วันที่ 31 พ.ค. 2565 ที่รัฐสภา ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 66 ว่า ทางพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญ และเตรียมความพร้อมไว้อย่างดียิ่ง อีกทั้งยังแต่งตั้งบุคคลไว้ในการอภิปรายตามกลุ่มที่ทางพรรคได้ตั้งแนวทางเอาไว้ โดยที่วันแรกจะเป็นการอภิปรายหลังจากท่านนายกรัฐมนตรีชี้แจงแถลงเหตุผลเสร็จแล้ว ต่อจากนั้นจะเป็นหน้าที่ของผู้นำฝ่ายค้านซึ่งตนนั้นก็จะเป็นผู้อภิปราย
ชลน่าน กล่าวว่า ในส่วนของพรรคเพื่อไทยก็จะมีผู้อภิปรายเจาะไปในประเด็นของความผิดพลาดล้มเหลวของรัฐบาลในการบริหาร ซึ่งขอใช้คำว่า รัฐบาล 'หมดสภาพ' หรือ 'สิ้นสภาพ' ต่ออายุในเรื่องของงบสิ้นหวังที่เราให้สมาชิกไปเจาะมา วันนี้ทางพรรคเพื่อมีเวลาชั่วโมงกว่า พรรคเพื่อไทยก็จะใช้เวลาให้เต็ม
ส่วนวันที่สอง ชลน่าน กล่าวว่า ตนได้มีการเตรียมความพร้อมในกลุ่มของผู้อภิปรายในเรื่องของการจัดตั้งงบประมาณประจำปี 2566 และตามด้วยเจาะงบสิ้นหวังต่อ ซึ่งงบสิ้นหวังนี้เรามีรายการเยอะมาก โดยมีผู้อภิปรายประมาณ 30 คน ส่วนวันที่สามนี้จะเป็นเรื่องของงบส่อโกง แล้วตามด้วยงบสิ้นหวังต่อ ผู้อภิปรายของพรรคเพื่อไทยจะทำงานในลักษณะต่อเนื่อง แม้ว่าจะเป็นการอภิปรายสลับกัน
ส่วนในเรื่องของการร่วมมือพรรคฝ่ายค้านคว่ำร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 66 นั้น ชลน่าน กล่าวว่า มันเป็นเหตุและผล เมื่อวานได้มีการคุยกันกับพรรคร่วมฝ่ายค้านว่าจะไม่นับร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 66 ซึ่งแต่ละพรรคก็จะมีเหตุผลของตัวเองในรายละเอียดการอภิปราย
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะได้เสียงมากพอในการคว่ำร่างหรือไม่ ชลน่านกล่างว่า มันเป็นเหตุและผลในการอภิปรายของพรรคร่วมฝ่ายค้าน มันเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ หลายเรื่องเป็นภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย ถ้าทางพรรคร่วมเห็นเช่นนั้น อาจจะมีการพิจารณาว่าไม่สามารถให้รัฐบาลชุดนี้บริหารงบได้ เพราะถ้าทำไปแล้วจะเกิดความเสียหายต่อพี่น้องประชาชน และประเทศชาติ
ชลน่าน กล่าวอีกว่า ขณะนี้ในพรรคร่วมฝ่ายค้าน ค่อนข้างมั่นใจในเรื่องของภาพรวมภาพใหญ่ที่เป็นวิกฤติ หลายคนอาจจะใช้เรื่องพี่น้องประชาชนมาเป็นตัวประกันว่าถ้าคว่ำ พ.ร.บ.งบฯ ปี 2566 พี่น้องประชาชนจะเดือดร้อน ซึ่งโดยส่วนตัวนั้น ตนมองว่า การคว่ำร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 2566 ต่างหากที่ประชาชนจะเดือดร้อนน้อยกว่า
