ไม่พบผลการค้นหา
โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดีของยูเครน จะแถลงการณ์ต่อผู้นำกลุ่ม G7 ในวันนี้ (11 ต.ค.) เพื่อเรียกร้องให้มีการสนับสนุนทางการทหารและการทูตมากขึ้น หลังรัสเซียโจมตีเมืองของยูเครนอย่างรุนแรงที่สุดตั้งแต่เกิดสงครามขึ้น

เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสกล่าวว่า การโจมตีดังกล่าวที่รัสเซียใช้ขีปนาวุธ และโดรนติดอาวุธโจมตีบริเวณสวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น และเป้าหมายพลเรือนต่างๆ เป็น “การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในธรรมชาติของสงครามนี้”

ในวันนี้ (11 ต.ค.) ซึ่งจะมีการประชุมระหว่างผู้นำ G7 และเซเลนสกีในรูปแบบออนไลน์ เซเลนสกีจะแสวงหาการสนับสนุนจากชาติตะวันตกซึ่งรัฐบาลยูเครนยังขาดแคลน เมื่อพิจารณาถึงความจำเป็นที่ต้องป้องกันดินแดนและประชาชนของตน “พวกเรากำลังต่อกรกับผู้ก่อการร้าย” เซเลนสกีกล่าว “พวกเขามี 2 เป้าหมาย โครงสร้างพื้นฐานทางพลังงาน และประชาชน”

ความต้องการของเซเลนสกีในด้านการทหาร หมายรวมถึงระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศและขีปนาวุธระยะไกล ในขณะที่ในเชิงการทูต ยูเครนต้องการให้มีการประกาศว่ารัสเซียเป็นผู้สนับสนุนการก่อการร้ายที่เป็นรัฐ และต้องการให้ชาติต่างๆ โดดเดี่ยวรัสเซีย ซึ่งเป็นประเด็นที่เคยกล่าวถึงในการประชุมสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติ ทั้งนี้สหประชาชาติกำลังจะหารือเกี่ยวกับการยึดครองดินแดนตอนใต้และตะวันออกของยูเครน ซึ่งเป็นกรณีที่ บาร์บารา วูดวาร์ด อธิบายว่า “เป็นการใช้กำลังผนวกดินแดนที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2”

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการของสหประชาชาติกล่าวว่า เขารู้สึกตกใจอย่างมากในการโจมตีครั้งนี้ “นี่เป็นการยกระดับสงครามที่รับไม่ได้ และพลเรือนก็สูญเสียมากที่สุดเช่นเคย” โฆษกของกูเตอร์เรสกล่าว

เซอร์เก คิสลิทสยา เอกอัครราชทูตของยูเครนประจำสหประชาชาติ กล่าวในการประชุมสมัชชาใหญ่ว่า “เมื่อตัวแทนของรัสเซียเข้ามาในที่ประชุม พวกเขาทิ้งรอยเลือดเอาไว้ และทำให้ห้องประชุมคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นเลือดเนื้อมนุษย์”

รัสเซียพยายามแก้ไขกฎระเบียบ เพื่อให้การลงคะแนนโหวตเพื่อประณามการผนวกดินแดนของรัสเซียทำอย่างลับๆ แต่ก็พ่ายแพ้คะแนนโหวตในประเด็นดังกล่าวไป

ในวันจันทร์ (10 ต.ค.) เยอรมนีประกาศว่า จะเร่งการนำส่งระบบป้องกันทางอากาศไอริส-ที โดยกล่าวว่าหัวรบ 4 ชุดจะถึงยูเครนในไม่กี่วันหลังจากนี้ ในขณะที่สหรัฐฯ กล่าวว่าระบบมิสไซล์ NASAMS ที่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ สัญญาว่าจะส่งมอบให้ในเดือน ก.ค. จะมาถึงยูเครนในไม่กี่สัปดาห์หลังจากนี้ ในขณะที่เอสโตเนียเตรียมร่างกฎหมายที่ระบุว่ารัสเซียเป็นรัฐก่อการร้าย

เซเลนสกีได้พูดคุยกับไบเดนและทวีตข้อความในภายหลังว่า “การป้องกันทางอากาศเป็นประเด็นสำคัญลำดับแรก ในความร่วมมือด้านการกลาโหมของเรา เราต้องการการนำโดยสหรัฐฯ ร่วมกับจุดยืนที่หนักแน่นของ G7 และการสนับสนุนโดยสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติ”

หลังการหารือกับเซเลนสกี ทำเนียบขาวแถลงว่าไบเดนได้ “สัญญาว่าจะให้การสนับสนุนยูเครนเพื่อให้ยูเครนป้องกันตัวเองได้ รวมถึงระบบป้องกันทางอากาศด้วย”

โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีของเยอรมนีกล่าวก่อนหน้านี้ว่า เซเลนสกีสามารถมั่นใจใน “ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเยอรมนีและประเทศ G7 อื่นๆ” ได้

เยอรมนี ประธานของกลุ่ม G7 กำลังจะจัดการประชุมออนไลน์ในวันอังคารนี้ โดย สเติฟเฟิน เฮอเบอสไตรท์ โฆษกของรัฐบาลเยอรมนีกล่าวในวันจันทร์ที่ผ่านมา (10 ต.ค.) ว่า “เยอรมนีกำลังทำทุกอย่างเท่าที่มีอำนาจจะทำได้ เพื่อให้การสนับสนุนเพิ่มเติม โดยเฉพาะเพื่อบูรณะซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกทำลายไปในยูเครน เช่น ระบบไฟฟ้าและก๊าซ”

เซเลนสกีกล่าวว่า มีขีปนาวุธกว่า 100 ลูกที่ถูกยิงมายังยูเครน โดยที่ขีปนาวุธกว่าครึ่งถูกสกัดโดยหัวรบขีปนาวุธสกัดกั้นทางอากาศของยูเครน

วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซียอ้างความรับผิดชอบเหนือการโจมตีเหล่านั้น ซึ่งยิงมาจากเรือรบ เครื่องบินรบ และโดรนที่ผลิตในอิหร่าน โดยรัสเซียอ้างว่าเป็นการตอบโต้การระเบิดสะพานไครเมีย ที่เชื่อมรัสเซียและไครเมียในวันเสาร์ (8 ต.ค.) และยังกล่าวเตือนถึงการตอบโต้ที่จะมีในอนาคต หากยูเครนจะมีการโจมตีรัสเซียอีก

อย่างไรก็ตาม หน่วยข่าวกรองของยูเครนกล่าวว่า การเตรียมการของรัสเซียที่จะโจมตียูเครนเริ่มมีการวางแผนตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. ซึ่งมีการสั่งการเครื่องบินทิ้งระเบิดให้มีการเตรียมตัว

ความต้องการของรัสเซียเบื้องหลังการโจมตีคือ การทำลายแหล่งพลังงานความร้อนในขณะที่ฤดูหนาวกำลังมาถึง และสร้างความตื่นตระหนกภายในกลุ่มพลเรือนและท้าทายยุโรป

เซเลนสกียังได้พูดคุยกับ ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร โดยเซเลนสกีกล่าวว่า ตนหวังพึ่งการนำของสหราชอาณาจักรในการ “รวบรวมการสนับสนุนทางการเมือง และการกลาโหมบนเวทีนานาชาติสำหรับยูเครน โดยเฉพาะในการป้องกันน่านฟ้าของยูเครน” โดยทรัสส์กล่าวว่า “ไม่มีใครต้องการสันติภาพมากไปกว่ายูเครน และในส่วนของพวกเรา เราจะไม่ลังเลในการช่วยเหลือพวกเขาแม้แต่น้อย”

จุดสนใจของการทูตยูเครน คือ ความพยายามที่จะรวมรวมมติในการโดดเดี่ยวรัสเซียให้ได้มากที่สุดผ่านเวทีสหประชาชาติ ที่ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากเลือกที่จะงดออกเสียง

นอกจากนี้ ยูเครนยังพยายามให้ประเทศต่างๆ มอบสถานะผู้ก่อการร้ายโดยรัฐให้แก่รัสเซีย ซึ่งการให้สถานะดังกล่าวมีความหมายต่างกันไปในแต่ละประเทศ สหรัฐฯ ได้จัด 4 ประเทศอยู่ในสถานะผู้สนับสนุนการก่อการร้าย ได้แก่ เกาหลีเหนือ อิหร่าน ซีเรีย และคิวบา แม้ว่าจะมีแรงกดดันในรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อให้เพิ่มรัสเซียเป็นประเทศที่ 5 แต่ยังมีเสียงคัดค้านภายในสภาอยู่

“สหพันธรัฐรัสเซียแสดงให้เห็นว่า ตนเองเป็นรัฐผู้ก่อการร้ายที่ไม่เพียงต่อสู้กับกองทัพของยูเครนเท่านั้น แต่ต่อสู้กับพลเรือนผู้บริสุทธิ์ด้วย” แหล่งข่าวชาวยูเครนกล่าว “รัสเซียกำลังใช้ยุทธวิธีของนาซีซึ่งทิ้งระเบิดในเมืองต่างๆ ทั่วยุโรปอย่างโหดร้าย”

ขณะนี้ ยูเครนกำลังมีความกังวลว่ารัสเซียกำลังวางแผนที่จะสร้างเงื่อนไขก่อนการประชุม G20 ในบาหลี ซึ่งจะมีขึ้นในเดือน พ.ย. นี้ ซึ่งชาติตะวันตกจะเริ่มกดดันให้รัฐบาลยูเครนเริ่มต้นเจรจาในเงื่อนไขที่รัสเซียได้ผลประโยชน์ แม้ในปัจจุบันจะไม่มีสัญญาณว่า รัฐบาลที่ต่อต้านปูตินจะเสียงแตกกันเองก็ตาม


ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2022/oct/10/ukraine-to-demand-step-change-in-western-aid-after-russian-missile-blitz