ไม่พบผลการค้นหา
'พิธา' เปิดแผนทำงาน 'ก้าวไกล' ตลอดปี 67 เร่งผลักดันกฎหมายเข้าสภา พัฒนาการเมือง เล็งเปิดซักฟอกรัฐบาล เม.ย. เผยมี KPI วัดผล สส.-ประธาน กมธ.

วันที่ 26 ม.ค. ที่อาคารรัฐสภา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงแผนการทำงานหรือ โรดแมปของพรรคก้าวไกล ปี 2567 ว่า การนำเสนอแผนการทำงานมี 3 วาระ ดังนี้

วาระที่หนึ่ง เป้าหมายในการดำเนินการหรือยุทธศาสตร์ที่มี 6 บิ๊กแบง 

1. การทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ เช่น การปฏิรูปกองทัพ ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ รัฐธรรมนูญใหม่ 

2. ยกระดับคุณภาพชีวิต ทั้งระบบขนส่ง ค่าใช้จ่าย สวัสดิการ สิ่งแวดล้อม และสาธารณสุข 

3. หยุดแช่แข็งชนบทไทย การลดต้นทุนการเกษตร การเพิ่มเครื่องจักรในการผลิต การเพิ่มแหล่งน้ำ และการแปลง ส.ป.ก. เป็นโฉนด รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร 

4. ปฏิรูปรัฐครั้งใหญ่ในการจัดทำงบประมาณ การกระจายอำนาจ ปราบโกง 

5. พัฒนาการเรียนรู้ให้ทันโลก ต้องมีหลักสูตรในการเรียนใหม่ ลดภาระครู และตัดอำนาจนิยม 

และ 6. การเติบโตอย่างมีคุณภาพในการสร้างงาน ลดทุนท้องถิ่น สนับสนุน SMEs ท่องเที่ยวคุณภาพ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมใหม่

พิธา กล่าวอีกว่า อาจจะดูไม่เหมือนนโยบายใหม่เพราะทุกคนได้เห็น 300 นโยบายของพรรคก้าวไกลไปแล้ว อีกทั้งนโยบายต้องเห็นว่ามีเป้าหมายและเรียงลำดับความสำคัญ รวมทั้งมุมมองของพรรคก้าวไกลที่จะทำในปีนี้

วาระสอง วิธีการทำงานของพรรคก้าวไกล มีปัจจัยความสำเร็จในการนำไปปฏิบัติจริง เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้วิสัยทัศน์เป็นความจริงจะต้องมีองค์ประกอบในเรื่องของกฎหมาย ในแง่ของแผนปฏิบัติการ งบประมาณ และบุคลากร

วาระสาม คือในส่วนของกฎหมายพรรคก้าวไกล ต้องการผลักดันกฎหมาย 47 ฉบับ แบ่งเป็นสองก้อน ก้อนที่อยู่ในวาระการประชุมสภา 21 ฉบับ และอีก 26 ฉบับยังไม่เข้า ยืนยันว่า พ.ร.บ.เรือธง ของพรรคก้าวไกล คือ สมรสเท่าเทียม สุราก้าวหน้า อากาศสะอาด ส.ป.ก. สำหรับเรื่องงบประมาณ จะต้องมีการปรับเพื่อให้วาระของพรรคไม่มีข้อติดขัดในเรื่องงบประมาณ ปฏิรูปอำนาจเงิน ให้มีความโปร่งใสประชาชนมีส่วนร่วม อนุมัติตามหลักประชาชนได้ประโยชน์ 

และสุดท้ายคือการเตรียมทีมงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์รอรับเนื้อหางานที่ตามมา เช่น ทีมก้าวกรีน ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ก้าว Geek ดูแลเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล ก้าวเมือง ดูแลเรื่องผังเมือง และก้าวเกษตรดูแลเกี่ยวกับเรื่องเกษตร และอาจจะมีเรื่องเกี่ยวกับ ก้าววัฒนธรรมและก้าวการศึกษาโดยไม่ใช่บุคลากรของพรรคก้าวไกลเพียงอย่างเดียวเพราะจะมีทั้งอาสาสมัครข้าราชการ ภาครัฐ เอกชนและองค์การนอกภาครัฐและองค์กรระหว่างประเทศ เข้าร่วมด้วย ที่จะมีการกระจายไปอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อทำงานร่วมกัน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่จะทำให้เป้าหมายการทำงานของพรรคเกิดขึ้นได้จริง

ขณะที่หมุดหมายสำคัญในการทำงานในปีหน้าแบ่งออกเป็น 2 ช่วงด้วยกัน คือการทำงานในสภาฯ และทำงานในพรรคก้าวไกล โดยในเดือนกุมภาพันธ์นี้ภายในพรรคจะมีการพัฒนาทบทวนตัวชี้วัดของประธานกรรมาธิการและ สส. โดยทุกคนจะต้องมี KPI เพื่อทำการชี้วัดผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนเดือนเมษายนจะมีการอภิปรายทั่วไปหรืออภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่เชื่อว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมของการทำงานของรัฐบาล และจะมีการประชุมใหญ่สามัญของพรรคก้าวไกล ที่ทำงานครบวาระ 4 ปี ที่จะมีการทบทวนแกนนำการทำงานของพรรคใหม่

ส่วนในเดือนพฤษภาคมจะมี Policy Festival และเดือนมิถุนายน -สิงหาคม จะมีการอภิปรายงบประมาณในปี 2568 ส่วนปลายปี 2567 จะมีการเตรียมการเลือกตั้งนายก อบจ. ซึ่งเป็นการกำหนดหลักไมล์ (mile stones) และจะมีการวัดผลเป็นระยะต่อไป

“การจะเป็นพรรคการเมือง ต้องมีแผนดำเนินการให้ชัดเจน ต่างพรรคก็จะมีแนวคิดที่ต่างกัน เราจะต้องนำมารวมกันทั้งพรรคไทยสร้างไทย ประชาธิปัตย์ และพรรคเป็นธรรม รวมถึงพรรคร่วมฝ่ายค้านที่จะรวมตัว แจกจ่ายงานตามความเหมาะสม ซึ่งจะต้องรอฟังจากพรรคอื่นว่ามีแผนงานประจำปีอย่างไร” พิธา ระบุ


โต้คำวิจารณ์ 'ก้าวไกล' ไม่แตะปม 'ทักษิณ'

พิธา กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าการตรวจสอบของพรรคก้าวไกลค่อนข้างอ่อนแอลง หลังจากที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล โดยเฉพาะการตรวจสอบเรื่องของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตรัฐมนตรี 

โดย พิธา ตอบว่า ไม่เป็นความจริง เรายังทำงานอย่างตรงไปตรงมา ชัยธวัช ตุลาธน สส.แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ได้ตั้งกระทู้ถามสดไปในสภาฯ แล้ว มองว่าเป็นเรื่องของระบบ ไม่ใช่แค่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง และไม่ต้องการให้กลายเป็นเรื่องของความสะใจ แต่จะให้ความสำคัญ กับระบบที่ควรจะมีความเสมอภาคของคนที่โดนกลั่นแกล้งทางการเมือง รวมถึงคนที่โดนลี้ภัยไปต่างประเทศที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองและไม่สามารถกลับบ้านได้ ควรที่จะได้รับโอกาสกลับเข้าสู่กระบวนการอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ได้มุ่งเน้นที่จะสนับสนุนและโจมตีบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ไม่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นนิติรัฐของอภิสิทธิ์ชน เราพยายามทำงานตรงนี้ให้ไปข้างหน้าให้ได้ 

"ต้องยอมรับว่าคุณทักษิณถูกกลั่นแกล้งทางการเมืองด้วยความสองมาตรฐานเช่นเดียวกัน ไม่ได้หมายความว่าความสองมาตรฐานที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ สามารถไปล้มล้างความสองมาตรฐานในอดีต เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ควรจะเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งก่อนและหลัง แต่ถึงอย่างไรก็ยังติดตามอยู่ตลอดจะใช้กลไกทั้งนอกและในสภาฯในการทำงานตรงนี้" พิธา กล่าว

ส่วนที่มีการนำพรรคก้าวไกลไปเปรียบเทียบกับ สว. ที่จะเปิดอภิปราย มาตรา153 โดยประเด็นเนื้อหารวมถึง ทักษิณ ด้วยนั้น พิธา ระบุว่า อายุการทำงานไม่เท่ากัน ประสิทธิภาพของการทำงานไม่ได้หมายความว่าใครทำก่อนทำหลัง แต่ประสิทธิภาพการทำงานคือใครทำงานตรงเป้าหมายมากกว่ากัน หากวุฒิสภาเห็นว่า เวลาที่เหมาะสมคือตอนนี้ก็อาจจะทำก่อนพรรคก้าวไกล ก็เป็นสิทธิ์ของวุฒิสภา

“แต่ที่น่าแปลกก็คือประชุมกันมาหลายปี ก็เพิ่งเห็นครั้งแรกไม่เคยมีการตรวจสอบรัฐบาลมาก่อน ก็เป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถามกลับไป แต่ของเราอภิปรายไม่ไว้วางใจมาทุกปี และไม่เคยทำให้ประชาชนผิดหวัง เราทำอย่างเต็มที่ไม่มีการออมมือ” พิธา กล่าว

เมื่อถามว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่จะเกิดขึ้นในเดือน เม.ย. จะมีเรื่อง ทักษิณ หรือไม่ พิธา กล่าวว่า มีหลายๆ เรื่อง ทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ต้องรอดูสถานการณ์ใดที่จะมาเรียงลำดับความสำคัญ