ไม่พบผลการค้นหา
คณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายแก้ไขร่างกฎหมาย ส.ว. มีมติให้กลับไปใช้วิธีการสรรหา ส.ว. โดยการเลือกไขว้จากผู้สมัครแบบบุคคลจาก 20 กลุ่มอาชีพตามร่างเดิมของ กรธ.

พล.ร.อ. ธราธร ขจิตสุวรรณ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา แถลงผลการประชุมคณะกรรมาธิการฯ เมื่อวานนี้ มีมติแก้ไขวิธีการสรรหา ส.ว. ในมาตรา 11 ที่เดิมกำหนดให้การสรรหา ส.ว. มาจากการเลือกกันเองของบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ จำนวน 10 กลุ่มอาชีพ กลับไปใช้ตามร่างเดิมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คือ 20 กลุ่มอาชีพ

เนื่องจากคณะกรรมาการร่างรัฐธรรมนูญ เห็นว่าอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107 วรรค 1 ที่กำหนดให้ ส.ว.ประกอบด้วย สมาชิกจำนวน 200 คน มาจากการเลือกกันเองของบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ทำงานหรือเคยทำงานด้านต่างๆที่หลากหลายของสังคม ดังนั้นการที่ สนช. ลดจำนวนกลุ่มโดยการยุบรวมกลุ่ม จึงเป็นการลดทอนหลักประกันว่า ส.ว. จะเป็นสภาที่ประกอบด้วยประชาชนทุกภาคส่วนของสัมคมอย่างแท้จริง

ส่วนมาตรา 13 เกี่ยวกับการแบ่งผู้สมัครในแต่ละกลุ่มออกเป็น 2 ประเภทนั้น ที่ประชุมมีมติ 9 ต่อ 2 เห็นชอบตามความเห็นแย้งของ กรธ. และให้กลับไปใช้แบบเดียวกันคือ ให้ผู้สมัครสามารถลงสมัครในนามบุคคลได้โดยไม่ต้องผ่านองค์กร และมาตรา 42, 43, 44 แก้ไขให้กลับไปใช้วิธีการเลือกไขว้ของ กรธ. แทนการเลือกกันเองในกลุ่ม เนื่องจากเห็นว่า การเลือกกันเองจะเกิดการสมยอมได้ง่ายกว่าการเลือกไขว้

นอกจากนี้คณะกรรมาธิการร่วม ยังมีมติแก้ไขตามความเห็นแย้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาตรา 64 วรรค 1 ที่ให้ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของบุคคลนั้นเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้ให้อำนาจ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 226 วรรค 1 จึงแก้ไขให้ กกต. มีสิทธิ์ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาสั่งเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลืกตั้ง หรือ เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของผู้นั้น ก็ได้

ทั้งนี้ร่างกฎหมายการได้มาซุ่ง ส.ว. จะเข้าสู่ที่ประชุม สนช.ในวันที่ 8 มีนาคมนี้