ไม่พบผลการค้นหา
จากผลการศึกษาขนาดใหญ่ จำนวนผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปีทั่วโลก ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นมะเร็ง มีอัตราเพิ่มขึ้นเกือบ 80% ในรอบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ผลการวิจัยเผยว่ามีการพบกรณีผู้ป่วยมะเร็ง ที่เริ่มมีอาการในระยะเริ่มแรกทั่วโลก เพิ่มขึ้นจาก 1.82 ล้านรายในปี 2533 เป็น 3.26 ล้านรายในปี 2562 ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในผู้ใหญ่วัย 40 ปี 30 ปี หรือน้อยกว่านั้น มีเพิ่มขึ้น 27% โดยปัจจุบันนี้ มีผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปีกว่าล้านคนที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น เพื่อการทำความเข้าใจถึงสาเหตุเบื้องหลัง ของการเพิ่มขึ้นในจำนวนผู้ป่วยมะเร็ง ทั้งนี้ นักวิจัยผู้เขียนงานวิจัยชิ้นนี้ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร BMJ Oncology กล่าวว่า การรับประทานอาหารที่ไม่ดี การใช้แอลกอฮอล์และยาสูบ การไม่ออกกำลังกาย และโรคอ้วน น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดการป่วยเป็นมะเร็ง

“ตั้งแต่ปี 2533 อุบัติการณ์และการเสียชีวิตของโรคมะเร็งในระยะเริ่มแรกได้เพิ่มขึ้นอย่างมากทั่วโลก” รายงานระบุ “การส่งเสริมวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดี รวมถึงการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ การจำกัดการบริโภคยาสูบและแอลกอฮอล์ และการมีกิจกรรมกลางแจ้งที่เหมาะสม สามารถลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งในระยะเริ่มแรกได้”

จากการศึกษาก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็นว่า อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งในผู้ใหญ่ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี ได้เพิ่มขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยจากการศึกษาล่าสุด ซึ่งทำโดยมหาวิทยาลัยเอดินบะระในสกอตแลนด์ และคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเจ้อเจียงในเมืองหางโจว ประเทศจีน นับเป็นการศึกษาวิจัยชิ้นแรกในหัวข้ออัตราการป่วยมะเร็งที่ศึกษาปัญหานี้ในระดับโลก และปัจจัยเสี่ยงสำหรับผู้ใหญ่ที่อายุน้อย

จากงานศึกษาส่วนใหญ่ก่อนหน้านี้ มุ่งเน้นไปที่ความแตกต่างของอัตราการป่วยมะเร็งในระดับภูมิภาคและระดับชาติ โดยในการศึกษาระดับโลกนี้ นักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลจาก 204 ประเทศ ครอบคลุมโรคมะเร็ง 29 ชนิด ผ่านการศึกษาในผู้ป่วยรายใหม่ การเสียชีวิต ผลกระทบด้านสุขภาพ และปัจจัยเสี่ยงที่เอื้อต่อผู้ที่มีอายุ 14 ถึง 49 ปี เพื่อประเมินความเปลี่ยนแปลงระหว่างปี 2533 ถึง 2562

ในปี 2562 มีการวินิจฉัยผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ในคนอายุต่ำกว่า 50 ปี ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 3.26 ล้านคน เพิ่มขึ้น 79% จากปี 2533 โดยโรคมะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุที่เกี่ยวข้อง กับจำนวนผู้ป่วยและการเสียชีวิตมากที่สุด ซึ่งคิดเป็นอัตรา 13.7 และ 3.5 ต่อประชากร 100,000 คนทั่วโลกตามลำดับ

ในกรณีของผู้ป่วยโรคมะเร็งหลอดลม และโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ที่เริ่มมีอาการในระยะเริ่มแรก มีอัตราที่เพิ่มขึ้นเร็วที่สุดระหว่างปี 2533 ถึง 2562 โดยอัตราดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงร้อยละโดยประมาณต่อปีที่ 2.28% และ 2.23% ตามลำดับ ในอีกด้านหนึ่ง กรณีของผู้ป่วยโรคมะเร็งตับที่เริ่มมีอาการในระยะแรก มีอัตราลดลงประมาณ 2.88% ต่อปี

ในปี 2562 มีผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปีเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งรวม 1.06 ล้านคน เพิ่มขึ้น 27% จากปี 2533 เรียงตามลำดับด้วยโรคมะเร็งเต้านม ที่มียอดผู้เสียชีวิตสูงสุด โรคมะเร็งหลอดลม โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร และโรคมะเร็งลำไส้ ทั้งนี้ อัตราการเสียชีวิตที่มีเพิ่มขึ้นมากที่สุด เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งไตหรือโรคมะเร็งรังไข่

อัตราการอุบัติของโรคมะเร็งในระยะเริ่มแรกสูงสุดในปี 2562 มีอยู่ในอเมริกาเหนือ โอเชียเนีย และยุโรปตะวันตก นอกจากนี้ ประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน และอัตราการเสียชีวิตสูงสุดจากโรคมะเร็งในกลุ่มผู้มีอายุต่ำกว่า 50 ปี มีอยู่ในโอเชียเนีย ยุโรปตะวันออก และเอเชียกลาง อย่างไรก็ดี ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง การอุบัติของโรคมะเร็งที่เริ่มมีอาการในระยะเริ่มแรก ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ในแง่ของสุขภาพที่ไม่ดีและการเสียชีวิต

จากแนวโน้มที่สังเกตได้ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา นักวิจัยคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ป่วยมะเร็งระยะเริ่มแรก และการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องรายใหม่ทั่วโลก จะมีเพิ่มขึ้นอีก 31% และ 21% ตามลำดับภายในปี 2573 โดยผู้ที่มีอายุ 40 ปีจะมีความเสี่ยงมากที่สุด 

นอกจากนี้ นักวิจัยยังกล่าวอีกว่า ปัจจัยทางพันธุกรรมมีแนวโน้มที่จะมีบทบาทสำคัญในการเกิดโรคมะเร็ง แต่การบริโภคอาหารเนื้อแดงและการใส่เกลือสูง การบริโภคผลไม้และนมในปริมาณน้อย ตลอดจนการใช้แอลกอฮอล์และยาสูบ ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งที่พบบ่อยที่สุด ทั้งนี้ ข้อมูลบ่งชี้ว่าในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี เสี่ยงต่อการป่วยโรคมะเร็งจากการไม่ออกกำลังกาย การมีน้ำหนักเกิน และปัจจัยของการมีน้ำตาลในเลือดสูง


ที่มา:

https://www.theguardian.com/society/2023/sep/05/cancer-cases-in-under-50s-worldwide-up-nearly-80-in-three-decades-study-finds?CMP=Share_AndroidApp_Other&fbclid=IwAR01RahMSE2XLn2GvCCAvKQ3YUoxy-4FPJXkf0rddlKmrfV-lhPwWsBflYQ