วันที่ 26 ธ.ค. ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประเมินถึงสถานการณ์การค้า และการขนส่งทางเรือจากวิกฤตทะเลแดงที่อาจส่งผลกระทบต่อการค้าของประเทศไทย พร้อมทั้งทางการไทยต้องมีการจ่ายค่าระวางเรือเพิ่มมากขึ้น
โดย ปานปรีย์ ระบุเพียงสั้นๆ ว่า สถานการณ์วิกฤตทะเลแดง หากมีความรุนแรงมากขึ้นน่าจะมีผลกระทบกับการค้าของไทย แต่เบื้องต้นยังอยู่ในวิสัยที่เราสามารถบริหารจัดการได้
อย่างไรก็ตาม สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เคยให้ความเห็นเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่า ทะเลแดงเป็นน่านน้ำที่มีความสำคัญกับการขนส่งเรือพาณิชย์ เนื่องจากมีความเชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชีย และยุโรป ซึ่งไทยส่งออกสินค้าไปยุโรป 8% ของการส่งออกทั้งหมด โดยสินค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาหาร ยางล้อรถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
อีกทั้งเส้นทางทะเลแดงยังช่วยร่นระยะเวลาเดินทางที่จะไปอ้อมเส้นทางแหลมกู๊ดโฮปกว่า 10-15 วัน ซึ่งหากสถานการณ์ในทะเลแดงยังไม่มีความคลี่คลายจะทำให้การขนส่งสินค้าโดยเรือพาณิชย์จากไทยต้องแบกรับค่าระวางเรือที่แพงขึ้น 1,500 ดอลลาร์ต่อตู้
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ในทะเลแดงเกิดจากการโจมตีของกลุ่มกบฏฮูตี ในประเทศเยเมน ที่ต้องการตอบโต้กับทางการอิสราเอลที่มีปฏิบัติการโจมตีกลุ่มฮามาส โดยอ้างว่า ทำไปเพื่อสนับสนุนฮามาส และใช้ทะเลแดงเพื่อเป็นตัวประกันในการยกระดับการโจมตี
ปานปรีย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการติดตามปัญหาสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมา หลังก่อนหน้านี้ได้มีการหารือ พลเอกอาวุโส ตานฉ่วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา
ปานปรีย์ กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ความรุนแรงในประเทศเมียนมายังมีการสู้รบกันอยู่ ซึ่งเมียนมาอยู่ติดกับชายแดนไทย โดยมีความยาวกว่า 2,400 กม. ฉะนั้นไทยจึงอยู่เฉยไม่ได้ ต้องหาทางเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือโดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
ปานปรีย์ เผยอีกว่า กระทรวงการต่างประเทศระหว่าง 2 ประเทศได้มีแนวคิดจัดตั้ง Humanitarian Assistance หรือการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เพื่อให้ประชาชนปลอดภัย และสามารถลำเลียงยา อาหาร เข้าไปให้การช่วยเหลือได้ ซึ่งตรงส่วนนี้รัฐบาลทหารเมียนมา และกองกำลังชาติพันธุ์เห็นชอบในหลักการ และจะมีการส่งคณะทำงานเข้ามาประชุมในต้นปีหน้า เพียงแต่ยังไม่ได้รับการแจ้งว่า คณะทำงานดังกล่าวของเมียนมาจะอยู่ในระดับใด
ส่วนประเทศไทยจะเป็นแกนนำในการทบทวน ‘ฉันทามติ 5 ข้อ‘ ของอาเซียน ในการแก้ไขวิกฤตในเมียนมาหรือไม่นั้น ปานปรีย์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องที่ประเทศไทยเข้าไปร่วมทำฉันทามติกับอาเซียนในเวลานั้น ซึ่งขณะนี้อินโดนีเซียยังคงเป็นประธานอาเซียน และในปีหน้าจะเป็นประเทศลาว ดังนั้นประเทศไทยยังคงต้องสนับสนุนฉันทามติ 5 ข้อ เนื่องจากเคยรับรองฉันทามติไว้
สำหรับการพูดคุยในระดับทวิภาคีระหว่างไทยและเมียนมา เนื่องจากไทยถูกมองว่า มีสถานะพิเศษที่สามารถพูดคุยเรื่องสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมาได้นั้น ปานปรีย์ ให้ความเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทย และเมียนมาไม่มีอะไรไม่ดี เราเป็นมิตรประเทศต่อกัน ประชาชนทั้งสองประเทศไปมาหาสู่กัน ซึ่งปัญหาภายในของเมียนมานั้น เป็นเรื่องที่เขาต้องจัดการให้เรียบร้อย เราเป็นหนึ่งในอาเซียนจึงแทรกแซงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม องค์กรสิทธิมนุษยชนอย่างฟอร์ติฟายไรต์ ได้มีข้อเสนอให้ทางการไทยตัดเส้นทางการเงินของรัฐบาลทหารเมียนมาในไทยเพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลทหารเมียนมาใช้เงินซื้ออาวุธไปสู้รบกับประชาชน
ปานปรีย์ กล่าวว่า ไม่ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ และถ้าเราตัดเส้นทางการเงินจะมีผลกระทบกับพี่น้องชาวไทย และชาวเมียนมาที่ค้าขายกันอยู่ ซึ่งประชาชนไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความขัดแย้ง แต่เท่าที่ทราบมา ในช่วงเวลานี้สกุลเงินเมียนมาตกลงไปเยอะมาก