สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมทั้งผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ ได้ร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางระงับการออกอากาศผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางที่ไม่ผ่าน อย. และไม่ได้รับอนุญาตโฆษณาออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์ โดยมี กสทช. พล.ท. ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงข่าว
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ปัจจุบันกระบวนการทำงานตรวจสอบเนื้อหาโฆษณาที่มีเนื้อหาสาระในลักษณะเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการหรือสินค้าโดยหลอกลวง หรือกระทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับบริการหรือสินค้า จะต้องนำเนื้อหาเข้าสู่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ที่มี กสทช. พล.ท. ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ เป็นประธาน
เมื่อพบว่ามีโฆษณาที่ผิดกฎหมาย หรือการโฆษณาเกินจริง สำนักงาน กสทช. ก็จะมีการสอบถามไปยัง อย. โดย อย. จะทำการตรวจสอบก่อนส่งเรื่องกลับมาที่สำนักงาน กสทช. รวมระยะเวลากระบวนการจะใช้เวลา 45-60 วัน ถึงจะสามารถยุติการออกอากาศรายการนั้นได้ แต่หลังจากนี้สำนักงาน กสทช. และ อย. จะเร่งรัดการยุติการออกอากาศโฆษณาด้วยการลดขั้นตอนเพื่อไม่ให้ส่งผลต่อประชาชน
เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า จากนี้สำนักงาน กสทช. และ อย. จะทำงานร่วมกันโดยจะมีเจ้าหน้าที่จาก อย. มาประจำการที่ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ (โซเชียลมีเดีย) ที่ผิดกฎหมาย ที่สำนักงาน กสทช. เพื่อตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางที่ไม่ผ่าน อย. และไม่ได้รับอนุญาตโฆษณาผ่านสถานีโทรทัศน์
หากพบว่ามีโฆษณาใดที่ผิดกฎหมาย อย. จะทำหนังสือแจ้งมาเพื่อให้เลขาธิการ กสทช. มีคำสั่งระงับโฆษณานั้นเป็นการชั่วคราว แล้วส่งเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาการกระทำอันเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ และ กสทช. ตามลำดับ จนกว่าผลการพิจารณาจะเป็นข้อยุติ
ซึ่งหากมีการฝ่าฝืนจะมีโทษปรับตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ข้อ 5(2) ที่ระบุว่าการออกอากาศรายการหรือการโฆษณาที่มีเนื้อหาสาระในลักษณะเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการหรือสินค้าโดยหลอกลวง หรือกระทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับบริการหรือสินค้านั้น หรือโดยการใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือข้อมูลอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท และหากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับวันละ 100,000 บาท
นพ. วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการ อย. ระบุว่า อย. ได้เห็นความสำคัญในการปรับลดขั้นตอนกระบวนการทำงานจากเดิม ซึ่งมีการทำงานร่วมกันอยู่แล้วระหว่างสำนักงาน กสทช. และกระทรวงสาธารณสุข (อย. และ สสจ.) โดยกระบวนงานใหม่จะมีการร่วมกันพิจารณาเนื้อหาการโฆษณาที่ออกอากาศให้ทันต่อสถานการณ์มากขึ้น และการร่วมกันพิจารณา จะเป็นการลดขั้นตอนในกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งในส่วนของสำนักงาน กสทช. และกระทรวงสาธารณสุขด้วย ดังนั้น จึงขอให้ทางผู้ประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ รวมถึงผู้ที่จะว่าจ้างลงโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางในทางวิทยุและโทรทัศน์ โปรดตรวจสอบเนื้อหา รวมถึงต้องนำเนื้อหาการออกอากาศ มาขออนุญาตตามกฎหมายที่ อย. และ สสจ. กำกับดูแลอยู่ ให้ถูกต้อง เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป
พร้อมย้ำเตือนผู้บริโภค ไม่ควรหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง อ้างรักษาได้สารพัดโรค ขอให้ผู้บริโภคระลึกไว้เสมอว่า อาหารไม่ใช่ยา ไม่สามารถช่วยบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรคได้ เพราะนอกจากจะสิ้นเปลืองเงินแล้วยังอาจได้รับอันตรายจากการปนเปื้อนยาหรือสารอันตรายที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ได้
ส่วนเครื่องสำอางมีวัตถุประสงค์เพื่อความสะอาดและสวยงามเท่านั้น ไม่สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างของร่างกายได้ จึงขอเตือนผู้บริโภคอย่าได้หลงเชื่อสรรพคุณที่อวดอ้าง เกินความจริงทางสื่อต่าง ๆ นอกจากจะเสียเงินโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังอาจได้รับอันตรายโดยคาดไม่ถึง หากผู้บริโภคพบเห็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย