ไม่พบผลการค้นหา
คณะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ประจำวันที่ 31 มกราคม 2566
ครม.อนุมัติ บมจ.โทรคมนาคมฯ เดินหน้าโครงการบริการ 5G สำหรับลูกค้าองค์กร เบื้องต้นภายใน 6 ปีเล็งให้บริการแบบ Private 5G Network 438 องค์กร กรอบวงเงินตลอดโครงการ 14 ปี 6,705.6 ล้านบาท

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 31 ม.ค. 66 ได้อนุมัติหลักการโครงการบริการ 5G สำหรับลูกค้าองค์กรของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด(มหาชน) กรอบวงเงินจำนวน 4,964.30 ล้านบาท และรับทราบกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานกรอบวงเงิน 1,741.3 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินตลอดโครงการระยะเวลา 14 ปี 6,705.6 ล้านบาท

โดยโครการนี้เกิดขึ้นจากการที่ บมจ.โทรคมนาคมฯ ประสงค์จะนำเทคโนโลยี 5G มาให้บริการบนย่านความถี่ 26 GHz ที่ได้รับการจัดสรรจากสำนักงาน กสทช. จากการเข้าร่วมประมูลเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา โดยมีกลุ่มเป้าหมายองค์กรที่จะรับบริการตามโครงการนี้ภายใน 6 ปีทั้งสิ้น 438 ราย ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ 11 ราย กลุ่มโรงพยาบาล 47 ราย กลุ่มสถาบันการศึกษา 30 ราย และโรงงานอุตสาหกรรมและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ เช่น อีอีซี 350 ราย ให้บริการ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงแบบประจำที่ (Fixed Wireless Access :FWA) 2.ให้บริการเชื่อมต่อในพื้นที่จำกัด (Campus Network) อาทิ ในโรงงานอุตสาหกรรม ท่าเรือขนส่ง ท่าอากาศยาน และ 3.ให้บริการเพื่อสนับสนุนการบริการสาธารณะและการบริการภาครัฐ เพื่อสนับสนุนแนวทางการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัล เมืองอัจฉริยะ และดิจิทัลไทยแลนด์ 

โครงการจะเน้นบริการ 5G ลักษณะเฉพาะองค์กร(Private 5G Network) ที่การออกแบบตามความต้องการใช้งานต่างๆ ดังนั้น บมจ.โทรคมนาคมฯ จะมีการลงทุนงานที่เป็นลักษณะโครงการเป็นรายๆ (Project-based) เมื่อมีโอกาสทางธุรกิจและลูกค้าที่แน่นอน โดยมีรูปแบบการดำเนินงานประกอบด้วย การลงทุนพัฒนาระบบโครงข่ายหลักและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง การลงทุนพัฒนาสถานีฐานเทคโนโลยี 5G และ ให้บริการ Business solution

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า โครงการนี้จะมีระยะเวลา 14 ปี ภายใต้กรอบวงเงินลงทุน 6,705.6 ล้านบาท ซึ่งใช้จ่ายจากรายได้ของ บมจ.โทรคมนาคมฯ แยกเป็น ค่าใช้จ่ายในการลงทุน (CAPEX) เช่น ค่าลงทุนระดับโครงจ่ายหลัก (Core Network) สถานีฐานเทคโนโลยี 5G ต้นทุนอุปกรณ์ ค่าบริการติดตั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องวงเงิน 4,964.3 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) เช่น ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ดูแลรักษาและซ่อมบำรุงโครงข่าย วงเงิน 1,741.3 ล้านบาท

นอกจากนี้ บมจ.โทรคมนาคมฯ ระบุว่า ได้ทำการประเมินแล้วโครงการมีความคุ้มค่าในการลงทุนโดยมีผลตอบแทนทางการเงิน อยู่ที่ร้อยละ 28.71 มีระยะเวลาคืนทุน 6 ปี 6 เดือน ขณะที่ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ ร้อยละ 16 เกิดมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 263 ล้านบาท มากกว่าศูนย์ ซึ่งหมายความว่าโครงการสามารถสร้างรายได้เหนือค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานโดยเฉลี่ย

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการของ บมจ.โทรคมนาคมฯ จะมีส่วนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายโทรคมนาคมและบริการดิจิทัลซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเมืองอัจฉริยะ การพัฒนาอุตสาหกรรม4.0 การพัฒนาแรงงานดิจิทัล พื้นที่พัฒนาพิเศษ และ 5G ยังจะสามารถต่อยอดการพัฒนาการศึกษา การแพทย์และเทคโนโลยีเสมือนจริง และเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าองค์กรที่ต้องการใช้บริการ 5G ด้วย


ครม. เห็นชอบขยายระยะเวลา โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ ถึง ก.ย. 2566  มีเกษตรกรเข้าร่วมแล้ว  94,888 คน พื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ 847,373.7 ไร่ 

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี วันนี้ ( 31 มกราคม 2566) เห็นชอบขยายระยะเวลาการดำเนินงาน โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ ถึงสิ้นสุดปีงบประมาณ 2566 จากเดิมสิ้นสุดปีงบประมาณ พ.ศ. 2565  

โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ มีสาระสำคัญ ดังนี้

- คุณสมบัติเกษตรกร  เป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีสมาชิก 5 คนขึ้นไป และมีพื้นที่รวมกันไม่ต่ำกว่า 100 ไร่ โดยต้องมีทะเบียนเกษตรกร มีเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ เป็นต้น 

- รูปแบบการส่งเสริม  โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สนับสนุนเงินอุดหนุนแก่เกษตรกร ที่ผ่านการประเมินตามที่กำหนดไม่เกินรายละ 15 ไร่ แบ่งการจ่ายเงิน 3 ระยะ ต่อเนื่อง 3 ปี ดังนี้    ระยะเตรียมความพร้อม (T1) สนับสนุนเงินอุดหนุน ไร่ละ 2,000 บาท ระยะปรับเปลี่ยน (T2) สนับสนุนเงินอุดหนุน ไร่ละ 3,000 บาท และระยะการรับรองมาตรฐานการผลิตข้าวอินทรีย์ (Organic Thailand) (T3) สนับสนุนเงินอุดหนุน ไร่ละ 4,000 บาท (เกษตรกรจะร่วมโครงการฯ ที่ระยะ T1 และเมื่อผ่านการประเมินจะเลื่อนเป็นระยะ T2 และ T3 ในปีถัดไป ตามลำดับ)  

- ระยะเวลาโครงการฯ 5 ปี (ปี 2560 - 2564) โดยจะรับเกษตรกรเฉพาะปี 2560 - 2562 เพื่อให้สอดคล้องกับการประเมิน 3 ระยะ (T1, T2 และ T3) ที่ต่อเนื่อง 3 ปี

 - วงเงินงบฯ 9,696.52  ล้านบาท (ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 60)

 - ประโยชน์ที่คาดจะได้รับ   

สามารถผลิตข้าวเปลือกอินทรีย์ได้ประมาณ 400,000 ตัน สร้างกลุ่มชาวนาที่มีความเข้มแข็ง รักษาระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมให้มีความสมดุล 

สำหรับปี 2564 นั้น กรมการข้าวยังไม่สามารถจ่ายเงินอุดหนุนได้ เนื่องจากผลผลิตข้าวอินทรีย์ส่วนใหญ่จะเก็บเกี่ยวในช่วง พ.ย. - ธ.ค. ของทุกปี ซึ่งในการประชุม นบข. เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการ ฯ เพื่อให้สอดคล้องกับฤดูเก็บเกี่ยวข้าวอินทรีย์ รวมทั้งเพื่อให้ กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีระยะเวลาพอเพียงในการตรวจสอบสิทธิเกษตรกร เพื่อจ่ายเงินอุดหนุนแก่เกษตรกรที่เหลือ โดยให้เสร็จสิ้นภายในปีงบฯ 2566 

