บรูซ เดส์ลีย์ อดีตรองประธานทวิตเตอร์พื้นที่ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ระหว่างปี 2558 ถึง 2563 ออกมาระบุว่า เขารู้สึกเศร้าใจกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในทวิตเตอร์ และเขาจะถอนบัญชีออกจากแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ “โดยไม่ลังเล” หากมีตัวเลือกอื่นที่ดีกว่า
“ผมคิดว่าอีลอนคิดว่าเขาจะเข้ามาและแก้ปัญหาทุกอย่าง และเขาจะรีบแก้ไขอย่างรวดเร็ว (แต่) ว่ามันซับซ้อนกว่านั้นมาก” เดส์ลีย์พูดกับรายการพอดคาสต์ The News Agents ช่วงสุดสัปดาห์นี้ “เห็นได้ชัดจากการกระทำในทางสาธารณะ ทุกอย่างที่เขาดำเนินการกับการซื้อกิจการทั้งหมด (บ่งบอกว่า) เขาไม่รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่”
เดส์ลีย์ ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงสุดของทวิตเตอร์ในกรุงลอนดอน ยังวิพากษ์วิจารณ์แผนการของมัสก์ ที่จะเรียกเก็บเงินผู้ใช้ 8 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 300 บาท) ต่อเดือน สำหรับสัญลักษณ์การตรวจสอบยืนยัน “เครื่องหมายสีน้ำเงิน” เดส์ลีย์ระบุกับ The Observer ว่า มัสก์กำลังซื้อขาย “ความถูกต้องของแหล่งที่มาที่ได้รับตรวจสอบแล้ว” เพื่อ “เงินในกระเป๋า” เดส์ลีย์ย้ำว่า “ความจริงที่ว่าเราไม่มีทางขอความช่วยเหลือได้ นั่นถือเป็นการไม่เป็นประชาธิปไตย”
เดส์ลีย์ยังทวีตข้อความเพื่อสนับสนุนพนักงานทวิตเตอร์คนหนึ่ง ที่ถูกมัสก์ไล่ออกเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (4 พ.ย.) ท่ามกลางการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก ซึ่งพนักงานที่โดนไล่ออกผู้นี้ ได้เคยทำหน้าที่ “ช่วยต่อสู้กับทวีตที่ไม่เหมาะสม ต่อบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่มีชื่อเสียง” เดส์ลีย์ระบุอีกว่า “ในอีก 4 สัปดาห์ เมื่อมีทวีตเหยียดผิวจากการแข่งขันฟุตบอลโลกบนหน้าแรก จำไว้ว่ามัสก์เลือกที่จะปล่อยให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น”
การวิพากษ์วิจารณ์ที่รุนแรงเกิดขึ้น หลังจากที่มัสก์เริ่มดำเนินการเปลี่ยนแปลงบนทวิตเตอร์ ซึ่งได้สร้างความกังวลเกี่ยวกับแนวทางของเจ้าของทวิตเตอร์คนใหม่ ต่อเรื่องข้อมูลที่ได้รับการบิดเบือน และคำพูดที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (4 พ.ย.) มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของเทสลา ซึ่งเข้าซื้อทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา ด้วยเงิน 4.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.54 ล้านล้านบาท) สั่งเลิกจ้างพนักงานทวิตเตอร์ราว 50% โดยมัสก์อ้างว่าตน “ไม่มีทางเลือก” เนื่องจากบริษัทสูญเสียรายได้มากกว่า 4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 149 ล้านบาท) ต่อวัน ยังมีรายงานอีกว่า มัสก์สั่งเลิกจ้างพนักงานที่ดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน จริยธรรม และการจัดการดูแล รวมถึงพนักงานด้านการกลั่นกรองเนื้อหา แม้ว่า โยเอล รอธ หัวหน้าฝ่ายความปลอดภัยของทวิตเตอร์ จะอ้างว่า “ความสามารถในการกลั่นกรองเนื้อหาหลักๆ” ของแพลตฟอร์มยังคงมีอยู่
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (5 พ.ย.) แจ็ค ดอร์ซีย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตผู้บริหารระดับสูงของทวิตเตอร์ ระบุว่าการไล่คนจำนวนมากมีความจำเป็น เพราะเขาขยายธุรกิจเร็วเกินไป “ผมมีส่วนรับผิดชอบว่า ทำไมทุกคนถึงตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ ผมสร้างการเติบโตของบริษัทที่เร็วเกินไป ผมขอโทษสำหรับสิ่งนั้น” ดอร์ซีย์ซึ่งลาออกจากบอร์ดบริหารของทวิตเตอร์ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาระบุ ทั้งนี้ เขาสนับสนุนการเข้าครอบครองทวิตเตอ์ของมัสก์ด้วย
ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการปลดพนักงานจำนวนมาก โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เรียกร้องมัสก์และวิพากษ์วิจารณ์ข้อมูลที่ถูกบิดเบือนบนทวิตเตอร์ โดยไบเดนกล่าวในการหาเสียงเลือกตั้งกลางเทอมในชิคาโกว่า มัสก์ซื้อกิจการของแพลตฟอร์มที่ “แพร่เรื่องโกหกให้ระบาดไปทั่วโลก” โดยก่อนหน้านี้ มัสก์ได้กล่าวว่า เขาจะเปิดนโยบายที่เสรีบนทวิตเตอร์ในนามของเสรีภาพทางคำพูด คำพูดดังกล่าวของมัสก์บ่งชี้ว่าเขาจะอนุญาตให้บัญชีที่ถูกแบนก่อนหน้านี้ กลับมาเปิดใช้งานได้อีกครั้ง แต่มัสก์ได้เน้นย้ำว่า “ความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า” ของทวิตเตอร์ ในการกลั่นกรองเนื้อหายังคง “ไม่เปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน”
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มัสก์ประกาศการจัดตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเนื้อหา โดยจะมีการรวบรวม “มุมมองที่หลากหลายอย่างกว้างขวาง” อย่างไรก็ดี มัสก์กล่าวว่าทวิตเตอร์จะไม่มีการตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับการกลั่นกรองเนื้อหา หรือการคืนสถานะบัญชีจนกว่าจะมีการประชุมของคณะกรรมการดังกล่าว แต่ถึงอย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าทวิตเตอร์ภายใต้มัสก์ จะทำให้ผู้ซื้อโฆษณาบางรายหวั่นวิตก เนื่องจากมีรายงานว่าผู้ซื้อโฆษณาหลายรายหยุดใช้ค่าโฆษณาชั่วคราว และมีผู้ซื้อโฆษณารายอื่นๆ กำลังพิจารณาจุดยืนของตนในเรื่องดังกล่าว
เจเนรัลมิลล์ส บริษัทเจ้าของซีเรียล เชียริออส และ ลัคกี้ชาร์มส์ เป็นบริษัทล่าสุดที่หยุดโฆษณาบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (27 ต.ค.) โดยโฆษกของเจเนรัลมิลล์สกล่าวว่า บริษัทจะ “ติดตามดู” ทิศทางใหม่ของทวิตเตอร์ต่อไป นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอย่างไฟเซอร์ มอนเดเลซ เจเนอรัลมอเตอร์ส และโฟล์คสวาเกน ที่มีรายงานหยุดการจ่ายค่าโฆษณาบนทวิตเตอร์ชั่วคราวด้วย
ในทวีตเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มัสก์อ้างว่าทวิตเตอร์มี “รายได้ลดลงอย่างมาก” โดยมัสก์อ้างว่าเป็นความผิดของ “กลุ่มนักเคลื่อนไหว” ที่เข้าไปกดดันผู้ซื้อโฆษณา “วุ่นวายมาก! พวกเขากำลังพยายามทำลายเสรีภาพทางคำพูดของอเมริกา” มัสก์ทวีตข้อความบนบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ของตน ซึ่งมีผู้ติดตามอยู่ 114 ล้านคน มัสก์ยังออกมาขู่อีกว่า เขาจะเผยแพร่ชื่อของผู้ซื้อโฆษณาที่หยุดการจ่ายเงินชั่วคราวว่า “รายชื่ออันแสนสาหัสและน่าละอาย คือ สิ่งที่จะเกิดขึ้นหากสิ่งนี้ยังคงดำเนินต่อไป”
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา Stop Toxic Twitter ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรรวมถึง NAACP ได้ออกมาเรียกร้องให้ผู้ซื้อโฆษณารายใหญ่ 20 รายของแพลตฟอร์มทวิตเตอร์กดดันมัสก์ว่า พวกเขาจะระงับการโฆษณา หากมัสก์ทำตามแผนการที่จะ “บ่อนทำลายมาตรฐานชุมชนของโซเชียลเน็ตเวิร์กและการกลั่นกรองเนื้อหา”
สเตฟาน ลอร์ค จากสหพันธ์ผู้ลงโฆษณาโลกกล่าวว่า แบรนด์จำนวนมากกำลังพิจารณาข้อเรียกร้องของพวกตน แต่จะตัดสินทวิตเตอร์ด้วย “ข้อเท็จจริงและการกระทำ” มากกว่าการเก็งกำไร “เรากำลังรับฟังเจ้าของทวิตเตอร์ว่า พวกเขายังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาจนถึงตอนนี้ เราจะร่วมมือกับทวิตเตอร์บนพื้นฐานนั้น และเราจะตัดสินพวกเขาจากการกระทำ” ลอร์คกล่าวกับ The Observer ก่อนกล่าวเสริมว่า แบรนด์ต่างๆ ได้เรียนรู้ “การควบคุมเนื้อหาที่ปรากฏข้างๆ ว่ามีความสำคัญเพียงใด เพราะผู้คนจะเชื่อมโยงแบรนด์กับเนื้อหา”
ผู้ใช้ทวิตเตอร์บางรายยังขู่ว่าตนจะออกจากแพลตฟอร์มด้วย ซึ่งมีตัวเลขที่ The Observer ได้รับมาและบ่งชี้ว่า การลงชื่อสมัครเข้าใช้แพลตฟอร์มทางเลือกอื่น นอกเหนือจากทวิตตอร์มีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น มาสโตดอน ซึ่งเป็นเครือข่ายโซเชียลมีเดียที่มีการกระจายอำนาจ มาสโตดอนยังถูกขนานนามว่าเป็นแพลตฟอร์มทางเลือกแทนทวิตเตอร์อีกด้วย
ที่มา: