทยด้วยกัน อยากเห็นการพูดคุยอย่างเปิดเผย และเชื่อว่าจะมีคนประสานอยู่แล้ว การที่รัฐบาลออกหมายเรียกแบบนี้ก็ไม่จบเป็นการขยายความขัดแย้งขึ้นไปเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม ผู้ชุมนุมก็ต้องเข้ามาคุยด้วยเหตุด้วยผล ไม่งั้นจะบานปลายไปเรื่อย เรื่องก็ไม่จบ และยิ่งเพิ่มมากขึ้น ส่วนการชุมนุมในช่วงเย็นวันนี้นั้น ก็น่าจะเป็นการชุมนุมตามปกติซึ่งผู้ชุมนุมก็มีกรอบเวลาอยู่แล้ว จึงฝากเจ้าหน้าที่ในเรื่องของความปลอดภัย และขออย่าใช้ความรุนแรง
ด้าน วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีแนวทางการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ที่เบื้องต้นจะให้ ตัวแทนผู้ชุมนุมมาร่วมเป็นกรรมการเพียง 2 คนถือว่าน้อยไปหรือไม่ว่า ตนทราบเพียงข่าวที่ออกมาทางสื่อมวลชน ยังไม่ทราบรายละเอียดทั้งหมด ส่วนแนวทางที่จะให้ผู้ชุมนุมมาเป็นกรรมการเพียงแค่ 2 คนนั้น ตนไม่ทราบ เพราะจะมีการตกลงกันเอง เพราะถ้าเขาไม่มา ต่อให้ตั้งคณะกรรมการเป็น 10 คน มันก็ไม่มีประโยชน์
ส่วนที่มีการมองกันว่ารัฐบาลยังไม่มีความจริงใจในเรื่องนี้นั้น วิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ขอให้ไปถามคนที่มีความเชื่อเช่นนั้นก็แล้วกัน ไม่ต้องมาถามตน