ทั้งนี้ โครงการ ฯ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 ตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปี 2560/2561 โดยมีกรอบวงเงิน 9,696.52 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ ให้ได้พื้นที่ 1 ล้านไร่ และให้เกษตรกรได้รับการรับรองการผลิตข้าวตามมาตรฐาน ข้าวอินทรีย์ (Organic Thailand) จำนวน 66,700 คน ภายในปี 2564 ซึ่งผลการดำเนินการระหว่างปี 2560-2564 มีกลุ่มเกษตรกรกลุ่ม T1, T2 และ T3 ที่เข้าร่วมโครงการ ฯ จำนวน 94,888 คน (จำนวน 4,636 กลุ่ม) และมีพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ที่ร่วมโครงการ ฯ 

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวในที่ประชุม ครม.ว่า โครงการ ฯ สอดคล้องกับโครงการข้าวรักษ์โลก และแนวทาง BCG ของรัฐบาล จึงเห็นสมควรให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงพาณิชน์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกสินค้าไทย พัฒนาช่องทางการขายข้าวอินทรีย์ เช่น การค้าออนไลน์ เพื่อให้สินค้าสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง ตลอดจนพัฒนา การตลาดและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคทุกช่วงวัย ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ข้าวอินทรีย์และผลิตภัณฑ์จากข้าวอินทรีย์มีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดภายในประเทศและระหว่างประเทศ 


ครม.รับทราบผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับสวัสดิการของรัฐ ปี 65

ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 31 ม.ค. 66 ได้รับทราบผลการสำรวจกความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสวัสดิการของรัฐ พ.ศ. 2565 ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ ซึ่งการสำรวจนี้ดำเนินการโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ(สสช.) ซึ่งสำรวจประชาชนอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นใน ทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 6,970 คน ระหว่างวันที่ 17-31 ต.ค. 65 โดยสรุปความเห็นของประชาชนต่อสวัสดิการของรัฐ 7 รายการดังนี้ 

1.การใช้บริการสวัสดิการของรัฐด้านคุณภาพชีวิต เช่น เบี้ยยังชีพ เด็กแรกเกิด บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยยังชีพคนพิการ พบกว่าประชาชนมากกว่าร้อยละ 97 ระบุว่าไม่มีปัญหาการใช้บริการและพบว่าน้อยกว่าร้อยละ 3.0 มีปัญหา เช่น เงินไม่เพียงพอ ลำบากในการต้องไปถอนเงิน และเงินเข้าช้า

2. สวัสดิการของรัฐด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรียนฟรีถึงมัธยมศึกษาปีที่3 สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือนพบว่าประชาชนร้อยละ 80.6 ระบุว่าสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มาก-มากที่สุด และร้อยละ 3.2 เห็นว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายได้น้อย-น้อยที่สุด หรือไม่ช่วยเลย

3.สวัสดิการของรัฐด้านการรักษาพยาบาล ได้แก่ สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่า ประชาชนมากกว่าร้อยละ 97.0 ระบุว่าไม่มีปัญหาในการใช้บริการ และน้อยกว่าร้อยละ 2 มีปัญหา เช่น การบริการล่าช้า รอคิวนาน และต้องใช้บริการเฉพาะโรงพยาบาลตามสิทธิเท่านั้น

4.ความพึงพอใจในการใช้บริการด้านการรักษาพยาบาล แยกเป็น การสำรวจความพึงพอใจต่อการใช้สถานพยาบาลตามประเภทสถานพยาบาล พบว่าประชาชนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนร้อยละ 76.8 มีความพึงพอใจมาก-มากที่สุด และร้อยละ 1 พึงพอใจน้อย-น้อยที่สุด ส่วนประชาชนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐร้อยละ 70.4 มีความพึงพอใจมาก-มากที่สุด และร้อยละ 3.6 มีความพึงพอใจน้อย-น้อยที่สุด ส่วนความพึงพอใจต่อสิทธิรักษาพยาบาล พบว่าประชาชนที่ใช้สิทธิประกันสุขภาพ/ประกันชีวิตร้อยละ 86.5 มีความพึงพอใจมาก-มากที่สุด รองลงมาคือสิทธิสวัสดิการ ข้าราชการ จ่ายเงินเอง สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสิทธิกองทุนประกันสังคม ตามลำดับ

