ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบในหลักการโครงการพัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม และอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการพัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม ภายในกรอบวงเงิน 1,249 ล้านบาท
โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการ คาดว่าจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 12,490 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565
สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ การส่งเสริมและพัฒนาคนในชุมชนให้มีองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ และพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเพื่อขับเคลื่อนฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ กลุ่มเป้าหมายแยกเป็น กลุ่มผู้รับประโยชน์โดยตรง จะเป็นคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ได้แก่ ผู้ประกอบการOTOP กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ประชาชนที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่ถูกเลิกจ้างและกลับคืนถิ่น ตลอดจนประชาชนที่สนใจเพิ่มทักษะองค์ความรู้ให้ตนเองกว่า 700,000 คน และผู้รับประโยชน์โดยอ้อม จะมีชุมชนอย่างน้อย 400 พื้นที่ทั่วประเทศได้รับการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระดับชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งภายหลังโควิด 19
ไตรศุลีกล่าวว่า ในการดำเนินโครงการนี้จะจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานและทักษะอาชีพที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ แบ่งเป็น 4 หลักสูตร ดำเนินการผ่านศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 12 แห่ง และส่วนกลางคือที่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย
หลักสูตรที่ 1 พัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการผลิต เช่น กลุ่มอาชีพการทำของใช้ในครัวเรือน ไม้กวาดทางมะพร้าว น้ำยาล้างจ้านเป็นต้น จำนวน 350,000 คน วงเงิน 529.9 ล้านบาท
หลักสูตรที่ 2 พัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการบริการ เช่น กลุ่มอาชีพช่าง ซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซ่อมรถ ซ่อมแอร์ ช่างเย็บผ้า ตัดผม จำนวน 40,000 คน วงเงิน 67.56 ล้านบาท
หลักสูตรที่ 3 พัฒนาด้านผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์หรืออัตลักษณ์และแบรนด์สินค้า เพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่น สอดรับกับความต้องการของของตลาดและสามารถกระจายสินค้าและบริการได้อย่างกว้างขวาง จำนวน 270,000 คน วงเงิน 476.28 ล้านบาท และ
หลักสูตรที่ 4 พัฒนาต่อยอดทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ เช่น การบริหารจัดการเงินในภาคครัวเรือนหรือ ภาคธุรกิจ การจัดทำแผนธุรกิจ การบัญชี การตลาด เป็นต้น จำนวน 40,000 คน วงเงิน 48.56 ล้านบาท และมีค่าบริหารจัดการโครงการ เช่น ค่าประชาสัมพันธ์โครงการ ค่าใช้จ่ายในการจัดประชุม ได้แก่ ค่าเบี้ยเลี้ยง ที่พัก พาหนะ ค่าใช้จ่ายในการติดตามและประเมินผลโครงการ ค่าเปิดตัวโครงการ(Kick Off) ค่าจ้างเหมาบุคลากรเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน วงเงิน 126.99ล้านบาท
ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ โครงการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ค่ารักษาพยาบาลแก่กลุ่มผู้ไร้สิทธิการรักษาพยาบาลโควิด-19 วงเงิน 1,923.1426 ล้านบาท และเห็นชอบโครงการค่าฉีดวัคซีนกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิรวมทั้งผู้ที่ไม่ใช่ประชาชนไทย วงเงิน 98.3266 ล้านบาท ที่เกิดขึ้นจริงและได้ดำเนินการไปแล้วในช่วงเดือนตุลาคม 2664- เดือนมิถุนายน 2565
โครงการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ค่ารักษาพยาบาลแก่กลุ่มผู้ไร้สิทธิการรักษาพยาบาลโรคโควิด-19 กรอบวงเงิน 1,923.1426 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยบริการ ในการดำเนินการ การตรวจรักษาพยาบาลกลุ่มคนไร้สิทธิการรักษาซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทย ป้องกันและลดการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 สู่คนไทยจากการเปิดประเทศและเตรียมการสู่โรคประจำถิ่น
รวมทั้งเป็นค่าชดเชยค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโรคโควิด-19 กรณีผู้ป่วยที่ไร้สิทธิการรักษาพยาบาลให้กับหน่วยบริการ กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย คนต่างด้าวไร้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล หรือ ผู้ไร้สัญชาติ หรือ ผู้มีประกันสุขภาพคนต่างด้าวหรือแรงงานต่างด้าว เนื่องจากสิทธิประโยชน์ไม่ครอบคลุมการรักษาโรคโควิด-19 รวมถึงการรักษาพยาบาลของกลุ่มเป้าหมายที่มีอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน
ในส่วนโครงการค่าฉีดวัคซีนกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิรวมทั้งผู้ที่ไม่ใช่ประชาชนไทย กรอบวงเงิน 98.3266 ล้านบาท เพื่อจ่ายค่าบริการการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ รวมทั้งผู้ที่ไม่ใช่ประชาชนไทยให้กับหน่วยบริการ
รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 ว่า ครม.เห็นชอบให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารออมสิน วงเงิน 500 ล้านบาท ของสำนักงานธนานุเคราะห์ ออกไปอีก 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 30 กันยายน 2567
โดยกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน เพื่อเป็นเงินทุนสำรองหมุนเวียนในการรับจำนำและเสริมสภาพคล่องกิจการโรงรับจำนำภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ สอดรับกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ประชาชนมาใช้บริการรับจำนำอย่างต่อเนื่อง