ที่ลานตั้งนโม หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการจัดงาน “วงจร(เ)ปิด 1 ปี ชี้การตายชัยภูมิ ป่าแส” โดยมีนักวิชาการด้านกฎหมาย นักศึกษา รวมทั้งญาติของนายชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนนักกิจกรรมชาวลาหู่ ที่เสียชีวิตจากการถูกเจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญ บริเวณด่านตรวจถาวร บ้านรินหลวง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 และญาติของนายอาเบ แซ่หมู่ ซึ่งเสียชีวิตจากการถูกวิสามัญในจุดเดียวกัน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2560 เข้าร่วม
กิจกรรมภายในงานมีเวทีเสวนาเรื่อง ”วิสามัญมรณะ” มีนายสงกรานต์ ป้อมบุญจันทร์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความคดีไต่สวนการตายของนายชัยภูมิ และนายอาเบ , นายสุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น, นายคิงสลีย์ แอ๊บบอต ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส โครงการเอเชีย-แปซิฟิค คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลเข้าร่วมด้วย
นายคิงสลีย์ กล่าวว่า ลักษณะการเสียชีวิตจากการวิสามัญฆาตกรรม โดยจงใจหรือไม่จงใจ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เรียกว่าเป็นการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหาเกิดขึ้นทั่วโลก จึงมีกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งให้สิทธิประชาชนในการมีชีวิตอยู่ ฉะนั้น รัฐทุกรัฐจึงมีหน้าที่ดูแลให้ประชาชนมีชีวิตอยู่ และออกกฎหมายชดเชยเยียวยาหากมีการพรากชีวิตใครไป รวมถึงรัฐหรือผู้กระทำการแทนรัฐต้องไม่มีการพรากชีวิตผู้อื่น และต้องป้องกันไม่มี การประชาชนพรากชีวิตกันเอง
ขณะเดียวกันหากมีการเสียชีวิตในลักษณะนี้เกิดขึ้น พันธกรณีของรัฐจะต้องเร่งสืบสวนสอบสวนตามมาตรฐาน โดยต้องกระทำอย่างรวดเร็ว และการสอบสวนหรือองค์กรที่สอบสวนต้องมีความเป็นอิสระ รวมทั้งจะต้องใช้หลักฐานที่เป็นกลาง คือกล้องวงจรปิด
ภายหลังเวทีเสวนา มีการแสดงละครเรื่อง ”Rebirth” หรือการเกิดใหม่ จากกลุ่มละครลานยิ้ม จากนั้นรองศาสตราจารย์ สมชาย ปรีชาศิลปะกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นตัวแทนเครือข่ายติดตามความคืบหน้าคดีวิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส "หนึ่งปีการจากไปของชัยภูมิ ที่ยังไร้คำตอบ" โดยมีเนื้อหาเรียกร้องมาตรฐานใหม่ในการพิจารณาคดีไต่สวนการตายของชัยภูมิ ป่าแส พร้อมยืนยันว่าจะยังคงสนับสนุนการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม และเรียกร้องให้สังคมร่วมติดตามความคืบหน้าของคดีนร่ต่อไปจนกว่าจะสามารถพิสูจน์ทราบถึงความจริงที่ได้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน
ขณะที่นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความคดีไต่สวนการตายของนายชัยภูมิ และ นายอาเบ กล่าวว่า ในฐานะทนายความในคดีนี้เห็นอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับญาติที่เรียกร้องหาความยุติธรรม โดยได้ร้องขอความเป็นธรรมในชั้นอัยการให้สอบปากคำพยานสำคัญเพิ่มเติม คือชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์ขณะเจ้าหน้าที่ทหารตรวจค้นชัยภูมิ และมีการทำร้ายร่างกายก่อนที่ชัยภูมิจะวิ่งหลบหนีโดยไม่ได้ต่อสู้ โดยไม่ได้ใช้อาวุธมีดฟันหรือระเบิดขว้างใส่เจ้าหน้าที่ ซึ่งพยานทั้งหมดได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวน แต่ปรากฏว่าอัยการไม่มีการนำประเด็นนี้เข้าไต่สวนในชั้นศาล ทั้งพยานที่เป็นทหารประจำด่าน ชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์ และพยานวัตถุสำคัญที่เป็นพยานกลาง คือ ภาพจากกล้องวงจรปิดบริเวณด่านรินหลวงที่จะให้ข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้น
แต่อัยการไม่พยายามสั่งการให้พนักงานสอบสวนนำเข้าสู่สำนวนสอบสวน แต่ได้นำเสนอโดยส่งรายงานการตรวจพิสูจน์ ซึ่งในรายงานผลการตรวจปรากฏว่าภาพจากกล้องวงจรปิดหายไป แต่มีหลักฐานการสำเนาไว้โดยเจ้าหน้าที่ทหาร และมีการให้ปากคำจากเจ้าหน้าที่ทหารว่า ได้ดูภาพจากกล้องวงจรปิดและทำสำเนาไว้ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ทนายความจึงขอให้ศาลเรียกพยานวัตถุสำคัญ และเจ้าหน้าที่ทหารนายนั้นเข้าเบิกความ แต่ศาลใช้ดุลพินิจเห็นว่าพยานหลักฐานเพียงพอแล้วในการทำคำสั่ง จึงยกคำร้อง ดังนั้นในวันนี้ ( 6 มิ.ย. ) ทีมนายความจะขอดูคำสั่งการไต่สวนการตายของศาลสมบูรณ์เพียงพอหรือไม่
อย่างไรก็ตามหากอัยการเติมหลักฐานพยานวัตถุสำคัญเข้าไป ซึ่งทุกฝ่ายมีหน้าที่นำข้อเท็จจริงสู่ศาล เพราะเป็นระบบไต่สวนหาความจริงให้กับผู้ตายและครอบครัวผู้ตาย จึงเป็นเรื่งสำคัญที่บุคคลกรในกระบวนการยุติธรรมต้องช่วยกันทุกฝ่าย มิฉะนั้นอาจเกิดเหตุวิสามัญขึ้นซ้ำซาก มีชาวบ้านถูกวิสามัญแต่เจ้าหน้าที่รอดไม่ถูกดำเนินคดี
ทั้งนี้ในช่วงเช้าวันนี้ (6 มิ.ย.) ศาลจังหวัดเชียงใหม่ จะมีคำสั่งในคดีไต่สวนการตายของนายชัยภูมิ ป่าแส โดยบรรดาญาติของชัยภูมิ ป่าแส และนายอาเบ แซ่หมู่ เตรียมจะเดินทางมายังศาลจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรับฟังคำสั่งจากศาลในครั้งนี้ด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง