ไม่พบผลการค้นหา
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำความร่วมมือด้านสาธารณสุข การพัฒนาอย่างยั่งยืน และสิ่งแวดล้อม ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-นิวซีแลนด์

ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-นิวซีแลนด์ ในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ฯ 45 ปี ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำและผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 10 ประเทศ และ จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ เข้าร่วมด้วย ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปผลการประชุมดังนี้ 

เหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมว่าเป็นการหารือกำหนดแนวทางในการพัฒนาและความร่วมมือในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคู่เจรจาที่เก่าแก่ที่สุดของอาเซียน ในโอกาสครบรอบ 45 ปีของความสัมพันธ์ พร้อมหารือกับที่ประชุมฯ เรื่องความร่วมมือในมิติต่าง ๆ อาทิ ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ด้านนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์เน้นย้ำความร่วมมือกับอาเซียน ในฐานะกลุ่มมิตรประเทศที่มีความร่วมมือมายาวนานกว่า 45 ปี และกล่าวถึงการเชื่อมโยงความร่วมมือและเศรษฐกิจนับตั้งแต่อาเซียนและนิวซีแลนด์เป็นหุ้นส่วนกันมา นิวซีแลนด์สนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนในภูมิภาค พร้อมเน้นย้ำว่ามิตรภาพกับอาเซียนเป็นสิ่งสำคัญในการรับมือความท้าทายต่าง ๆ 

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีกับนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ที่ได้รับเลือกตั้งอีกวาระหนึ่ง เชื่อมั่นว่านิวซีแลนด์และอาเซียนจะดำเนินความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นและยั่งยืนต่อไป โดยนิวซีแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศคู่เจรจาที่เก่าแก่ที่สุดของอาเซียน และประสบความสำเร็จในการดำเนินความร่วมมือด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ในระดับประชาชน และความร่วมมือเพื่อการพัฒนา มาอย่างดีตลอด 45 ปี และแม้ปัจจุบันหลายประเทศกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด–19 แต่ไทยเชื่อมั่นว่าอาเซียนและนิวซีแลนด์จะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน ผ่านความร่วมมือในกรอบสาธารณสุขและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งในภาครัฐบาล ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม รวมทั้งจะสามารถร่วมกันฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ประโยชน์จากกองทุนอาเซียน และกลไกอื่น ๆ ที่อาเซียนและนิวซีแลนด์มีบทบาทนำ

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ยืดหยุ่น และยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติต่าง ๆ อาทิ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการศึกษา ซึ่งนิวซีแลนด์มีความเชี่ยวชาญ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการรับมือกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และเชิญชวนนิวซีแลนด์ร่วมดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนผ่านศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จัดตั้งขึ้นในไทยเมื่อปีที่แล้ว 

ทั้งนี้ ไทยสนับสนุนแนวคิดของชนเผ่าเมารีเรื่อง “ไคติอากิทังก้า” ซึ่งให้ความสำคัญกับการดูแลประชาชนและสิ่งแวดล้อมเพื่ออนุชนรุ่นหลัง ตามที่นิวซีแลนด์ได้เสนอในวิสัยทัศน์ร่วมของผู้นำฯ ไทยเสนอให้ที่ประชุมฯ สร้างศักยภาพของภูมิภาคให้สอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าว เช่น การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรวมถึงการดำเนินการตามความตกลงปารีส การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน การกำจัดขยะพลาสติกทางทะเล การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน การอนุรักษ์ป่าไม้ และความหลากหลายทางชีวภาพ

242615BD-006C-4606-8DD3-C433835ED049.jpeg

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ได้ย้ำว่าจะส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนร่วมกัน ซึ่งเป็นสาขาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เช่นเดียวกับสาขาอื่นๆ จึงให้ความสำคัญกับการแจกจ่ายวัคซีน การเข้าถึงการป้องกัน และรักษา โดยขอให้ประเทศต่างๆ ทำงานร่วมกัน เพื่อต่อสู้รับมือกับโควิด-19 นิวซีแลนด์ได้บริจาคเงินเพื่อเข้ากองทุนการพัฒนาวัคซีนและการรักษา การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 โดยจะใช้กลไกห่วงโซ่อุปทานเป็นการขับเคลื่อนการฟื้นฟูสำคัญ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ ต้องปรับให้ทันสมัย เช่น ข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เป้าหมายการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นับเป็นเรื่องสำคัญ ละทิ้งไม่ได้ สนับสนุนการเสริมสร้างสถาปัตยกรรมภูมิภาค เช่น กรอบ EAS ขอบคุณไทยที่ให้ความสำคัญกับ “ไคติอากิทังก้า” ซึ่งเป็นข้อคิดเห็นให้ความสำคัญกับประชาชน


ไทยหนุนการค้า-การลงทุนระหว่างสมาชิกอาเซียนบวกสาม

ต่อมาเมื่อเวลา 15.15 น. นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสามกับสภาธุรกิจเอเชียตะวันออก (the East Asia Business Council: EABC) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำ และผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน 10 + 3 และผู้แทนสภาธุรกิจเอเชียตะวันออกของญี่ปุ่น ไทย และจีน ได้แก่ Nobuhiko Sasaki ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ไพรัช บูรพชัยศรี รองประธานกรรมการหอการค้าไทย Zhang Shaogang รองประธานคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เข้าร่วมด้วย

เหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนามกล่าวว่าเป็นการประชุม เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับสภาธุรกิจเอเชียตะวันออก ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุน ซึ่งรวมถึงสถานการณ์และผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ร่วมกับผู้นำภาคเอกชนของอาเซียนบวกสาม

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณสภาธุรกิจเอเชียตะวันออกที่ได้สนับสนุน ผลักดัน และช่วยสร้างความเชื่อมโยงของเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนบวกสามให้ดำเนินไปอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด–19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และระบบเศรษฐกิจการค้า รัฐบาลไทยเห็นถึงความจำเป็นของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจซึ่งได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรง ในการช่วยจัดการและแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 ให้ครอบคลุมทุกมิติและมีประสิทธิภาพ 

S__40820826.jpg

ทั้งนี้ ผลสำรวจของสภาธุรกิจเอเชียตะวันออกเกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจและยุทธศาสตร์ดิจิทัลสู่ความปกติใหม่ชี้ให้เห็นว่า ภาคธุรกิจกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อปรับตัวเข้าสู่การดำเนินธุรกิจในยุค New Normal ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับภาครัฐเพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการค้าดิจิทัลให้สอดรับกับกระแสการค้าโลกยุคใหม่

สำหรับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของ MSMEs นั้น ไทยขอชื่นชมที่สภาธุรกิจเอเชียตะวันออกที่ได้เผยแพร่ e-Book เรื่อง พิธีการศุลกากรของเอเชียตะวันออก และอยู่ระหว่างจัดทำ e-Book เรื่อง แนวทางการลงทุนในเอเชียตะวันออก โดยข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้ MSMEs สามารถดำเนินธุรกิจภายในภูมิภาคอาเซียนบวกสามได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น และทำให้ขยายปริมาณการค้าและการลงทุนระหว่างกันภายในภูมิภาคมากขึ้น

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีรับทราบข้อเสนอแนะของสภาธุรกิจเอเชียตะวันออกที่เสนอให้ความตกลงสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม ครอบคลุมการสำรองสินค้าเกษตรอื่นๆ นอกเหนือจากข้าว โดยเห็นว่าสภาธุรกิจเอเชียตะวันออกควรหารือกับรัฐมนตรีอาเซียนบวกสามด้านการเกษตรและป่าไม้เกี่ยวกับข้อเสนอดังกล่าวต่อไป นอกจากนี้ ไทยพร้อมที่สนับสนุน และส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชนในการอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุนระหว่างกัน รวมถึงเสริมสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคให้เข้มแข็ง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

AAA_9760_resize.jpg


ไทยมุ่งมั่นสานต่อความยั่งยืนในภูมิภาค

และเมื่อเวลา 18.00-20.00 น. นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS) ครั้งที่ 15 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำและผู้แทนประเทศที่เข้าร่วมจำนวน 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ยังมีเลขาธิการสหประชาชาติ ประธานกลุ่มธนาคารโลก และเลขาธิการอาเซียน

เหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมว่าเป็นการกำหนดทิศทางและทบทวนความร่วมมือร่วมกัน รวมถึงบทบาทของ EAS ในการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อหาแนวทางการตอบสนองและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น 

เลขาธิการสหประชาชาติ ยินดีที่ทุกประเทศให้ความสำคัญกับการจัดการเรื่องโควิด-19 และมีการรับมือที่ดี แต่โควิด-19 ส่งผลกระทบกับในวงกว้างหลายมิติ ทุกประประเทศจึงต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่น การพัฒนาวัคซีนให้ทุกคนเข้าถึงได้ นอกจากนี้ UN ได้สนับสนุนเงินทุนเพื่อการพัฒนา เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั่วโลก นอกจากนี้ ปัญหาที่ต้องเผชิญร่วมกัน ยังมีอีกหลายประเด็น เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดความเหลื่อมล้ำและช่องว่างการพัฒนา 

ประธานกลุ่มธนาคารโลก ยินดีที่ได้ร่วมมือกับทุกประเทศในการรับมือโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจถดถอย และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงถึงกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ ยังมีภัยคุกคามรวมถึงความท้าทายด้านความมั่นคงที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ธนาคารโลกได้จัดสรรเงิน ช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี สนับสนุนการรับมือโควิด-19 ยินดีที่ประเทศ G20 มีนโยบายให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารการจัดการภาระหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งธนาคารโลกพยายามอย่างสูงที่จะลดภาระให้กับประเทศเหล่านี้ ทั้งนี้ ประธานกลุ่มธนาคารโลกเชื่อมั่นว่าประเทศกลุ่ม EAS จะเป็นภูมิภาคแรกที่หลุดพ้นจากโควิด-19 ท่ามกลางความท้าทายธนาคารโลกยังคงเชื่อว่าทุกประเทศจะรับมือ และสู้กับโควิด-19 ไปด้วยกันได้ 

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ 15 ปีของ EAS โดยที่ผ่านมา ทั้ง 18 ประเทศ ได้ใช้กลไกของ EAS ในการหารือประเด็นสำคัญทางยุทธศาสตร์ โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการเสริมสร้างสันติภาพที่ถาวร และความเจริญเติบโตที่ยั่งยืนของภูมิภาค ทั้งนี้ EAS มีความสำคัญในฐานะที่เป็นกลไกหลักในการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันและสร้างความสมดุลเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาค โดยให้ความสำคัญกับระบบพหุภาคีนิยมและภูมิภาคนิยมในการแสวงหาจุดร่วมและสงวนจุดต่าง ในขณะเดียวกัน ยังคงสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาค 

โดยเมื่อปีที่ผ่านมา ไทยในฐานะประธานอาเซียนได้เน้นย้ำหลักการของการดำเนินความสัมพันธ์กับภาคีภายนอกภูมิภาคผ่านเอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (AOIP) โดยได้ระบุสาขาความร่วมมือที่ทุกประเทศสามารถได้รับประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ อาเซียนขอเชิญชวนให้ประเทศต่าง ๆ ขยายความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การรักษาสภาพแวดล้อมทางทะเล และการสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยไทยพร้อมที่จะมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการเสริมสร้างความร่วมมือดังกล่าว เพื่อลดความขัดแย้ง และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสันติภาพ เสถียรภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความยั่งยืนในภูมิภาค

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในฐานะผู้ประสานงานอาเซียนด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ไทยมุ่งมั่นที่จะสานต่อการเสริมสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ โดยจะมุ่งสานต่อการส่งเสริมความเกื้อกูลระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025 กับวาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ค.ศ. 2030 รวมทั้งการนำถ้อยแถลงของผู้นำ EAS ว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน มาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม 

ในบริบทของโควิด-19 นายกรัฐมนตรีเสนอให้จัดลำดับความสำคัญของความร่วมมือ โดยมุ่งเน้นประเด็นสำคัญเร่งด่วน ได้แก่ ความมั่นคงด้านสาธารณสุข ความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยใช้ประโยชน์จากกลไกและศูนย์ต่าง ๆ ตลอดจนผลักดันการพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัลและสร้างมาตรฐานด้านดิจิทัลร่วมกันเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างครบวงจร รวมถึงการเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยใช้ประโยชน์จากศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น

S__40828934.jpg