ซันดูกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ได้ยืนยันข้อกล่าวหาของรัสเซีย ที่วางแผนจะทำให้มอลโดวาสั่นคลอน หลังจากที่ โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ได้ออกมาเปิดเผยถึงประเด็นดังกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเซเลนสกีระบุกับผู้นำสหภาพยุโรปว่า ยูเครนได้สกัดกั้นแผนจากหน่วยข่าวกรองของรัสเซีย ด้วยการเปิดโปงเอกสารที่แสดงให้เห็นว่า “ใคร เมื่อไร และอย่างไร ที่จะมีการทำลายประชาธิปไตยของมอลโดวา และจัดตั้งการครอบงำ” ทั่วทั้งประเทศ
หลายวันหลังจากที่รัฐบาลมอลโดวาลาออก เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (13 ก.พ.) ซันดูกล่าวว่าองค์กรในระดับท้องถิ่นได้ยืนยันแผนดังกล่าวของรัสเซีย และเธอกล่าวเสริมว่าแผนดังกล่าวไม่ใช่แผนใหม่ โดยแผนโค่นรัฐบาลมอลโดวามีพลเมืองของรัสเซีย มอนเตเนโกร เบลารุส และเซอร์เบียอยู่เบื้องหลัง และคนกลุ่มดังกล่าวเดินทางเข้าสู่มอลโดวา เพื่อพยายามจุดชนวนการประท้วงเพื่อการ “เปลี่ยนรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายให้เป็นรัฐบาลที่ผิดกฎหมาย ซึ่งถูกควบคุมโดยสหพันธรัฐรัสเซีย” ซันดูกล่าว
“ความพยายามของเครมลินที่จะนำความรุนแรงมาสู่มอลโดวาจะไม่ได้ผล เป้าหมายหลักของเราคือความปลอดภัยของพลเมืองและรัฐ เป้าหมายของเราคือความสงบสุขและความสงบเรียบร้อยในประเทศ” ซันดูกล่าว “จุดประสงค์ของการกระทำเหล่านี้ เป็นไปเพื่อการล้มล้างระเบียบตามรัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนอำนาจอันชอบธรรมจากรัฐบาลมอลโดวา ให้เป็นอำนาจนอกกฎหมายที่จะทำให้ประเทศของเรา ตกอยู่ในการกำจัดของรัสเซียเพื่อหยุดกระบวนการรวมเข้ายุโรป แต่ยังเป็นไปเพื่อให้รัสเซียสามารถใช้มอลโดวาในการทำสงครามกับยูเครน”
มอลโดวา เป็นหนึ่งในอดีตรัฐภายใต้เครือสหภาพโซเวียต ซึ่งมีประชากร 2.6 ล้านคน อันมีพรมแดนติดกับยูเครนและโรมาเนีย และกำลังหาทางเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) และสหภาพยุโรป ซึ่งมอลโดวาเพิ่งได้รับสถานะผู้รับการพิจารณาเข้าสหภาพยุโรปตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของประธานาธิบดีและรัฐบาลมอลโดวา ที่เอนเอียงไปทางชาติตะวันตก
นับตั้งแต่การรุกรานยูเครนของรัสเซีย มอลโดวาซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดของยุโรป ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตผู้ลี้ภัยจำนวนมาก อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น การขาดกระแสไฟฟ้า และความไม่มั่นคงในภูมิภาคจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทรานส์นิสเตรีย ซึ่งถูกควบคุมโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวรัสเซีย ทั้งนี้ รัสเซียปฏิเสธเมื่อปีที่แล้วว่า ตัวเองไม่ต้องการเข้ามาแทรกแซงกิจการในมอลโดวา หลังจากเจ้าหน้าที่ในทรานส์นิสเตรียกล่าวว่าพวกเขาตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีหลายครั้ง
ซันดูได้เสนอชื่อ โดริน รีเชียน ที่ปรึกษาด้านกลาโหมของเธอให้เป็นนายกรัฐมนตรีมอลโดวา ในช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา (10 ก.พ.) หลังจากการลาออกของรัฐบาลชุดที่แล้ว โดยรีเชียนซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกล่าวว่า เขาตั้งใจที่จะทำให้มอลโดวาอยู่ในเส้นทางที่นิยมสหภาพยุโรป “รัฐบาลใหม่จะให้ความสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ระเบียบและแบบแผน ชีวิตและเศรษฐกิจใหม่ และสันติภาพและเสถียรภาพ” นายกรัฐมนตรีมอลโดวากล่าว “รัฐบาลชุดใหม่จะดำเนินการตามแนวทางยุทธศาสตร์ของมอลโดวาต่อไป รวมถึงการรวมเข้ากับสหภาพยุโรป”
หนึ่งในภารกิจหลักตอนนี้ของรีเชียน คือการจัดการวิกฤตพลังงาน หลังจากราคาสินค้าสูงขึ้นจนนำไปสู่การประท้วงบนท้องถนนเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งผู้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลและประธานาธิบดีลาออก นอกจากนี้ มอลโดวายังประสบปัญหาไฟฟ้าดับ หลังจากการโจมตีของรัสเซียในโรงงานพลังงานของยูเครน มอลโดวายังพยายามที่จะยุติการพึ่งพาก๊าซจากรัสเซียด้วย ทั้งนี้ การประท้วงในมอลโดวาถูกนำโดยพรรคของ อิลาน ชอร์ นักการเมืองฝ่ายค้านที่ถูกเนรเทศออกนอกประเทศ โดยชอร์ถือเป็นความท้าทายทางการเมืองที่ร้ายแรงที่สุดของซันดู นับตั้งแต่เธอชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี 2563 จากการนำเสนอนโยบายต่อต้านการทุจริตและสนับสนุนยุโรป
ทางการมอลโดวาระบุว่าการประท้วงเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลรัสเซีย เพื่อทำให้รัฐบาลมอลโดวาเกิดภาวะไร้เสถียรภาพ โดยไม่กี่วันก่อนที่เธอจะลาออก นาตาเลีย กาวริลิซา อดีตนายกรัฐมนตรีมอลโดวา เดินทางไปกรุงบรัสเซลส์เพื่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ NATO และคณะกรรมาธิการยุโรป ทั้งนี้ เมื่อเดือนที่แล้วมอลโดวาได้รับข้อเสนอมูลค่า 145 ล้านยูโร (ประมาณ 5.26 พันล้านบาท) จากสหภาพยุโรปเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยเงินทุนดังกล่าวซึ่งเป็นส่วนผสมของเงินให้เปล่าและเงินกู้ราคาถูก ยังคงต้องได้รับการอนุมัติจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปและสมาชิกสภายุโรป
ความตึงเครียดยังมีเพิ่มขึ้นอีกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อมอลโดวากล่าวว่าน่านฟ้าของตัวเองถูกละเมิดโดยขีปนาวุธของรัสเซีย ระหว่างเส้นทางมุ่งหน้าสู่ยูเครน และทางมอลโดวาได้เรียกตัวเอกอัครราชทูตรัสเซียมากล่าวประท้วง ทั้งนี้ รัสเซียยิงขีปนาวุธใส่โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของยูเครนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้ไฟฟ้าดับ โดยขีปนาวุธอย่างน้อย 17 ลูกถูกโจมตีใส่เมืองซาปอริซเซียทางตะวันออกเฉียงใต้เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ซึ่งเป็นการโจมตีที่หนักที่สุดนับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครน เมื่อเดือน ก.พ.ปีก่อน
โรมาเนียกล่าวว่า ขีปนาวุธของรัสเซียยิงจากเรือลำหนึ่งใกล้กับแหลมไครเมีย ข้ามน่านฟ้ามอลโดวาก่อนจะตกใส่ยูเครน แต่ไม่ได้ล่วงล้ำเข้าสู่น่านฟ้าโรมาเนีย โดยเซเลนสกีอธิบายว่าการโจมตีด้วยขีปนาวุธเป็น “ความท้าทายต่อ NATO และความมั่นคงส่วนรวม” ในยุโรป
ที่มา: