ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุม กพอ. พิจารณาร่างแผนการดำเนินการในระยะ 1 ปี ระหว่าง ต.ค. ปี 66 - ก.ย. ปี 67 และเป้าหมายเร่งด่วน 8 ด้าน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-ดึงดูดการลงทุน ให้เห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม ภายใน 99 วัน

วันที่ 17 ต.ค. ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานการประชุม พร้อมด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข , พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน , ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ,ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย , จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ สกพอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 2/2566 ว่า วันนี้ถือเป็นการประชุมครั้งแรก ภายใต้รัฐบาลของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาร่างแผนการดำเนินการในระยะ 1 ปี (ระหว่าง ตุลาคมปี 2566 - กันยายน ปี 2567 ) และเป้าหมายเร่งด่วนภายใน 99 วัน เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวหน้า โดยดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายหลักของรัฐบาล 8 ด้าน ประกอบด้วย ด้านนโยบายอีอีซี การสร้างสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูการลงทุน ด้านการสร้างระบบนิเวศสำหรับการลงทุน ด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการจัดให้มีบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ด้านการพัฒนาพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ด้านการเริ่มต้นการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และด้านการสร้างความเข้มแข็งของพื้นที่และชุมชน

ขณะที่ ภูมิธรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) โดยเห็นชอบกรอบอัตราค่าเช่า และค่าธรรมเนียม รวมถึงกรอบสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในโครงการ ให้พร้อมปฏิบัติการร่วมด้วย เพื่อขับเคลื่อนรองรับนักลงทุนระดับนานาชาติที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC อาทิ การจัดตั้งศูนย์อัดประจุไฟฟ้าต้นแบบระดับประเทศ (EV Charging Center ) เป็นต้น

ดังนั้นเราจะประชุมกันเดือนละครั้งเป็นอย่างน้อย เพื่อคลี่คลายปัญหาต่างๆที่สั่งสมมายาวนาน และเร่งดำเนินการทุกอย่างควบคู่กันไป เพื่อสร้างเม็ดเงินการลงทุนเข้าประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนเรื่องการบริหารจัดการน้ำ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเป็นผู้ประสานงานและแก้ไขปัญหาให้เกิดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

แต่สำหรับสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินนั้น เราจะพยายามบูรณาการความร่วมมือ และปรับสัญญาที่เป็นปัญหา โดยจะไปพูดคุยรายละเอียดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเอกชน เพื่อให้โครงการดังกล่าวสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และเห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมภายในสมัยของรัฐบาลชุดนี้