ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3% สูงกว่าเงินเฟ้อ แต่มีแรงงาน 12% ได้ประโยชน์ ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำไทยสูงกว่ามาเลเซีย-ฟิลิปปินส์

หลังจากคณะกรรมการค่าจ้าง หรือ บอร์ดค่าจ้าง ประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแยกตามกลุ่มจังหวัด 7 กลุ่ม ตั้งแต่ 5-22 บาท จากเมื่อต้นปี 2560 เคยปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบ่งเป็น 4 กลุ่มจังหวัดมาแล้ว มติบอร์ดค่าจ้างล่าสุดจึงทำให้ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 315.97 บาทต่อวัน และคาดว่า จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่ 23 มกราคม นี้ พร้อมกับคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2561 

โดยการพิจารณาการปรับเพิ่มจากอัตราค่าจ้างเดิมในแต่ละจังหวัด ซึ่งเกณฑ์พิจารณามาจากอัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจรายจังหวัด 

นางสาวปางอุบล อำนวยสิทธิ์ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC จัดบทวิเคราะห์ประเมินผลการปรับขึ้นค่าแรง ปี 2561 ไว้ว่า ค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นเฉลี่ยราว 3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หลังจากการปรับในครั้งนี้ กลุ่มจังหวัดที่จะมีค่าจ้างขั้นต่ำสูงที่สุด ได้แก่ ภูเก็ต ชลบุรี และระยอง โดยขยับมาอยู่ที่ 330 บาทต่อวัน 

ขณะที่กลุ่มจังหวัดที่ค่าจ้างขั้นต่ำน้อยที่สุด ได้แก่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ขยับมาอยู่ที่ 308 บาทต่อวัน สำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะถูกปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปอยู่ที่ 325 บาทต่อวัน 

ทั้งนี้ จะมีแรงงานทั้งสิ้นประมาณ 12% ของจำนวนแรงงานทั้งหมดที่จะได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ โดยจะส่งผลให้ค่าจ้างสำหรับแรงงานกลุ่มดังกล่าวขยับขึ้นราว 3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นที่ใกล้เคียงกับการปรับเพิ่มเมื่อเดือนมกราคม 2560

ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอาจไม่ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของครัวเรือนถ้าการจ้างงานยังซบเซา เนื่องจากค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้น 3% ถือว่าเป็นอัตราที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อปี 2561 ที่ศูนย์วิจัยฯ คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อปีนี้น่าจะอยู่ที่ 1.1% เมื่อเทียบปีก่อน ทำให้ค่าจ้างที่แท้จริงจะปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มกำลังซื้อระดับฐานรากที่น่าจะได้รับประโยชน์โดยตรง 

อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อของคนกลุ่มนี้ยังมีความเสี่ยงจากสภาวะการจ้างงานที่ซบเซา เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา แม้ค่าจ้างขั้นต่ำจะถูกปรับเพิ่มขึ้นราว 2% แต่จำนวนการจ้างงานแรงงานกลุ่มนี้กลับลดลง 2.2% โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานที่ทำงานล่วงเวลาและรายได้เฉลี่ยต่อวันลดลง ทำให้กำลังซื้อในภาพรวมไม่ได้เพิ่มขึ้นตามการปรับเพิ่มของค่าจ้าง

อีกทั้ง การขึ้นค่าจ้างในช่วงที่ความต้องการแรงงานลดลงถือเป็นความเสี่ยงเพิ่มเติมต่อตลาดแรงงานที่ยังไม่ฟื้นตัว 

ไทยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามเพื่อนบ้าน

โดยการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน ขณะที่ประเทศอาเซียนส่วนใหญ่อยู่ในช่วงของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ อาทิ ฟิลิปปินส์มีการประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อเดือนตุลาคม 2560 เฉลี่ย 4.5% ทั่วประเทศ ขณะที่เวียดนามและกัมพูชาปรับค่าจ้างขั้นต่ำต่อเนื่องทุกปี ประมาณ 5% และ 9% ตามลำดับ ขณะที่อีกหลายประเทศมีแผนที่จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปีนี้ ได้แก่ ลาวและเมียนมาที่กำลังพิจารณาที่จะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เฉลี่ย 33% และ 25% ตามลำดับ 

สำหรับด้านต้นทุนแรงงานของไทยจะเพิ่มขึ้น แต่ในอัตราที่น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แม้ว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลให้ต้นทุนด้านแรงงานไทยให้สูงขึ้น แต่เมื่อเทียบกับการปรับเพิ่มค่าจ้างของประเทศในภูมิภาคอาเซียนแล้วถือว่าไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก ในทางกลับกันช่องว่างระหว่างค่าจ้างขั้นต่ำของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการที่ประเทศต่างๆ มีนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานในอัตราที่สูงกว่า 

ดังนั้น ต้นทุนด้านแรงงานของไทยที่เพิ่มขึ้นในครั้งนี้จะไม่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันมากนัก

อย่างไรก็ตาม ค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานไทยในปัจจุบันยังคงสูงสุดในภูมิภาคที่ประมาณ 9.50 – 10.00 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อวัน หรือ ประมาณ 313.50 - 330 บาทต่อวัน หลังการปรับขึ้น ตามมาด้วยฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ที่ 8 และ 7.6 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อวัน (หรือประมาณ 264 บาทต่อวัน และ 250.80 บาทต่อวัน ตามลำดับ)