ไม่พบผลการค้นหา
หลังสยบข่าวลือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม จะขอลาออกเพื่อเป็นทางออกของปัญหาจากการนำคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วน ตามมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะดำเนินการ 'รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว' อย่างไร

ล่าสุดมีกระแสข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจจะใช้การถวายสัตย์ฯ เพิ่มเติม เพื่อเป็นการแก้ไข ขณะที่ 7 พรรคฝ่ายค้าน และฝ่ายวิชาการยังคงมีมุมมองที่แตกต่างออกไป 

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย มองว่า เท่ากับยอมรับว่า การถวายสัตย์ฯ ไม่สมบูรณ์ ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ 2560 จริง ทำให้ตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการต่างๆ ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค. เป็นต้นมา จนถึงวันถวายสัตย์ฯ เพิ่มเติม ถ้ารัฐบาลเลือกทางออกตามนี้จริง การแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ระหว่างนั้น ก็จะต้องโมฆะตามไปด้วยหรือไม่  

"ครม. ของพล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องเข้าแถลงนโยบายต่อรัฐสภาใหม่อีกครั้ง จึงจะสมบูรณ์ก่อนเดินหน้าบริหารราชการแผ่นดิน อีกสิ่งหนึ่งที่อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์พิจารณาด้วยคือ การขอพระราชทานอภัยโทษ ต่อความผิดที่กระทำไปแล้ว" นายสุทินกล่าว  

สำหรับท่าทีของฝ่ายค้านต่อกรณีดังกล่าว นายสุทิน เปิดเผยว่า จะรอดูทางรัฐบาลว่า จะใช้ช่องทางออกจากปัญหาดังกล่าวอย่างไร ซึ่งการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 14 ส.ค.นี้ ซีก 7 พรรคฝ่ายค้านก็จะยื่นตั้งกระทู้ถามสด เพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์แสดงความรับผิดชอบต่อสภาด้วยการมาชี้แจงข้อสงสัยด้วยตนเองต่อไป 

นักวิชาการ มช. ชี้ต้องถวายสัตย์ฯ ใหม่ แถลงนโยบายใหม่

ด้าน นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ควรจะต้องออกมายอมรับความผิดพลาด แล้วเริ่มต้นกระบวนการถวายสัตย์ฯ ใหม่ ไม่ใช่การถวายสัตย์ฯ เพิ่มเติม เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาที่อาจมีการตีความตามมาอีก จากนั้นจึงดำเนินการเข้าแถลงนโยบายต่อรัฐสภาใหม่อีกครั้ง ทำทุกขั้นตอนให้ครบถ้วนตามกระบวนการ

เพราะการถวายสัตย์ฯ ถือเป็นกระบวนการสำคัญในทางรัฐธรรมนูญ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่เข้ามารับหน้าที่ทางการเมืองยอมรับกฎกติกา จะรักษาและทำตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ 

'ไพโรจน์ ชัยนาม' ชี้ ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนบริหารประเทศไม่ได้

นักกฎหมายมหาชน อธิบายว่า แม้ประเด็นดังกล่าวจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่ ศ.ไพโรจน์ ชัยนาม ปรมาจารย์ทางกฎหมาย เคยระบุถึงความสำคัญของการถวายสัตย์ปฏิญาณตนไว้ในหนังสือ 'คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ' ปี 2497 ใจความว่า การปฏิญาณตนนั้นเปรียบประดุจบัตรสำหรับอนุญาตเข้าชมละคร ถ้าไม่มีบัตรก็ไม่อาจเข้าชมได้

หากพูดภาษาชาวบ้านคือ ถ้าทำหน้าที่ไม่ครบถ้วนก็เข้ามาบริหารประเทศไม่ได้ นี่จึงถือเป็นบทเรียนที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเรียนรู้เมื่อจะเข้าสู่ระบอบการเมืองตามรัฐธรรมนูญ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง