ไม่พบผลการค้นหา
’นรวิชญ์-วิญญัติ‘ เผยศาลฎีกาฯ ยกฟ้อง-เพิกถอนหมายจับ ‘ยิ่งลักษณ์‘ เด้ง ‘ถวิล‘ พ้นเลขาฯ สมช. เผย เป็นการโยกย้ายตามปกติ ชี้คำตัดสิน ‘ศาลปกครอง-ศาลรัฐธรรมนูญ‘ ไม่มีผลผูกพันไร้หลักฐานชี้มูลเอื้อเครือญาตินั่ง ‘ผบ.ตร.‘

วันที่ 26 ธ.ค. นรวิชญ์ หล้าแหล่ง และวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความประจำตัวของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตามลำดับ ให้สัมภาษณ์ภายหลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษายกฟ้อง ยิ่งลักษณ์ ในคดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กรณีเมื่อช่วงเดือนกันยายน 2554 โดยมีคำสั่งโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในขณะนั้น มาเป็นที่ปรึกษานายกฯ โดยมิชอบ 

นรวิชญ์ กล่าวว่า ทีมทนายต้องขอขอบคุณคณะตุลาการทุกท่านที่มีคำพิพากษาออกมายกฟ้อง อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ โดยให้เหตุผลที่เป็นประเด็นคือ นายกรัฐมนตรีถือเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการ การโยกย้าย ถวิล เป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการพลเรือน ม.57 ซึ่งสามารถทำได้ 

ส่วนการกระทำผิดทางอาญานั้นจะต้องอาศัยเจตนาเป็นสิ่งสำคัญในการพิจารณา ซึ่งตามพยานหลักฐานพบว่า ไม่มีเจตนาพิเศษที่จะกลั่นแกล้ง ถวิล รวมทั้งประเด็นคำพิพากษาของศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญที่มีการพิจารณาในเรื่องของการโอนย้ายดังกล่าวชอบหรือไม่เท่านั้น ส่วนศาลรัฐธรรมนูญเป็นคำสั่งให้พ้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีการกระทำผิดทางอาญา จึงไม่อาจนำคำพิพากษาของทั้ง 2 ศาลมาตัดสินว่าทำผิดทางอาญาได้ 

ด้าน วิญญัติ กล่าวเสริมว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญทางกฎหมาย ในการวินิจฉัยของศาลฎีกา กรณีทั้ง 2 ศาลที่กล่าวมานั้น ถือว่าเป็นคนละประเด็นที่จะนำมาทำให้ศาลรับฟังได้ว่า กระทำผิดทางอาญาหรือไม่ ซึ่งพยานบุคคลฝ่ายโจทก์ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนนั้นคือ เจ้าหน้าที่ข้าราชการประจำ อย่างน้อย 2 ปาก ซึ่งมีคำให้การว่า การโยกย้าย ถวิล นั้นเป็นปกติ แม้จะมีระยะเวลา 4 วัน แต่ไม่ได้มีพิรุธเร่งด่วน 

ส่วนที่มีการกล่าวหาว่า ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี เข้าแทรกแซงสั่งการนั้น ไม่มีพยานใดยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า นายกฯ เข้าไปแทรกแซงจริง ซึ่งสอดรับกับพยานฝ่ายจำเลยที่เรานำไปไต่สวน คือ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และกฤษณา สีหลักษณ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต่างยืนยันว่า เรื่องนี้นายกฯ ไม่ได้เป็นคนสั่งการ และการโยกย้าย ถวิล เกิดก่อนที่จะมีการโอนย้าย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มาเป็นเลขาธิการ สมช. ถึง 22 วัน จึงเห็นว่า ระยะเวลาห่างกัน ทำให้ไม่มีความเชื่อมโยงกัน 

สำหรับการถูกตั้งข้อครหาจนนำมาสู่การฟ้องร้องในดคดีคือ การเอื้อให้เครือญาติตัวเองได้เป็น ผบ.ตร. คือ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ศาลวินิจฉัยว่า ไม่มีหลักฐานใดเชื่อมโยงกัน การโยกย้าย ถวิล ไม่เกี่ยวข้องกับการที่คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) มีมติแต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ แต่อย่างใด จึงเป็นเรื่องที่ศาลมองว่า ไม่มีการกระทำ และไม่มีเจตนาพิเศษ

ขณะที่อัยการสูงสุดอาจจะมีการอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว นรวิชญ์ กล่าวว่า ต้องดูประเด็นก่อนว่าจะอุทธรณ์อย่างไร และการจะอุทธรณ์ได้ มติของที่ประชุมคณะตุลาการต้องพิจารณาว่า มีประเด็น หรือสาระสำคัญใดจะอุทธรณ์ได้ หากอุทธรณ์ไม่ได้จะถือว่า คำพิพากษานี้สิ้นสุดแล้ว และยิ่งลักษณ์ ไม่มีความผิด

ทั้งนี้ นรวิชญ์ ยังเปิดเผยอีกว่า เบื้องต้นยังไม่ได้มีการพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับ ยิ่งลักษณ์ แต่คงจะมีการรายงานผลให้ทราบ ส่วนการจะฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหายนั้นเป็นหน้าที่ของทีมทนายที่จะนำไปพิจารณาดูอีกที