การต่อสายคุยระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เกิดขึ้นหลังจากที่ซูนัคเพิ่งเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แทนที่ ลิซ ทรัสส์ ซึ่งลาออกไปก่อนหน้านี้ หลังจากเธอล้มเหลวในการฝ่าฟันมรสุมการเมืองในเวลาเพียงแค่ 49 วัน
ก่อนหน้านี้ ไบเดนได้เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน วิจารณ์นโยบายของทรัสส์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลดภาษี ซึ่งนับเป็นการวิจารณ์กิจการการเมืองประเทศอื่นของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่แทบไม่เคยเกิดขึ้น อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองชาติเกิดความตึงเครียดขึ้น ภายหลังจากการทำข้อตกลงเบร็กซิทในประเด็นไอร์แลนด์เหนือ โดยสหรัฐฯ มีความกังวลว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะกระทบต่อสันติภาพในภูมิภาค
ระหว่างการพูดคุยกันหลายชั่วโมง ไบเดนและซูนัคได้ตอกย้ำถึง “ความสัมพันธ์พิเศษ” ระหว่างสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร และระบุว่าทั้งสองจะทำงานร่วมกัน เพื่อยกระดับความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของโลก โดยในประเด็นสงครามยูเครน ทำเนียบขาวระบุว่า “ผู้นำทั้งสองได้ตกลงกันในเรื่องความสำคัญของการทำงานร่วมกัน เพื่อการสนับสนุนยูเครน และนำรัสเซียมารับผิดชอบต่อการรุกราน”
นอกจากนี้ โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ออกมาเปิดเผยว่า ซูนัคได้ให้การยืนยันกับทาง โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ว่า สหราชอาณาจักรจะยังคงให้การสนับสนุนยูเครนอย่างแน่วแน่ และ “แข็งแกร่งเท่าที่เคยเป็นมาภายใต้การเป็นนายกรัฐมนตรีของตน”
สำนักนายกรัฐมนตีสหราชอาณาจักรยังระบุเสริมอีกว่า “นายกรัฐมนตรี (ซูนัค) กล่าวว่า… ประธานาธิบดีเซเลนสกีสามารถวางใจได้ว่ารัฐบาลของเขาจะยืนหยัดในการเป็นน้ำหนึ่งในเดียวกันอย่างต่อเนื่อง ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องต้องกันว่าต้องมีการเดินหน้าเพิ่มแรงกดดันต่อระบอบป่าเถื่อนของปูติน ผ่านการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ”
ในขณะเดียวกัน ประธานาธิบดียูเครนได้ระบุว่า ตนเชื่อใน “การเป็นผู้นำของสหราชอาณาจักรในด้านการปกป้องประชาธิปไตยและเสรีภาพ” ที่จะมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น “ยูเครนและสหราชอาณาจักรได้มาถึงจุดสูงสุดของความสัมพันธ์ใหม่ในช่วงเวลาล่าสุดมานี้ อย่างไรก็ดี เรายังคงมีศักยภาพที่จะเสริมสร้างความร่วมมือของเรา” พร้อมกันนี้ เซเลนสกียังได้ส่งคำเชิญมายังซูนัคในการเดินทางเยือนยูเครนด้วย
นอกจากประเด็นสงครามยูเครน ทำเนียบขาวระบุว่าไบเดนและซูนัคตกลงกันที่จะ “จัดการกับความท้าทายที่จีนก่อขึ้น” ซึ่งสหรัฐฯ เรียกพฤติกรรมของจีนว่าเป็นคู่แข่งในทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจบนเวทีโลก โดยก่อนหน้านี้ สำนักนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ได้เปิดเผยบทสรุปบทสนทนาของผู้นำทั้งสอง ซึ่งมีการอ้างถึงความพยายามในการ “ต่อต้านอิทธิพลอันมุ่งร้ายของจีน”
ในแถลงการณ์ระบุว่า “ประธานาธิบดีไบเดนแสดงความยินดีกับนายกรัฐมนตรี ในการได้รับการแต่งตั้งของเขา และผู้นำทั้งสองต่างตั้งหน้าตั้งตารอที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวว่าสหราชอาณาจักรยังคงเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของอเมริกา และนายกรัฐมนตรีเห็นด้วยในการมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งสองผู้นำได้หารือกันในการขยายความร่วมมือสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ทั้งในระดับทวิภาคีและภูมิภาค เช่น อินโด-แปซิฟิก ซึ่งมีสนธิสัญญา Aukus เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของเราในการเพิ่มเสถียรภาพและตอบโต้อิทธิพลที่มุ่งร้ายของจีน”
“พวกเขาสะท้อนถึงบทบาทนำ ที่ประเทศของเรากำลังเล่นในการสนับสนุนประชาชนของยูเครน และสร้างความมั่นใจว่าปูตินจะล้มเหลวในสงครามครั้งนี้” แถลงการณ์ระบุ “นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีไบเดนยังเห็นพ้องต้องกันถึงความจำเป็น ที่จะทำให้ประชาชนในไอร์แลนด์เหนือมีความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองผ่านการรักษาข้อตกลง (วันศุกร์ประเสริฐ) เบลฟัสต์” ทั้งนี้ มีการคาดว่าผู้นำทั้งสองจะได้พบหน้ากันแบบตัวต่อตัว ผ่านการประชุม G20 ในอินโดนีเซียของช่วงเดือนหน้าที่จะถึงนี้
ที่มา: