ไม่พบผลการค้นหา
ตั้งแต่เมื่อไรกันที่มนุษย์สร้างภาพจำเกี่ยวกับทะเลว่า สัตว์ใจดีชอบช่วยเหลือผู้คนต้องเป็น ‘โลมา’ และเพชฌฆาตจอมเหี้ยมโหดต้องเป็น ‘ฉลาม’ มันอาจจะมาจากนิทาน การ์ตูนตอนวัยเยาว์ หรือภาพยนตร์สุดระทึกขวัญของสปีลเบิร์ก ซึ่งทำให้หลายๆ คนวิตกกังวลมาตลอดว่า การก้าวลงเล่นน้ำทะเลเสี่ยงต่อการเผชิญหน้ากับอันตรายจากบรรดาฉลามที่มักตรงเข้าจู่โจมจากใต้น้ำแบบไม่ทันตั้งตัว

ทว่าสำหรับแวดวงการอนุรักษ์ทางทะเล ฉลามกลับถูกมองเป็นสัตว์น้ำประเภทหนึ่งที่ ‘น่าสงสาร’ 

วอยซ์ ออนไลน์ จึงนัดหมายคุยกับ ‘ชิน-ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย’ หนุ่มนักนิเวศวิทยา นักวิจัย และช่างภาพสารคดีเชิงอนุรักษ์ ผู้ดำน้ำตามเก็บภาพเหล่าฉลามมาหลายน่านน้ำ ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ เพื่อส่งต่อหลากเรื่องราวน่าสนใจของพวกมันผ่านภาพถ่าย

ในวงการนักอนุรักษ์ ชินนับเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง และจากความมุ่งมั่นทุ่มเทแสวงหาความรู้ใหม่ๆ เสมอมา ส่งผลให้การทำงานของเขาเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คนไปไม่น้อย โดยชินเคยคว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกวดถ่ายภาพใต้น้ำ (Thailand Dive Expo Photo Competition) ประจำปี 2556 ต่อด้วยเข้ารอบสุดท้ายการประกวด 10 ภาพเล่าเรื่อง ของนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก (National Geographic) ประเทศไทย ประจำปี 2556

จากนั้น 3 ปีต่อมา ชินถูกจดจำในฐานะช่างภาพอิสระหัวใจรักษ์ทะเล เนื่องจากเขาเป็นผู้คว้ารางวัลชนะเลิศช่างภาพใต้น้ำระดับโลกจากมูลนิธิอนุรักษ์ท้องทะเล (Save Our Seas Foundation) ประจำปี 2559 จนกระทั่งปีถัดมา เขายินดีตอบรับการทาบทามให้เป็นหนึ่งในสปีกเกอร์บนเวที TEDxBangkok ประจำปี 2560

สำหรับข่าวฮือฮาเมื่อ 15 เมษายน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บจากการถูกลูกฉลามหัวบาตรกัด หลังจากลงเล่นน้ำบริเวณใกล้ชายฝั่งหาดทรายน้อย อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

กระแสข่าวโหนกันไปมาหลายทิศทาง บ้างหวั่นวิตกเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ขณะที่หลายคนกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อพื้นที่ท่องเที่ยวบริเวณนั้น บวกกับข่าวลือร้ายๆ ว่าจะเกิดการล่าฉลาม หรือกระทั่งย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมัน!

Shark 2

แน่นอนว่า ข่าวแพร่สะพัดเป็นดั่งลมพัดคลื่น พาหลายคนกลับเข้ามาสนใจในประเด็น และตระหนักรับรู้ปัญหาของสัตว์นักล่าในทะเลอีกครั้ง โดยศิรชัยในนามของผู้ช่วยวิจัยสถานวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย (Excellence Center for Biodiversity of Peninsular Thailand – CBIPT) แสดงความคิดเห็นว่า

