ไม่พบผลการค้นหา
'ปานปรีย์' จ่อตั้งศูนย์ช่วยเหลือมนุษยธรรม 'ไทย-เมียนมา' ที่ จ.ตาก เตรียมลงพื้นที่ดูความเรียบร้อย 8-9 ก.พ. นี้ เผย ‘หวังอี้-เจค‘ สองตัวแทนผู้นำ ‘จีน-สหรัฐฯ‘ เห็นพ้องหลักการดังกล่าว

วันที่ 30 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์เปิดเผยถึงผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Foreign Ministers’ Retreat: AMM Retreat) ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) 

ปานปรีย์ เผยว่า ได้มีการหารือในประเด็นสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมา ซึ่งทางเมียนมาได้ส่งข้าราชการในระดับปลัดกระทรวงมาเข้าร่วม โดยทางการไทยเองได้เสนอพื้นที่สำหรับจัดตั้งการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมระหว่างชายแดนไทย-เมียนมา หลังจากพูดคุยกับรัฐบาลเมียนมาอย่างเป็นระยะๆ 

ปานปรีย์ กล่าวอีกว่า กระทรวงการต่างประเทศไทยยังได้มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สภากาชาดไทย สภากาชาดเมียนมา รวมถึงสภากาชาดระหว่างประเทศ ซึ่งสภากาชาดไทย และเมียนมาจะเข้ามาดำเนินการก่อน ส่วนสภากาชาดระหว่างประเทศจะเข้ามาทีหลัง โดยเหตุผลที่ต้องนำสภากาชาดเข้ามาเกี่ยวข้องนั้น ก็เพื่อให้การช่วยเหลือมนุษยธรรมแก่ประชาชนเป็นไปเพื่อความโปร่งใส และปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง

สำหรับการกำหนดเขตพื้นที่มนุษยธรรมนั้น ปานปรีย์ ระบุว่า จะไม่เริ่มจากพื้นที่ตลอดแนวชายแดน เพราะพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมานั้น มีความยาวกว่า 2,000 กม. ดังนั้นจึงเริ่มจากพื้นที่ใน จ.ตาก ซึ่งวันที่ 8-9 ก.พ. นี้ จะลงพื้นที่ไปตรวจดูความเรียบร้อย โดยเหตุผลที่เลือก จ.ตาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ไม่ใหญ่มากนัก ซึ่งมองว่า ถ้าในส่วนนี้ประสบความสำเร็จก็จะขยายไปในพื้นที่อื่นๆ 

ขณะที่มาตรการการป้องกันไม่ให้ประเทศที่ 3 หรือประเทศมหาอำนาจเข้ามาแทรกแซงการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนั้น ปานปรีย์ เผยว่า ได้มีการพูดคุยกับ ‘หวัง อี้‘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน และ ‘เจค ซัลลิแวน’ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาตสหรัฐอเมริกา ซึ่งทั้งสองก็เห็นด้วยกับแนวทางที่ทางการไทยเป็นผู้ริเริ่ม พร้อมยืนยันว่า การจัดตั้งพื้นที่มนุษยธรรมนั้น ตั้งแต่ริเริ่มแนวคิด จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครปฏิเสธ 

ขณะที่หลักการ Non-Interference หรือการไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศของกลุ่มประเทศอาเซียนถูกตั้งคำถามถึงสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ปานปรีย์ กล่าวยืนยันว่า หลักการดังกล่าวเป็นหลักการที่กลุ่มประเทศอาเซียนให้ความสำคัญ โดยมองว่า ปัญหาความรุนแรงในเมียนมาเป็นปัญหาภายใน ซึ่งเมียนมาต้องแก้ไขด้วยตนเอง 


จ่อเยือนซาอุดีฯ หารือสภาความร่วมมือ

ปานปรีย์ เปิดเผยว่า วันที่ 5 ก.พ. นี้ ไทยและซาอุดีอาระเบียจะมีการประชุมสภาความร่วมมือซาอุดี-ไทย หรือ (Saudi-Thai Coordination Council : STCC) 

ปานปรีย์ กล่าวว่า สำหรับการประชุมนั้นจะมีการเจรจาข้อตกลง 5 เสาหลัก ประกอบด้วย (1)เสาหลักด้านการต่างประเทศ และการเมือง (2)เสาหลักด้านเศรษฐกิจ (3) เสาหลักด้านการลงทุน (4)เสาหลักด้านวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว และ(5) เสาหลักด้านการทหาร และความมั่นคง โดยจะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม. ในวันนี้ด้วย พร้อมเผยว่า การพูดคุยดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกภายหลังไทยเปิดความสัมพันธ์กับซาอุฯ 

ขณะที่ความคืบหน้าเรื่องการช่วยเหลือเหยื่อตัวประกันของกลุ่มฮามาสในเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ ‘ฉนวนกาซา-อิสราเอล‘ ปานปรีย์ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ติดตามสถานการณ์ตัวประกันกับทางอิสราเอลอย่างต่อเนื่องจาก 

พร้อมประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะดำเนินการประสานงานปล่อยตัวประกันชาวไทยให้โดยเร็วที่สุด รวมถึงประเทศในกลุ่มอาเซียนก็มีมติในเรื่องดังกล่าว และขอให้มีการปล่อยตัวไทย รวมทั้งตัวประกันที่เป็นประชาชนในกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างเร่งด่วน 

ส่วนแรงงานไทยที่เดินทางกลับไปทำงานยังประเทศอิสราเอลแล้วนั้น ปานปรีย์ กล่าวว่า ได้ติดตามมาตลอดว่า แรงงานไทยที่เดินทางกลับไปนั้นมีจำนวนเท่าไหร่ แต่สิ่งที่สำคัญคือ หากไปทำงานที่อิสราเอลแล้ว ชาวไทยต้องได้รับความปลอดภัย ซึ่งตน และประธานาธิบดีอิสราเอลได้มีการพูดคุยในเรื่องนี้ พร้อมขอให้ทางอิสราเอล ถ้ามีความประสงค์จะให้แรงงานไทยกลับไปทำงาน ต้องไปในพื้นที่ ’Green Area' หรือพื้นที่ที่ปลอดภัยเท่านั้น