ไม่พบผลการค้นหา
เลขาฯ กสทช. ชี้การเมืองในยุค 5G จะทำให้การหาเสียงและการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไป ระบุนักการเมืองต้องปรับตัวให้ทันกับยุคที่เปลี่ยนแปลงไป

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จัดงานสัมมนาวารสารวิชาการ ประจำปี 2561 หรือ NBTC Journal 2018 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เลขาธิการ กสทช. ผู้เขียนบทความเรื่อง ยุคดิจิทัลจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมือง Landscape ของประเทศ ระบุ การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้า (62) อาจจะยังคงใช้ระบบแอนาล็อก แต่เมื่อมี 5G จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดการออกเสียงแบบไร้พรมแดน ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลที่เชื่อมกันทั่วโลกเพียงแค่ยืนยันตัวตนในหน่วยเลือกตั้ง ก็สามารถลงคะแนนเสียงได้ ระบบจะตรวจสอบบัตรประชาชนกับใบหน้าของผู้ลงคะแนน ข้อมูลจะถูกส่งไปที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยตรง โครงการของพรรคการเมืองและผู้สมัครจะมีการหาเสียงที่เปลี่ยนแปลงไป การหาเสียงในระบบการเมืองยุคใหม่ ประชาชนสามารถพูดคุยกับผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ไม่จำเป็นต้องสื่อสารผ่านหัวคะแนน บทบาทคนกลางจะลดลง ถ้านักการเมืองยังใช้วิธีเดิมจะไม่ทันกับสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป

ด้าน พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ อดีตรองประธาน กสทช. มองว่าประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไขกฎหมายการจัดสรรคลื่นความถี่ 5G อย่างเร่งด่วนให้สำเร็จก่อนปี พ.ศ. 2562 ซึ่งประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้เริ่มขยายโครงข่ายระบบ 5G แล้ว ซึ่งอาจจะทำให้ประเทศไทยตกขบวนและไม่สามารถนำพาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้ เนื่องจากหากยังมีการประมูลคลื่นในรูปแบบเดิม จะทำให้ราคาคลื่น 5G สูงมากแบบไร้เหตุผลในการทำธุรกิจ และจะทำให้ไม่มีผู้ประกอบการรายใดเข้าร่วมประมูล 5G เลย

ขณะเดียวกัน ผู้นำและผู้บริหารองค์กรของประเทศในยุคจากนี้ไป จะไม่สามารถที่จะกำหนดทิศทางขององค์กรและประเทศได้อย่างถูกต้อง หากไม่มีความรู้และเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันหรือที่เรียกว่า ดิสรัปชั่น (Disruption) ซึ่งมีผลกระทบจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วด้วยอัตราเร่งของเทคโนโลยีดิจิทัลจากเทคโนโลยี 5G และ AI ดังนั้นไม่น่าแปลกใจว่าประเทศที่จะเป็นมหาอำนาจในทศวรรษต่อจากนี้ คือประเทศที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์และไมโครชิพ 5G และ AI