ท่ามกลางการแข่งขันของประเทศในเอเชียที่แย่งชิงการเป็นฐานการผลิต หลังจีนและสหรัฐฯประกาศสงคราการค้าใส่กันนั้น เวียดนามได้เปรียบคู่แข่งชาติอื่นอยู่หลายช่วงตัว
นาทิซี เอสเอ (Natixis SA) หนึ่งในบริษัทผู้จัดการทรัพย์สินสัญชาติฝรั่งเศสที่ใหญ่ที่สุดในโลก เผยว่า เมื่อวิเคราะห์ภาพรวมจากปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ ค่าแรงคนงานรวมถึงค่าไฟฟ้า อันดับในการทำธุรกิจและการขนส่ง และการผลิตที่มาจากการลงทุนของต่างชาติโดยตรง ประเทศเวียดนามครองอันดับ 1 ท่ามกลาง 7 ประเทศในเอเชียที่มีความพยายามในการเป็นฐานการผลิต
“เวียดนามจะได้ส่วนแบ่งการตลาดจากจีนในแง่ของการผลิตที่เน้นแรงงาน ผู้ชนะในสงครามการค้าครั้งนี้คือเวียดนามอย่างไม่ต้องสงสัย” จิง เหงียน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ นาทิซี กล่าว
ในสงครามการค้าครั้งนี้ 'เหงียน ซวน ฟุก’ ประธานธิบดีเวียดนาม ไม่ปล่อยให้อ้อยหลุดจากปากสักชิ้นเดียวด้วยการกระตุ้นภาพลักษณ์การเป็นศูนย์รวมการผลิตและส่งออกของประเทศโดยการขายทุกอย่างตั้งแต่ร้องเท้าไปจนถึงโทรศัพท์มือถือ มูลค่าการค้าของประเทศนั้นสูงเป็นสองเท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี ซึ่งมากกว่าประเทศอื่นๆในเอเชียยกเว้นสิงคโปร์
ปัจจัยต่อไปนี้ทำใ���้เวียดนามเป็นประเทศเนื้อหอมสำหรับการลงทุน :
ค่าแรง-ไฟฟ้าถูก
ความถูกของค่าแรงขั้นต่ำที่ 216 ดอลลาร์สหรัฐฯหรือประมาณ 7,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งน้อยกว่าค่าแรงของจีนครึ่งหนึ่ง และหากนำมาเปรียบเทียบกับไทย ที่มีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 9,000 บาท ต่อเดือน ต่างกันถึง 2,000 บาท ทำให้นักลงทุนที่คิดเรื่องการประหยัดต้นทุนเป็นหลักแทบไม่หันไปมองประเทศอื่น เท่านั้นยังไม่พอ ตามข้อมูลเดือนมิถุนายนของเว็บไซต์โกลโบลปิโตรไพรซ์ (Globalpetrolprices.com) รัฐบาลเวียดนามยังอัดเงินสนับสนุนในด้านค่าไฟฟ้าที่มีราคาเพียง 7 เซนต์สหรัฐฯหรือประมาณ 2.29บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เทียบกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่อยู่ที่ 10 และ 19 เซนต์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.28 และ 6.22 บาท ตามลำดับ
นอกจากจะมีค่าแรงถูกแล้ว ตามข้อมูลจากธนาคารโลก เวียดนามยังมีแรงงานมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ที่ 57.5 ล้านคน ในขณะที่มาเลเซียและฟิลิปปินส์มีแรงงานเพียง 15.4 และ 44.6 ล้านคน ตามลำดับ
ข้อตกลงและการลงทุนกับต่างชาติ
ล่าสุดผู้นำเวียดนามได้บรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับเกาหลีใต้และยุโรป และเพิ่งเซ็นร่วมข้อตกลงการค้าภาคฟื้นแปซิฟิกกับ 10 ประเทศในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
สัญญาการค้าที่เซ็นเรียบร้อยกับอียูในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาแทบกำจัดภาษีศุลกากรทั้งหมด ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเพียงสิงคโปร์เท่านั้นที่มีข้อตกลงในทำนองเดียวกันกับอียู
รัฐบาลเวียดนามยังคงสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ลงทุนชาวต่างชาติด้วยกฏหมายหลักทรัพย์ที่อนุญาตให้นักลงทุนเป็นเจ้าของบริษัทมหาชนเต็มร้อยละ 100 ยกเว้นในภาคส่วนควบคุม อย่างธนาคารและโทรคมนาคม การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI ของเวียดนามเพิ่มตัวสูงขึ้นในระยะเวลาอันรวดเร็ว รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าการเติบโตของ FDI สูงขึ้นไปแตะตัวเลข 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 5.9 แสนล้านบาท ในปีนี้
'วู เตียน หลก' ประธานหอการค้าเวียดนาม กล่าวว่า ตัวแทนของบริษัทหองไห่พรีซีชันอินดัสทรี จำกัด ผู้ผลิตสินค้าให้กับบริษัทอย่างแอปเปิลที่มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศไต้หวันกำลังพิจารณาที่จะย้ายการผลิตบางส่วนมาที่เวียดนามเพื่อเลี่ยงความตึงเครียดจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน
ภูมิศาสตร์ที่ตั้งติดจีน
ที่ตั้งของระเทศเวียดนามนั้นอยู่ใกล้กับประเทศจีนและมีอาณาเขตบางส่วนติดกัน ซึ่งนับเป็นข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อย่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ซึ่งอยู่ห่างออกมามาก
บรรดาบริษัทในจีนที่ต้องการวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตหรือส่วนประกอบในการผลิตจากสหรัฐฯสามารถใช้เวียดนามเป็นทางผ่านเพื่อความสะดวกขึ้นได้ เนื่องจากจีนและเวียดนามมีส่วนสำคัญในกระบวนการผลิตของทั้งสองประเทศ ทำให้เวียดนามเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียกับจีน
ความมั่นคงของเศรษฐกิจและเสถียรภาพในค่าเงินดอง
เศรษฐกิจของเวียดนามที่โตถึงร้อยละ 7 ในปีนี้ ส่งผลให้เสียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงและไวที่สุด ค่าเงินดองในปี 2561 มีความผันผวนต่ำเมื่อเทียบกับค่าเงินอื่นในเอเชียอย่าง ค่าเงินรูปีของอินเดีย และรูเปียห์ของอินโดนีเซียที่อ่อนตัวอย่างหนักในปีนี้
“การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและความมั่นคงทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญต่อนักลงทุน” โทนี ฟอสเตอร์ ผู้จัดการบริษัทกฏหมาย เฟรชฟิลด์ บรูคฮาวด์ ดีรินเจอร์ แอลแอลพี (Freshfields Bruckhaus Deringer LLP) ประจำประเทศเวียดนาม กล่าว
ฟิทช์ โซลูชั่น แมคโคร รีเสริช (Fitch Solution Macro Research) หน่วยงานวิจัยของกลุ่มฟิทซ์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับเครดิตและหนี้ในตลาดต่างๆ มองว่าค่าเงินดองเวียดนามจะยังคงมีเสถียรภาพอยู่ในอนาคตอันใกล้เนื่องจากมีการลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าและการผลิตค่อนข้างสูง
หลังจากมองจุดแข็งของประเทศคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างเวียดนามแล้ว รัฐบาลไทยควรต้องหันกลับมามองแผนเศรษฐกิจของชาติว่าควรจะส่งเสริมไปในทางไหน ส่งออกที่ประสบปัญหาจากสงครามการค้าก็ยังแก้ไม่ตก อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็ยังเรียกความมั่นใจจากนักท่องเที่ยวจีนกลับมาไม่ได้ การบริโภคภาคเอกชนก็ยังชะลอตัวจากกำลังซื้อของประชาชนชั้นกลางและชั้นล่างซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ยังไม่ดี การหวังพึ่งโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี อย่างเดียวจะเพียงพอหรือไม่ เป็นคำถามสำคัญที่รัฐบาลชุดนี้และชุดใหม่ในอนาคตต้องหาคำตอบให้เจอ
อ้างอิง: Bloomberg