อัตราเงินเฟ้อของตุรกีพุ่งแตะตัวเลข 78.6% ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เป็นอัตราที่เทียบระหว่างเดือน มิ.ย. 2565 และ มิ.ย. 2564 ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สุดที่สุดในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ และเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในโลกในปัจจุบัน
สาเหตุหลักของเงินเฟ้อที่เข้าขั้นวิกฤตมาจากราคาของอาหาร เครื่องดื่ม และค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถาบันสถิติตุรกีระบุว่า ราคาอาหารปรับเพิ่มขึ้นราว 2 เท่าในระยะเวลาเพียง 1 ปี ขณะที่ค่าเดินทางปรับสูงขึ้นกว่า 123%
CNN รายงานว่าสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นควบคู่ไปกันค่าเงินลีราของตุรกีที่อ่อนค่าลงมากถึง 20% เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และแทนที่รัฐบาลจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย’ เพื่อคุมเงินเฟ้อสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปในทางตรงกันข้าม
เรเซป ทายยิป เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกีกลับออกคำสั่ง ‘ลดอัตราดอกเบี้ย’ แทนเมื่อเดือน ก.ย.2564 และในเดือน ธ.ค.เขาเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 14% พร้อมเดินหน้าปกป้องนโยบายการเงินของตนโดยชี้ว่า “การลดอัตราดอกเบี้ยจะทำให้เงินเฟ้อลดลง เพิ่มการผลิตและผลักดันการส่งออก”
แน่นอนว่ามาตรการดังกล่าวสวนกระแสหลักการทางเศรษฐกิจจนทั่วโลกต้องตกอยู่ในความมึนงง เพราะธนาคารกลางของนานาชาติพยายามเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงของการกู้เงินและอัตราเงินเฟ้อ
หลังการดำเนินนโยบายดังกล่าวของผู้นำตุรกี ราคาสินค้าในประเทศก็พุ่งทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง บดขยี้ค่าเงินลีรา กระทบอุตสาหกรรมนำเข้าอย่างหนัก และซ้ำเติมเศรษฐกิจที่บอบช้ำ ซึ่งเขายังคงยืนยันชัดเจนว่า วิกฤตเศรษฐกิจตุรกี ‘มีสาเหตุมาจากการแทรกแซงจากต่างชาติ’
มากไปกว่านั้น เออร์โดกันได้ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่ารัฐบาลจะ ‘ขึ้นค่าแรงอีก 30%’ เริ่มต้นในเดือน ก.ค. เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการรับมือกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามนี่คือการเพิ่มค่าแรงหลังจากการเพิ่มครั้งล่าสุดที่ 50% ไปเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา แต่นักวิเคราะห์กลับมองว่ามาตรการนี้จะทำให้ทุกอย่างแย่ลง