ชลน่าน ตั้งข้อสังเกตว่า จำนวนงบประมาณปี 2566 รัฐบาลจะอยู่บริหารได้มากสุดคือเดือนมีนาคม ดังนั้นการจัดงบประมาณของรัฐบาล เอื้อกับการจัดเม็ดเงินให้ใช้ให้หมดในไตรมาสที่ 2 แต่สิ่งที่เป็นปัญหานั่นคือ ในภาวะที่เป็นวิกฤตแบบนี้มันต้องมีการจัดงบฟื้นฟูประเทศ ในเรื่องของการจัดสรรงบประมาณนั้น อยากให้ฟังในการอภิปรายเชิงลึก ทั้งงบสิ้นหวัง หรืองบส่อโก่ง ซึ่งมันยังไม่ถูกที่ถูกทาง มีการนำงบไปในพื้นที่ยังไม่เหมาะไม่สม แสวงหาโอกาส และคะแนนนิยมในช่วงใกล้เลือกตั้ง ดังนั้นขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีความสนใจตั้งใจใช้โอกาสนี้ในการดูแลประเทศชาติบ้านเมือง
ส่วนประเด็นของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย ที่เสนอตัวเป็นคนกลาง ชลน่านกล่าวว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุย เจอกันเมื่อวานก็คุยกันแต่เพียงเรื่องทั่วไป
ขณะที่ในเรื่องของ กกต.ที่ยังไม่รับรอง 'ชัชชาติ' นั้น ชลน่าน กล่าวว่า บอกตรงๆ มีผลกระทบแน่นอนในเรื่องความรู้สึก ความเชื่อมั่นในระบอบวิถีประชาธิปไตย เงื่อนไขที่บอกว่า คำร้อง ฟังขึ้น เป็นเหตุให้พิจารณาอย่างถี่ถ้วน สิ่งที่เห็นตอนนี้ ชัชชาติ ชนะอย่างถล่มทลาย มันสะท้อน 2 เรื่อง คือ เรื่องที่ต้องออกจากเผด็จการ ต้องการผู้นำ ที่เห็นอกเห็นใจ มีความรู้ความสามารถที่จะแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย
นอกจากนี้ ชลน่าน กล่าวอีกว่า เรื่องที่สองมันสะท้อนเรื่อง 'คู่เทียบ' คือ พอปรากฏการณ์ชัชชาติขึ้นมา เป็นคู่เทียบภาวะผู้นำของประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ เทียบกับชัชชาติ ใน 7 วันที่ผ่านมา คู่เทียบ 2 คู่ พี่น้องให้คะแนนกันเอง ผมไม่พูดนะ นี่อาจจะเป็นเหตุให้กกต.คิดหนัก ถ้าเห็นชัชชาติขึ้นมาโดดเด่น ไปกดทับภาวะผู้นำของประเทศ เป็นเหตุให้มีการพิจารณาในคำร้อง
"ถ้า กตต.ใช้เงื่อนไขนี้พิจารณา และทำให้เกิดความล่าช้า พี่น้องประชาชนคิดยังไง คนที่รับกรรมคือ พล.อ.ประยุทธ์ นะ ดังนั้น กตต. ต้องใช้พินิจพิจารณาให้ถี่ถ้วน ถ้ามันออกมาตรงกันข้าม ผมเชื่อว่า พี่น้องประชาชนจะรับไม่ได้ และจะเกิดภาวะวิกฤต อันนี้ต้องระวัง" ชลน่าน กล่าว
สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2566 วันแรก ว่า ทางพรรคร่วมฝ่ายค้านมองว่ามีความสำคัญเนื่องจากเป็นปีสุดท้ายของสภาชุดนี้ และเป็นงบประมาณที่จะเข้าสู่การเลือกตั้ง จึงมีข้อพึงระวัง เพราะรัฐบาลอาจจะจัดงบโดยหวังการเลือกตั้งเป็นเป็นหลัก การอภิปรายจะเริ่มจากนายกฯ แถลงหลักการและเหตุผลของงบประมาณ จากนั้นผู้นำฝ่ายค้านจะเริ่มอภิปราย
“วันนี้พวกเราจะต้องฉายภาพปัญหาของประเทศเป็นส่วนใหญ่ ว่าสภาพปัญหาและความต้องการของประเทศเวลานี้คืออะไร บริบทของโลกเป็นอย่างไร รวมถึงปัญหาการเงินการคลังของประเทศ ส่วนพรุ่งนี้ (1 มิ.ย.) จะอภิปรายถึงเรื่องการจัดงบที่ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และจะอภิปรายเกี่ยวกับกลุ่มงบทุจริตเป็นวันสุดท้าย (2 มิ.ย.)”
สุทิน ระบุว่า ฝ่ายค้านและรัฐบาลต้องบริหารเวลาให้ได้ฝ่ายละ 7 ชั่วโมงต่อวัน เหตุที่แบ่งเช่นนี้เป็นรายวันเพราะไม่อยากให้ฝ่ายค้านพูดอย่างเดียวทั้งวัน ส่วนนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อั้นไว้พูดวันสุดท้าย จะไม่ดี จึงต้องแบ่งกันให้สมดุลอย่างเป็นระยะ วันนี้และพรุ่งนี้ (1 มิ.ย.) น่าจะจบการอภิปรายที่เวลา 1.00 น. วันสุดท้ายไม่แน่ว่าอาจจะจบช่วงเย็น
สุทิน กล่าวต่อไปว่า ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ต้องพยายามทำความเข้าใจกับรัฐบาลและประชาชน หลายคนเข้าใจผิดว่าหากร่าง พ.ร.บ.งบฯ ไม่ผ่านในวาระแรก ประชาชนจะลำบาก แท้จริงแล้ว รัฐธรรมนูญมีทางออกให้ ร่างนี้จะตกก็ได้ ก็ให้ใช้งบประมาณปีเก่าไปพลางๆ เจตนารมณ์ของการร่างรัฐธรรมนูญเช่นนี้ก็เพื่อให้พิจารณากฏหมายด้วยความรอบคอบ แม้ร่างจะตก ก็มีกันชนสำหรับประเทศไว้แล้ว
“การที่ฝ่ายค้านจะทำตก ไม่ใช่ว่าเราไม่คำนึงถึงประชาชน เราคำนึง และเราคิดว่ามีช่องทางที่จะเดินได้อยู่แล้ว ดีกว่าดันทุรังเดินหน้าต่อเสียอีก”
สำหรับเรื่องการเช็กเสียงของ ส.ส.พรรคร่วมฝ่านค้านนั้น สุทิน เผยว่า ฝ่ายค้านมีเสียงเต็มที่ไม่มีบกพร่อง แต่จะมีทางอื่นมาเพิ่มเติมหรือไม่ ก็ไม่อยากคาดหวัง เพราะบางคนอาจจะคิดตรงกับเรา แต่ไม่กล้ายกมือให้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตนยังเชื่อมั่นลึกๆ ว่าโอกาสจะคว่ำก็มี แต่ไม่ได้มั่นใจ 100% เพราะใจคนเอาแน่ไมได้
ส่วนการประชุมงบฯ ครั้งนี้ ถือเป็นการซ้อมใหญ่ของการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่นั้น สุทิน มองว่า อาจจะบังเอิญเป็นอย่างนั้น แต่ไม่ใช่ความตั้งใจของเรา ข้อมูลที่ได้จากการอภิปรายงบ อาจนำไปใช่อภิปรายซักฟอกได้ เรากำลังจับจ้องอยู่หลายข้อมูล
ผู้สื่อข่าว ‘วอยซ์’ สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ ส.ส.ในกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รักษาการเลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย จะเข้ามาช่วยยกมือในการประชุมครั้งหรือไม่ สุทิน กล่าวว่า ทางพรรคเศรษฐกิจไทยเคยพูดแล้วว่า สำหรับการอภิปรายงบฯ คงไม่ยกมือ แต่อภิปรายไม่ไว้วางใจมีโอกาส แต่จะผ่านไม่ผ่าน ล้มไม่ล้ม ก็อยู่ที่ว่ารัฐบาลมีความบอบช้ำหรือไม่