5.สวัสดิการที่ประชาชนต้องการให้รัฐจัดเพิ่ม เช่น การสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือนที่เลี้ยงดูบิดา/มารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 93.5) จัดสวัสดิการศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก/ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในหน่วยงาน/ใกล้สถานที่ทำงาน(ร้อยละ 78.6) และจัดสวัสดิการขนส่งสาธารณะฟรีให้กับเด็ก/เยาวชนที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี( ร้อยละ 85.9)

6.การจัดเก็บภาษีผู้มีรายได้เพื่อนำมาจัดสวัสดิการให้ครอบคลุมทุกช่วงวัย พบกว่า ประชาชนร้อยละ 44.6 ยินยอบให้จัดเก็บได้ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้ได้สวัสดิการที่ครอบคลุมและทั่วถึง ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียม และประชาชนร้อยละ 37.5 ไม่ยินยอมให้จัดเก็บด้วยเหตุผลว่า ไม่มีเงินเพียงพอที่จะเสียภาษี กลัวจัดสวัสดิการให้ประชาชนไม่ทั่วถึง และไม่มีหลักเกณฑ์หรือกฎหมายที่แน่นอนที่จะรับประกันการจัดสวัสดิการให้

7.การลงทะเบียนโครงการเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 พบว่า ประชาชนลงทะเบียนร้อยละ 84.2 ไม่ประสบปัญหาในการลงทะเบียน ขณะที่ร้อยละ 15.8 ประสบปัญหา ได้แก่ รอคิวลงทะเบียนกับหน่วยงานนาน เว็บไซต์ขัดข้อง/ล่ม และเดินทางไปหน่วยงานที่รับลงทะเบียนไม่สะดวก หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล

ไตรศุลี กล่าวว่า ในการสำรวจยังได้สรุปเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 5 เรื่องดังนี้ 1.ควรจัดศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อรองรับผู้สูงอายุที่มากขึ้น และลดการถูกทอดทิ้งให้อยู่ลำพัง พร้อมทั้งจัดให้มีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตต่างๆ 

2.ส่งเสริม/สนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาขึ้น ให้สามารถเข้าถึงการบริการช่องทางต่างๆ ของทุกหน่วยงานอย่างสะดวก รวมถึงการทำให้ประชาชนรู้เท่าทันภัยออนไลน์

3.สร้างความเชื่อมั่นในการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนในการใช้สิทธิการรักษาพยาบาลทุกประเภทให้มีความเท่าเทียม ทั่วถึง และครอบคลุมในทุกพื้นที่ เช่น คุณภาพยา บริการและความสะดวกรวดเร็ว

4.สนับสนุนให้มีสวัสดิการเรียนฟรีในทุกระดับ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือน และทุกคนสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม

5.ส่งเสริม/สนับสนุนสวัสดิการในเรื่องคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนเพิ่มเติม เช่น ค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือนที่เลี้ยงดูบิดา/มารดา ที่มีอายุ 60 ปีขึ้น ไปจัดศูนย์เด็กเล็ก/พัฒนาเด็กเล็กใกล้สถานที่ทำงาน และจัดบริการขนส่งสาธารณะฟรีให้เด็ก/เยาวชน


อนุมัติปรับปรุงโครงการ ฯ ใช้จ่ายจากเงินกู้ ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564

อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี วันนี้ (31 มกราคม 2566) อนุมัติเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ ใช้จ่ายจากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (วงเงิน 500,000 ล้านบาท) จำนวน 4 โครงการ ดังนี้ 

1. โครงการจัดหายารักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับเตรียมความพร้อมในการรับมือและป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของหน่วยบริการสุขภาพ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ระยะเวลาดำเนินโครงการ ฯ ถึงธันวาคม 2565  กรอบวงเงิน 3,995.27 ล้านบาท ซึ่ง สธ. ได้ ดำเนินการซื้อยาภายใต้โครงการดังกล่าวครบถ้วนแล้วและยัง มีกรอบเงินกู้เหลือจ่ายประมาณ 766.79 ล้านบาท จึงให้ปรับแผนเพื่อจัดซื้อยาไวรัสเพิ่มเติมจากวงเงินกู้เหลือจ่าย ได้แก่ ยา Favipiravir/Molnupiravir จำนวน 30 ล้านเม็ด ยา Remdesivir จำนวน 300,000 vial  โดยมุ่งเน้นการซื้อยา Molnupiravir เป็นหลัก และให้ขยายระยะเวลาโครงการ เป็นสิ้นสุด มีนาคม 2566 

2. โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) สำหรับบริการประชากรไทย จานวน 60 ล้านโดส (AstraZeneca) ปี 2565 ของกรมควบคุมโรค กรอบวงเงิน 18,639.11 ล้านบาท สิ้นสุดเดือนธันวาคม 2565 ทั้งนี้ ให้ขยายระยะเวลาเป็นสิ้นสุดเดือนกันยายน 2566 และให้กรมควบคุมโรคพิจารณาจัดหา วัคซีนในส่วนที่เหลือ กรณีวัคซีนรุ่นใหม่ที่สามารถรองรับการกลายพันธุ์ของเชื้อ รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลในการฉีด เข็มกระตุ้นเพื่อสร้างการรับรู้/ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป 

3. โครงการพัฒนาศักยภาพหน่วยบริการสังกัด สป.สธ. เพื่อขยายการรองรับ การดูแลผู้ป่วย COVID - 19 ที่มีอาการจนถึงระยะวิกฤติ ระยะเวลาดำเนินการถึงธันวาคม 2565 ให้ขยายระยะเวลาโครงการ ฯ เป็นสิ้นสุด มิถุนายน 2566 

4. โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด - 19 (ChulaCov19 mRNA) ที่ผลิตเองในไทย เพื่อทำการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1-3 และการผลิต เพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียนวัคซีนเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน ของจุฬาลงกรณ์ อว. ให้ปรับแก้ไขชื่อโครงการเป็น โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด - 19 ChulaCov19 mRNA ที่ผลิตเองในไทย เพื่อทำการทดสอบ ทางคลินิก และการพัฒนาวัคซีนโควิด - 19 รุ่นสอง สำหรับสายพันธุ์ใหม่ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง 


อนุมัติกำหนด “ทรายธรรมชาติทุกชนิด” เป็นสินค้าห้ามส่งออก สงวนไว้ใช้อุตสาหกรรมในประเทศ

รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 ว่า ครม.อนุมัติร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ทรายเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อเป็นการสงวนทรายซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญไว้ใช้กับอุตสาหกรรมในประเทศ 

ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงมาตรการควบคุมการส่งออกทรายและยกเลิกมาตรการควบคุมการส่งออกแร่ที่มีทรายเป็นส่วนประกอบ โดยปรับปรุง ดังนี้

1.กำหนดให้ทรายตามพิกัดศุลกากรประเภท 25.05 เป็นทรายธรรมชาติทุกชนิด จะแต่งสีหรือไม่ก็ตาม ยกเว้นทรายที่มีโลหะปน ให้เป็นสินค้าห้ามส่งออก โดยไม่ได้กำหนดค่าซิลิกาออกไซต์ไว้ (จากเดิมที่กำหนดให้ทรายธรรมชาติทุกชนิดที่มีซิลิกาออกไซต์เกินกว่าร้อยละ 75 เป็นสินค้าห้ามส่งออก) ได้แก่ 1.1 ทรายซิลิกา และทรายควอร์ตซ์ โดยทรายซิลิกา เป็นทรายที่ใช้ในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ และพบมากบริเวณหาดทราย ชายทะเล ใช้สำหรับในงานอุตสาหกรรมแก้ว กระจก เซรามิก ส่วนทรายควอร์ตซ์ เป็นทรายซิลิกาที่มีคุณภาพสูง ทนความร้อนได้สูง มีความแข็งแรงใช้ในงานอุตสาหกรรมทนไฟ กรองน้ำ ทำพื้นทนแรงกระแทกได้ดี ใช้ผสมกับเรซิ่น-อีพ็อกซี่ เพื่อเสริมความแข็งแรง และ 1.2 ทรายอื่น ๆ

2.ยกเว้นการส่งออกทรายในกรณี ดังนี้ 2.1กรณีส่งออกเป็นตัวอย่าง หรือศึกษาวิจัย หรือกรณีนำติดตัวออกไป เพื่อใช้เฉพาะตัวในปริมาณไม่เกิน 2 กิโลกรัม หรือ 2.2กรณีที่ยานพาหนะนำออกไปเพื่อใช้ในยานพาหนะนั้น ๆ ให้ปริมาณเป็นไป ตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง อาทิ เอาไว้ถ่วงสมดุลเรือ และการป้องกันอัคคีภัยในเรือ ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ.1974

ครม.คืนความเป็นธรรม อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน พ.ศ....เปิดช่องร้องขอรับทรัพย์สินคืน-ชดใช้ ในคดีฟอกเงิน กรณีไม่มีความผิด 

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 31 มกราคม 2566 ว่า ที่ประชุมครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการฟอกเงินเสนอ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย โดยจะกำหนดระยะเวลา หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในกระบวนการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินที่มี 21 ลักษณะความผิด โดยผู้เสียหายที่ไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดจะมีสิทธิได้รับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดคืนหรือชดใช้คืน รวมถึงได้รับการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ อนามัย หรือชื่อเสียง

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง โดยสรุปมีดังนี้

1. หลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาในการยื่นคำร้อง ให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องดังกล่าวภายใน 90 วันนับแต่สำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการฟอกเงินประกาศในราชกิจจานุเบกษาและในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของ ปปง. เพื่อแจ้งให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องเพื่อขอรับคืนหรือชดใช้คืนหรือชดใช้ค่าเสียหายจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยคำร้องต้องระบุข้อความให้ถูกต้องครบถ้วนพร้อมทั้งแนบหลักฐานที่แสดงถึงการเป็นผู้เสียหายในความผิดมูลฐานและสามารถยื่นคำร้องด้วยตนเอง ทางไปรษณีย์ หรือช่องทางอื่นตามที่เลขาธิการ ปปง. ประกาศกำหนด และยังได้กำหนดให้บุคคลอื่นสามารถยื่นคำร้องแทนผู้เสียหายได้ในกรณีดังนี้ คือ ผู้แทนโดยชอบธรรม (กรณีผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์) ผู้อนุบาล (กรณีผู้เสียหายเป็นคนไร้ความสามารถ) ทายาท (กรณีผู้เสียหายถึงแก่ความตาย) และบุคคลซึ่งได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายเป็นหนังสือจากผู้เสียหาย

2. วิธีการพิเศษในการตรวจสอบและรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายในความผิดบางมูลฐาน คือ การค้ามนุษย์และความผิดมูลฐานที่เกิดนอกราชอาณาจักร โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือถึง พม. (สำหรับความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ) หรือหน่วยงานของรัฐต่างประเทศที่รายงาน (สำหรับความผิดมูลฐานที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร) เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายและความเสียหายและสถานการณ์ดำเนินคดีตามกฎหมายเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายนั้น

3. การเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการธุรกรรมและพนักงานอัยการ เมื่อได้รับคำร้องถูกต้องครบถ้วนแล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายและความเสียหายโดยเร็ว และจัดทำรายงานพร้อมความเห็นต่อเลขาธิการ ปปง. เพื่อให้ความเห็นชอบในการเสนอเรื่องให้คณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาและมีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้อง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้คืนแก่ผู้เสียหาย และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งมติของคณะกรรมการธุรกรรมและสิทธิในการขอให้ทบทวนมติให้แก่ผู้เสียหาย บุคคลอื่น หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ โดยทางไปรษณีย์ตอบรับหรือไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์

4. การจัดการทรัพย์สินเพื่อคืนหรือชดใช้คืนหรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้คืน หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย ให้ ปปง.ดำเนินการโดยเร็ว


ครม.เห็นชอบอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 3 ระดับ รวม 17 สาขา เริ่มต้น 465 – 715 บาทต่อวัน หากนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างตามที่กำหนด มีโทษจำคุก ปรับเป็นแสน หรือทั้งจำทั้งปรับ

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 ว่า ครม.เห็นชอบกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 3 สาขาอาชีพ รวม 17 สาขา ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 ครั้งที่ 11/2565 โดยกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 17 สาขา ดังนี้

กลุ่มสาขาอาชีพช่างอุตสาหการ ประกอบด้วย 1.สาขาช่างระบบส่งถ่ายกำลัง ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ระดับ 1) 495 บาทต่อวัน 2.สาขาช่างระบบปั๊มและวาล์ว 515 บาทต่อวัน 3.สาขาช่างประกอบโครงสร้างเหล็ก 500 บาทต่อวัน 4.สาขาช่างปรับ 500 บาทต่อวัน 5.สาขาผู้ควบคุมระบบงานเชื่อมมิก - แม็ก ด้วยหุ่นยนต์ 520 บาทต่อวัน และ 6.สาขาช่างเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ระดับ 1) 545 บาทต่อวัน (ระดับ 2) 635 บาทต่อวัน (ระดับ 3) 715 บาทต่อวัน

กลุ่มสาขาอาชีพช่างเครื่องกล ประกอบด้วย 1.สาขาช่างซ่อมรถแทรกเตอร์การเกษตร ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ระดับ 1) 465 บาทต่อวัน (ระดับ 2) 535 บาทต่อวัน (ระดับ 3) 620 บาทต่อวัน 2.สาขาพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถตักหน้าขุดหลัง 585 บาทต่อวัน 3.สาขาพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถขุด 570 บาทต่อวัน4.สาขาพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถลากจูง 555 บาทต่อวัน (โดยปรับขึ้นจากเดิม 550 บาทต่อวัน) และ 5.สาขาพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถตัก 520 บาทต่อวัน

กลุ่มสาขาอาชีพภาคบริการ ประกอบด้วย 1.สาขานักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ไทยสัปปายะ (โภชนบำบัด) ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ระดับ 1) 500 บาทต่อวัน (ระดับ 2) 600 บาทต่อวัน 2.สาขานักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ไทยสัปปายะ (วารีบำบัด) (ระดับ 1) 500 บาทต่อวัน (ระดับ 2) 600 บาทต่อวัน 3.สาขานักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ไทยสัปปายะ (สุคนธบำบัด) (ระดับ 1) 500 บาทต่อวัน (ระดับ 2) 600 บาทต่อวัน 4.สาขาพนักงานผสมเครื่องดื่ม (ระดับ 1) 475 บาทต่อวัน (ระดับ 2) 525 บาทต่อวัน (ระดับ 3) 600 บาทต่อวัน 5.สาขาการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย 530 บาทต่อวัน และ 6.สาขาช่างเครื่องช่วยคนพิการ (ระดับ 1) 520 บาทต่อวัน (ระดับ 2) 600 บาทต่อวัน

ทั้งนี้ อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือจะมีผลใช้บังคับ เก้าสิบวันหลังจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า เมื่อประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรืออัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือมีผลใช้บังคับแล้ว ห้ามไม่ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรืออัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือที่กำหนด หากนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