ย้อนรอยคดีวิสามัญฆาตกรรม ชายหนุ่มวัย 17 ปี 'ชัยภูมิ ป่าแส' หรือ 'จะอุ๊' นักกิจกรรมเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อชาติพันธุ์ลาหู่ ผู้ซึ่งถูกปลิดชีพจากคมกระสุนของเจ้าหน้าที่ทหาร บริเวณด่านตรวจบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 หรือ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ด้วยข้อครหาที่เขาไม่มีแม้แต่โอกาสพิสูจน์ความบริสุทธ์ จาก 'ผู้ต้องสงสัยครอบครองยาเสพติดและอาวุธสงคราม' แต่กลับได้มาซึ่งสถานะ 'ผู้เสียชีวิต' ก่อนมีการนำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจปิดล้อมบ้านเกิดของชัยภูมิ ที่บ้านกองผักปิ้ง หมู่ 13 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อตรวจค้นยาเสพติด
เสียงกัมปนาทจากอาวุธสงคราม ที่เปรียบดั่งเพชรฆาตของเจ้าหน้าที่ทหาร 'ชัยภูมิ' สิ้นลมหายใจ โดยมีข้อกล่าวอ้างก่อนพบของกลางยาบ้าจำนวน 2,800 เม็ด ว่า เด็กหนุ่มชาวลาหู่ผู้ที่ขับเคลื่อนต่อสู้ทำกิจกรรมร่วมกับพี่น้องของเขา เพื่อต่อต้านยาเสพติดและสิทธิพลเมือง ดั่งคนพื้นที่ภูมิภาคอื่นบนผืนแผ่นดินไทย ได้ใช้กำลังขัดขืนเจ้าหน้าที่และควักระเบิดขว้างใส่ จึงถูกสังหารเป็นเหตุให้เสียชีวิตคาที่
เป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุการณ์ครั้งนั้น เมื่อถูกเผยแพร่ในสื่อหลายสำนักตลอดจนสื่อโซเชียลมีเดีย ได้ถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของพฤติกรรมเจ้าหน้าที่ทหารว่าเกินกว่าเหตุหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นของ 'กล้องวงจรปิด' ที่ถูกเรียกร้องให้มีการเผยแพร่ภาพความจริงของเหตุการณ์นั้น ไม่ได้ถูกนำมาเปิดเผยด้วยเหตุ 'ไม่มีภาพในกล้องวงจรปิด'
"เป็นผม ผมอาจกดออโต้ไปแล้ว"
ทว่าเมื่อเรื่องราวได้ลุกลามเป็นเหตุให้คนในสังคมเกิดข้อกังขา สื่อหลายสำนักได้โฟกัสจ่อไมค์ไปที่ 'พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาร' ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น หลังได้เปิดเผยว่าเคยเห็นภาพจากกล้องวงจรปิดแล้ว รวมถึงการกล่าวสำทับของ พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ ตำแหน่งแม่ทัพภาพที่ 3 ขณะนั้น ระบุว่าได้เห็นภาพจากกล้องวงจรปิดแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา(2560) และยังเป็นผู้กล่าววาทกรรมที่สร้างความฮือฮาต่อคดีนี้ คล้อยหลังเกิดเหตุได้ 6 วัน (23มี.ค.60) ว่า
"ถ้าเป็นผม ผมอาจ กดออโต้ไปแล้วก็ได้ นี่เขายิงไปนัดเดียว อีกคนขว้างระเบิด ผมว่าสมเหตุผล ในการป้องกันตนเอง เพราะทหารก็ยิงแขน แต่พลาดโดนจุดสำคัญ บุญของน้อง มีแค่นั้น"
นี่คือถ้อยคำของ 'ผู้ปกครอง' ที่ผู้ใต้บังคับชาของเขาเพิ่งสังหาร 'นักกิจกรรมวัย 17 ปี ' แม้ว่าจะมีการยื่นทวงถามภาพที่ 'ผบ.ทบ.และแม่ทัพภาคที่ 3' ได้อ้างว่าเห็นแล้ว ล่วงเลยมา 3 ปี ภาพหลักฐานชิ้นสำคัญก็ยังไม่เคยปรากฏ เป็นความคับข้องใจของญาติพี่น้องของ 'ชัยภูมิ' ตลอดมา
ความลำบากจากร่องลอยกระสุนปืน
"แม่ชัยภูมิลำบากมาก ไม่มีคนคอยดูแลตั้งแต่เขาเสียไป" คำบอกเล่าจาก ไมตรี จำเริญสุขสกุล ผู้ก่อตั้งกลุ่ม 'รักษ์ลาหู่' และยังเป็นผู้ดูแล 'ชัยภูมิ' กล่าวถึงผลกระทบและความทุกข์ยากที่มารดาของชัยภูมิจำต้องแบกรับ เมื่อลูกของเขาถูกพรากไปโดยไม่มีวันหวนกลับ
นับจากวันนั้นจนวันนี้ 'ไมตรี' ได้เข้าไปทำหน้าที่ดูแลแม่แทนน้อง บางวันแม่ของชัยภูมิ จะมากินข้าวที่บ้านเขา เพราะตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งของคนในชุมชนได้เริ่มต้นขึ้น 'แม่ชัยภูมิ' ไม่มีใครกล้าคบหาด้วยและถูกโดดเดี่ยวกลางยอดเขา เนื่องจากเพื่อนบ้านกลัวมีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยง
ปริศนาจาก 'กล้องวงจรปิด'
แม้เรื่องราวจะผ่านไป 3 ปี แต่ความคืบหน้าของกระบวนการยุติธรรมยังเป็นที่กังขาของครอบครัวชัยภูมิและตัวไมตรีเอง นั่นคือ 'ภาพความจริง' จากกล้องวงจรปิดที่หายไป
"ไม่เข้าใจทำไมเปิดไม่ได้ ทั้งที่บริเวณนั้นมีอยู่7-8 ตัว อย่างเหตุการณ์ที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ผมก็เห็นเขาเปิด กราดยิงกันในห้างก็เปิดได้ แต่ทำไมเคสของชัยภูมิ ถึงเปิดไม่ได้"
ไมตรี ตั้งข้อสังเกตเพราะตลอดการทวงถามที่ผ่านมา ตามที่ผู้นำระดับสูงของกองทัพ ได้พูดต่อสาธารณะว่าได้เห็นภาพแล้ว แต่พวกเขาไม่มี 'สิทธิ' ที่จะเข้าถึงความจริง ในเมื่อเจ้าหน้าที่ได้อ้างเหตุผลในการลงมือสังหารว่ามีการต่อสู้จากอาวุธสงครามและครอบครองยาเสพติด เขาเพียงหวังว่าจะได้พิสูจน์จากสายตาตัวเองเหมือนคำที่ 'ชัยภูมิ' ถูกกล่าวหา
เงินเยียวยาจากหนึ่งชีวีตที่หายไป
ภายหลังปี 2561 ศาลเชียงใหม่มีคำสั่งชี้ว่า 'ชัยภูมิ' เสียชีวิตจากกระสุนของพลทหารสุรศักดิ์ รัตนวรรณ ซึ่งใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิง ส่วนประเด็นที่มีข้อโต้แย้งของญาติที่ไม่เชื่อว่าผู้เสียชีวิตครอบครองยาเสพติดนั้น ศาลมิได้มีคำวินิจฉัยแต่อย่างใด และไม่ตัดสิทธิครอบครัวในการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่ง และขณะนี้อยู่ในชั้นอัยการศาลทหารเชียงใหม่ ล่าสุดการยื่นฟ้องทางแพ่ง เพื่อเรียกค่าเสียหายจำนวน 4 ล้านบาท โดยศาลได้นัดสืบพยานจำเลยและโจทย์ในวันที่ 4-5 สิงหาคม 2563 คาดว่าศาลจะตัดสินแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนปีนี้
อ่านเพิ่มเติม