นายทองเปลว กองจันทร์อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบันจากสภาวะอากาศที่แปรปรวน ประกอบกับรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือน ก.ค. มีแนวโน้มจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงหรือมีฝนตกน้อยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในยามขาดแคลนให้มากที่สุด
ขณะเดียวกันกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าฤดูฝนปีนี้ (62) มีแนวโน้มปริมาณฝนที่ตกรวมทั้งประเทศอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าปีที่ผ่านมา (61) และน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณร้อยละ 5–10 จึงควรส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝน โดยให้ใช้น้ำฝนเป็นหลักและใช้น้ำชลประทานเสริมกรณีที่เกิดฝนทิ้งช่วงเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำมีเพียงพอสำหรับการใช้น้ำตลอดฤดูฝนและเก็บกักไว้ใช้ในหน้าแล้งที่จะถึงนี้
อย่างไรก็ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่าในช่วงวันที่ 2-4 ก.ค. 2562 ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือภาคกลางและภาคตะวันออก โดยจะมีฝนตกหนักมากบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักถึงหนักมากไว้ด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากได้
ทั้งนี้เนื่องจากมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนคาดว่าจะเคลื่อนผ่านอ่าวตังเกี๋ยในวันที่ 2 ก.ค. นี้ และจะเข้าปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบนและประเทศลาวในช่วงวันที่ 3-4 ก.ค. 2562 ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและประเทศลาวเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ก.เกษตร ทำฝนหลวงต่อเนื่อง เติมน้ำให้เพียงพอต่อการทำการเกษตร
ด้านนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เพื่อให้การบริการจัดการน้ำฤดูแล้งปีนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น กระทรวงเกษตรฯ ได้ปรับโครงสร้างการปฏิบัติงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค การประเมินความเสี่ยงด้านการเกษตร การกระจายเครื่องมือ เครื่องจักร ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ตลอดจนสั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจแก่เกษตรกรให้ปลูกข้าวรอบ 2 ตามแผนข้าวครบวงจร 11.21 ล้านไร่ เพื่อให้ใกล้เคียงแผนการจัดสรรน้ำที่วางเป้าหมายไว้ 11.65 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 104 ของแผนการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งมอบหมายกรมชลประทานติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 199 เครื่อง สูบน้ำเติมโรงสูบน้ำเพื่อผลิตน้ำประปา เพื่อเติมน้ำเข้าคลองซอย ขุดลอกคลอง สร้างทำนบดินชั่วคราว ออกหน่วยบริการน้ำเพื่อการอุปโภค สร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อเก็บกักและชะลอน้ำในการรักษาระบบนิเวศ ส่วนการเตรียมการด้านประมง ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง หากปริมาณน้ำลดลงให้จับสัตว์น้ำขึ้นจำหน่ายก่อน ด้านพืชเน้นย้ำให้เกษตรจังหวัดและเกษตรอำเภอทุกพื้นที่ให้คำแนะนำการดูแลรักษาพืช เช่น นำเศษวัสดุทางการเกษตรคลุมโคน ตัดแต่งกิ่งใบตามหลักวิชาการ เพื่อลดการคายน้ำ และการใช้ระบบน้ำหยดในพื้นที่แปลงหากมีความจำเป็น ปรับเวลาการให้น้ำ
นอกจากนี้ยังเน้นย้ำให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรขึ้นปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 11 หน่วย หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเชียงใหม่ ตาก ลพบุรี ราชบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี สุรินทร์ สระแก้ว สุราษฎร์ธานี สงขลา จากการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง 111 วัน (1 มี.ค.- 25 มิ.ย. 2562) ผลจากการปฏิบัติการฝนหลวงทำให้มีฝนตกร้อยละ 90.09 ขึ้นปฏิบัติการ 3,024 เที่ยวบิน จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 57 จังหวัด สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานีเปิดหน่วยฯ ตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 62 ขึ้นปฏิบัติการ 6 วัน 9 เที่ยวบิน มีฝนตกในพื้นที่จังหวัดยโสธร ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี จะดำเนินการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงอย่างต่อเนื่องจนกว่าปริมาณฝนจะเพียงพอต่อการทำการเกษตร
ทั้งนี้ รายงานสถานการณ์น้ำของสำนักงานสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ระบุว่าเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีน้ำใช้การได้น้อยอยู่ในขั้นวิกฤติต่ำกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่าง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ ร้อยละ 0, เขื่อนสิรินธร ร้อยละ 1, เขื่อนคลองสียัด ร้อยละ 6, เขื่อนป่าสักฯ ร้อยละ 7, เขื่อนขุนด่านปราการชล ร้อยละ 9, เขื่อนสิริกิติ์ ร้อยละ 9, เขื่อนภูมิพล ร้อยละ 10, เขื่อนกระเสียว ร้อยละ 10, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ร้อยละ 12, เขื่อนลำพระเพลิง ร้อยละ 13, เขื่อนทับเสลา ร้อยละ 13, เขื่อนนฤบดินทรจินดา ร้อยละ 13, เขื่อนวชิราลงกรณ์ ร้อยละ 15, เขื่อนจุฬาภรณ์ ร้อยละ 16, เขื่อนแม่กวง ร้อยละ 18, เขื่อนห้วยหลวง ร้อยละ 19, และเขื่อนศรีนครินทร์ ร้อยละ 19 นอกจากนี้ ได้เตือนภัยฝนระดับเฝ้าระวังพิเศษบริเวณจังหวัดตราดอาจมีมีปริมาณฝนมากถึงวันละ 184.2 มิลลิเมตร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง