ย้อนไปช่วงปลาย ส.ค. 2566 ที่ในขณะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะเป็น ‘รักษาการนายกฯ’ ได้ทำหน้าที่ ‘ประธาน ก.ตร.’ เรียกประชุม ก.ตร. เพื่อเคาะโผนายพลตำรวจ แต่สุดท้ายสั่งถอนวาระ แล้วโยนให้ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี คนใหม่พิจารณาแทน โดยอ้าง ‘หลักธรรมาภิบาล’ ขึ้นมา เพราะตัวเองไม่ได้มี ‘อำนาจเต็ม’ แล้ว
แต่เหตุผลลึกๆ คือ พล.อ.ประยุทธ์ ก็หวั่นในเรื่อง ‘คดีความ’ ที่อาจจะตามมา หากมีการไปร้อง ‘ศาลปกครอง’ หรือ ‘ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง’ จึงเริ่มมีการขยับภายใน สตช. จึงเท่ากับเป็น ‘จังหวะ’ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ชิ่งหนีโยน ‘เผือกร้อน’ พ้นตัว โดยมีเหตุผลที่ฟังขึ้นรองรับ
การขับเคี่ยวเก้าอี้ ผบ.ตร. ในเวลานี้คือระหว่าง พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. กับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ที่ต่างไม่มีใครยอมใคร
ยังไม่นับกระแสการเมืองภายในวงการสีกากี ‘ตำรวจ’ ตัด ‘ตำรวจ’ ที่มีปฏิบัติการค้นบ้านของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 25 ก.ย. 2566 จนถูกมองว่าอาจเป็นการสกัดเส้นทาง ผบ.ตร.ของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หรือไม่
ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวจะโยก พล.ต.อ.รอย ออก ตร. มาเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อถอยให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ขึ้นเป็น ผบ.ตร. โดยมีการให้เหตุผลว่า พล.ต.อ.รอย จบ ตท.24 จะได้มาทำงานกับ ‘เพื่อน ตท.24’ ที่ผงาดในกองทัพ ทั้ง พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ว่าที่ ผบ.ทหารสูงสุด พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ว่าที่ ผบ.ทอ. แต่ก็เกิด ‘คลื่นใต้น้ำ’ ภายใน ตร. ขึ้นมา ในการให้ยึดตามลำดับ ‘อาวุโส’ ที่จับต้องได้ชัดเจน และ ‘การเมือง’ จะมาแทรกแซงไม่ได้
ทั้งนี้ ‘กฎเหล็ก’ ที่ออกมาใหม่ คือ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 บังคับใช้แต่งตั้ง ผบ.ตร. เป็นครั้งแรก ได้แผลงฤทธิ์ โดยเฉพาะที่ หมวด 1 การจัดระเบียบราชการข้าราชการตำรวจ มาตรา 60 การจัดระเบียบข้าราชการตำรวจตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คำนึงถึงระบบคุณธรรม
(3) การพิจารณาความดีความชอบ การเลื่อนตำแหน่ง และการให้ประโยชน์อื่น แก่ข้าราชการตำรวจ ต้องเป็นไปอย่างเป็นธรรม โดยพิจารณาจาก อาวุโส ผลงาน ศักยภาพ และความประพฤติ ประกอบกัน และจะนำความคิดเห็นทางการเมือง หรือสังกัดพรรคการเมืองมาประกอบการพิจารณามิได้
ทำให้เกณฑ์การเลือก ผบ.ตร. เปลี่ยนไป จากเดิม ‘อาวุโส’ เทียบเป็น 33 % ความรู้-ความสามารถ 67 % แต่สำหรับเกณฑ์ใหม่ คือ ‘อาวุโส-ความรู้’ อย่างละ 50 %
โดยด้าน ‘ความรู้-ความสามารถ’ แบ่งเป็น ด้านสืบสวนสอบสวน , ป้องกันปราบปราม , บริหาร , อำนวยการ สนับสนุน , วิชาชีพเฉพาะ จากนั้นส่งชื่อให้ นายกฯ ในฐานะประธาน ก.ตร. พิจารณา แล้วนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป
หากเรียงตามลำดับ ‘อาวุโส’ ได้แก่ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ นายร้อยตำรวจรุ่น 40 เกษียณฯปี 2567
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตท.31 นายร้อยตำรวจรุ่น 47 เกษียณฯปี 2574
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ตท.25 นายร้อยตำรวจรุ่น 41 เกษียณฯปี 69
และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล จบคณะรัฐศาสตร์ มธ. เข้าอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมผู้มีวุฒิ ทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร (กอต.) รุ่นที่ 4 หรือที่เรียกว่า ‘นายร้อยอบรม’ รุ่นเดียวกับ ‘วัน อยู่บำรุง’ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เกษียณฯ ปี67
น่าสนใจว่า ‘เศรษฐา’ ประกาศชัดนั่ง ประธาน ก.ตร. เอง อีกทั้งควบ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ด้วย หลังพบว่าในการแบ่งงาน รองนายกฯ ‘เศรษฐา’ ไม่ได้มอบหน่วยงานความมั่นคงให้ใครเลย ทั้ง กระทรวงกลาโหม , สตช. , สำนักข่าวกรองแห่งชาติ , กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
ภายใน ‘ตึกแดง’ ที่ตั้ง สมช. ใน ทำเนียบฯ ก็ต่างจับตาโผนายพลตำรวจ เพราะหากไม่ลงตัว อาจสะเทือนมาถึง สมช. ในตำแหน่ง ‘เลขาธิการ สมช.’ เฉกเช่นในอดีตที่ ‘โผทหารนายพล’ ไม่ลงตัว ก็จะโยกมาเป็นเลขาฯ สมช. ในช่วงยุค คสช. - รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่ล้วนมีแต่ ‘พลเอกอกหัก’ มานั่ง เลขาฯ สมช.
ในรั้ว สมช. ก็หวังให้ ‘คนใน’ ได้เติบโตขึ้นเป็น เลขาฯ สมช. เพื่อจะได้ขยับแถวเป็นทอดๆ ซึ่งในเวลานี้ชื่อคนในเต็งหนึ่ง คือ ‘ฉัตรชัย บางชวด’ รองเลขาฯ สมช. คนที่ 1 แม้จะมีกระแสข่าวว่า พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการ สมช. ยืนยันจะเลือกคนในขึ้นมา แต่ก็ต้องดูว่าเป็นการ ‘พูดเชิงหลักการ’ หรือแค่ ‘เสนอตามระเบียบ’ หรือไม่ เพื่อให้ ครม. - นายกฯ พิจารณา
สำหรับนายตำรวจที่เป็น เลขาธิการ สมช. คนล่าสุด คือ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ที่เป็น ผบ.ตร. มาก่อน ในยุค รัฐบาล ลักษณ์ ชินวัตร ส่วนพลเรือนคนล่าสุด คือ ‘อนุสิษฐ์ คุณากร’ ในยุค คสช. ช่วงปี 2557-2558
ต้องจับตา ‘เศรษฐา’ นำประชุม ก.ตร. วันที่ 27 ก.ย.นี้ ที่ต้องฟันธงใครจะเป็น ผบ.ตร. คนที่ 14
แต่อาจเลื่อนเคาะโผนายพลตำรวจ ระดับ รอง ผบ.ตร. ไปจนถึงผู้บังคับการ ออกไปอีก 1 เดือน ไปจนถึง 31 ต.ค.นี้ ถือเป็นการ ‘ขอขยายเวลา’ แต่งตั้ง ครั้งที่ 2 จากเดิมที่วงประชุม ก.ตร. เมื่อ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้ขยายเวลาถึง 30 ก.ย. มาแล้ว ซึ่ง ‘เศรษฐา’ ได้ย้ำตั้งแต่การประชุม ‘ครม. นัดพิเศษ’ ว่าจะดูจาก ‘อาวุโส’ และ ‘ผลงาน’ เป็นหลัก เพื่อยึดหลัก ‘ความเป็นธรรม’ ไว้
ท่ามกลางเหตุ ‘คดีกำนันนก’ ที่มา ‘คั่นจังหวะ’ สะเทือนถึง ‘โผนายพลตำรวจ’ เพราะถูกมองเป็น ‘สงครามตัวแทน’ ในศึกชิง ผบ.ตร. ครั้งนี้ด้วย