“แม้ข่าวฉลามกัดคนดูเป็นเรื่องน่ากลัวของมนุษย์ แต่สำหรับฉลามแล้วนับเป็นเรื่องดี เพราะหากพลิกประเด็นกลับมาจะทำให้ทุกคนเห็นเรื่องราวความเป็นอยู่ของพวกมัน ซึ่งกำลังถูกให้ความสำคัญอีกครั้ง ถ้าทุกคนได้เข้าใจในมุมการทำงานอนุรักษ์จะทราบว่า เหตุการณ์ฉลามกัดคนเป็นเรื่องยากจริงๆ แม้คนในพื้นที่เองก็บอกว่า อาศัยอยู่มานานยังไม่เคยพบเจอเรื่องลักษณะดังกล่าว

“เนื่องจากบริเวณที่เกิดเหตุแบ่งเขตสำหรับลงเล่นน้ำ และอีกส่วนเป็นที่อยู่อาศัยของฉลามต่างคนต่างอยู่ แต่ข่าวบางสำนักกลับบอกว่า จะเกิดการไล่ล่าฉลามให้ออกไปจากพื้นที่ ซึ่งแท้จริงแล้วทางผู้ใหญ่ในพื้นที่บอกว่า ไม่มีเจตนาแน่นอน อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวผู้คนสนใจกันมากพอสมควร จึงสามารถยกความสำคัญของฉลามให้เห็นอีกครั้งหนึ่ง” 

ศิรชัยเล่าต่อว่า ที่ผ่านมา ด้านกลุ่มของนักวิชาการ นักดำน้ำ หรือนักอนุรักษ์ ทำงานเกี่ยวกับฉลามกันมาต่อเนื่องยาวนาน โดยเขาเพิ่มเติมข้อมูลน่าสนใจให้ฟังอีกด้วยว่า

“ฉลามหัวบาตร (Bull Shark) สายพันธุ์ที่เป็นข่าวกำลังสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไม่น้อย เพราะการเจริญเติบโตช้า การเดินทางเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ต้องใช้เวลานานหลายปี และกว่าจะพร้อมผสมพันธุ์อีก 15-20 ปี ตั้งท้องอีก 10 กว่าเดือน ออกลูกคราวละ 7-8 ตัว ในขณะที่ปลาอื่นๆ ออกไข่กันเป็นแสนๆ ฟอง” ชินเล่าข้อมูลที่ทำให้หลายๆ คนต้องเบิกตากว้าง

ในระบบห่วงโซ่อาหารมีความน่ายำเกรงของ ‘เสือ’ เป็นนักล่าลำดับสูงสุดในพงไพร เช่นเดียวกัน ‘ฉลาม’ ที่เป็นนักล่าหัวแถวในพื้นที่ใต้ท้องทะเล เพชฌฆาตผู้คอยควบคุมดูแลประชากรปลากินพืชให้มีจำนวนเหมาะสม ไม่สร้างความเสียหายของถิ่นอาศัยใต้ทะเล กำจัดปลาไม่แข็งแรง หรือป่วยเป็นโรค เพื่อไม่ให้สร้างความเดือดร้อนแก่สังคมใต้น้ำ และช่วยคัดแยกสายพันธุ์ปลาอื่นๆ ให้มีความหลากหลาย พร้อมกับปรับความสมดุลของระบบนิเวศ ซึ่งเป็นหัวใจหลักสำคัญของการทำหน้าที่นักล่า

ตลอดระยะเวลาหลายปีผ่านมา ฉลามมีอัตราการลดจำนวนลงมาก โดยตัวเลขสถิติจากหลายสำนักข่าวต่างบอกตรงกันว่า ใน 1 ปีพบฉลามตายเฉลี่ย 100 ล้านตัว บวกกับการวิจัยเรื่องการลดจำนวนของฉลามยังย้ำว่า พื้นที่ทะเลไทยเป็นอีกหนึ่งแห่งที่ปรากฏข้อมูลว่า ประชากรฉลามลดจำนวนลงรวดเร็วสุดในโลก และประเทศไทยยังขึ้นชื่อว่า เป็นผู้ค้าส่งออกหูฉลามลำดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย

“เรื่องอุตสาหกรรมหูฉลามของไทยหากพูดเป็นกลางที่สุดจะบอกว่า ไม่ใช่การฆ่าฉลามเอาครีบแล้วโยนร่างทิ้งลงทะเล เพราะฉลามในเมืองไทยส่วนใหญ่จะถูกจับมาจากการติดอวนลากขึ้นฝั่งทั้งตัว แล้วมีการซื้อไปตัดครีบส่งธุรกิจหูฉลาม แล่เนื้อทำปลาเค็ม ทำลูกชิ้น ฟันก็อาจนำไปขายให้กับร้านเครื่องประดับ หรือส่วนต่างๆ ทั้งหมดที่ใช้ประโยชน์ได้ก็ถูกนำไปขาย” ชินเล่าให้ฟัง

Shark.jpg

แม้ฉลามจะไม่ใช่สัตว์น้ำกลุ่มเป้าหมายในอุตสาหกรรมการประมง แต่การประมงที่ใช้เครื่องมือเฉพาะทางอย่าง ‘อวนลาก’ ทำให้หลายๆ สิ่งที่ไม่ได้ต้องการมักติดขึ้นมาบนบกมากมาย และบางส่วนของสัตว์ที่ติดอวนลากขึ้นมาไม่ใช่สัตว์ที่นิยมรับประทาน ขณะเดียวกันสัตว์บางชนิดยังเป็นประเภทเติบโตช้า ดังนั้น นอกจากฉลามจะถูกล่าไปส่งออกการค้าหูฉลามแล้ว ซ้ำยังติดอวนลากแบบหลีกหนีไมได้ ส่งผลให้ปริมาณฉลามลดลงต่อเนื่องทุกปี

อัตราเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของฉลามมีผลต่อสภาพแวดล้อมทางทะเล และการค้าขายฉลามยังคงดำเนินไปต่อเนื่อง แม้จะมีกฎหมายคุ้มครองฉลามบางชนิดแล้วก็ตาม แต่นั่นก็แค่บางชนิดเท่านั้น

“ทุกวันนี้ ยังไม่มีการตั้งกฎหมายห้ามล่าฉลามทุกชนิดในทะเล แต่ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เป็นผลกระทบต่อหลายๆ ส่วน มีการตักเตือนเรื่องการนำฉลามขึ้นบกจากทางหน่วยงานที่ดูแล ชาวประมง จึงเลี่ยงข้อตักเตือนดังกล่าว โดยการไม่เอาฉลามขึ้นโชว์บนแพขาย สิ่งที่เกิดขึ้นคือ กรมประมงทำงานวิจัยเก็บข้อมูลการเพิ่ม หรือลดจำนวนของพวกมันไม่ได้”

“สถิติต่างๆ ก็จะบิดเบือนไปหมด ฉลาม หรือปลาบางชนิดกลายเป็นการซื้อขายแบบตลาดมืดมากยิ่งขึ้น” ช่างภาพนักอนุรักษ์เล่าให้ฟัง

ความหลากหลายของนิเวศวิทยาทางทะเลที่ลดลงมาจากปัจจัยอันหลากหลาย เช่น การทำประมงมากเกินขนาด ความสมบูรณ์ของทะเลที่หายไป สภาพอากาศของโลกเปลี่ยนแปลง เป็นต้น ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตในทะเลลดจำนวนลง

นอกจากนั้น ชินยังเอ่ยถึงบทความวิเคราะห์ของโบริส เวิร์ม (Boris Worm) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยดัลฮูซี (Dalhousie University) ในประเทศแคนาดา ที่น่าเป็นกังวลว่า

“ปลาน้ำเค็มอาจสูญพันธุ์ลงไปในปี 2048 เนื่องมาจากการจับปลาเกินขนาดส่งผลให้สังคมใต้น้ำถูกรบกวนมากเกิน และเปลี่ยนแปลงไป ความสมดุลที่เคยมีอาจไม่มี เมื่อวันเวลาดังกล่าวมาถึงก็จะเกิดการล่มสลาย ดังนั้น อุตสาหกรรมการประมงจึงเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทะเล และสัตว์ในทะเลไม่น้อยในตอนนี้” เขากล่าวทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงหนักแน่นจริงจัง