ไม่พบผลการค้นหา
'เอกชน' ปรับตัว-พัฒนา สินค้าอุตสาหกรรม ขณะนโยบายภาครัฐยังไม่ชัดเจน

องค์ประกอบสำคัญในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จคือการรู้จักพัฒนาสินค้าและบริการของตนอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกเต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดและล้ำหน้า การหยุดอยู่กับที่มีค่าไม่ต่างกับการฆ่าตัวตาย

ความพยายามในการผลักดันอุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมที่มีการพัฒนาโดยวิทยาศาสตร์เป็นหลักของไทย มีมาตั้งแต่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในสมัยแรก และความพยายามนี้ก็ถูกส่งต่อมายังรัฐบาลประยุทธ์ชุดที่ 2

ในงาน "Thailand Industry Expo 2019" นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ออกมากล่าวถึงความพยายามในการสนับสนุนอุตสาหกรรมไทยโดยเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม จากการพัฒนาความเชื่อมโยงของดิจิทัลกับอุปกรณ์ เครื่องจักร และแรงงาน อย่างไรก็ตาม นโยบายหลายฉบับที่ออกมายังขาดความชัดเจน และดูเหมือนจะยังเข้าไม่ถึงความต้องการของผู้ประกอบการที่แท้จริง

'แตกต่าง' เพื่อ 'อยู่รอด'

เมื่อความช่วยเหลือและนโยบายสนับสนุนของภาครัฐยังไม่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับฝั่งอุตสาหกรรมได้มากนัก ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องหาทางหนีทีไล่ด้วยตัวเอง สำหรับ 'ควิกอีอาร์พี' บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์สัญชาติไทย เลือกที่จะผสมผสานเทคโนโลยีการวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กรโดยรวม หรือ อีอาร์พี ที่บริษัทเชี่ยวชาญมากว่า 14 ปี เข้ากับ ระบบหุ่นยนต์ออโตเมชัน เพื่อสร้างความแตกต่างในวงการ

Thailand Industry Expo

'ประสาน แซ่ลี' ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัทควิกอีอาร์พี กล่าวว่า ปัจจุบันตัวเลขการเติบโตของบริษัทอยู่ที่ร้อยละ 10 - 15 ต่อปี โดยลูกค้าส่วนใหญ่ยังเป็นบริษัทในไทย พร้อมเสริมว่าคู่แข่งของบริษัทในตอนนี้ยังมีไม่มาก เพราะบริษัทในไทยจะแยกเป็นฝั่งที่พัฒนาอีอาร์พี หรือฝั่งที่พัฒนาหุ่นยนต์ 

Thailand Industry Expo
"คู่แข่งยังน้อย เพราะเรามีการผสานเทคโนโลยี คนอื่นยังไม่ค่อยมี" ประสาน กล่าว

จับมือภาครัฐแล้วจะรุ่ง

ขณะที่นโยบายภาครัฐยังไม่สามารถเข้าถึงทุกอุตสาหกรรมได้ แต่การเลือกเดินไปคุยกับรัฐวิสาหกิจดูจะเป็นทางเลือกที่ถูกต้องในการทำธุรกิจ

Thailand Industry Expo

'นัฎฐา ศรีทุมมา' ผู้ให้คำปรึกษาด้านผลิตภัณฑ์ ของอีฟ ไลท์ติ้ง บริษัทพัฒนาสินค้าและอุปกรณ์พลังงาน พูดถึงผลิตภัณฑ์โซลาร์บนหลังคาว่า ปัจจุบันบริษัทมีความร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. ทำให้ประชาชนที่ซื้อสินค้ากับบริษัทสามารถขายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้เกินกลับเข้าไปให้ กฟน. ได้ ขณะที่ประชาชนที่ซื้อสินค้ากับบริษัทอื่นยังไม่สามารถขายกระแสไฟฟ้าคืนให้กับ กฟน. ได้

ความพยายามในการเอาตัวรอดจากการแข่งขันที่สูงในภาคอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ แต่กลับเป็นสิ่งที่สะท้อนความไม่มีประสิทธิภาพและช่องโหว่เรื่องนโยบายของภาครัฐอย่างชัดเจน

การได้คณะรัฐมนตรีรวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคงจะสร้างความหวังให้ผู้ประกอบการได้บ้าง แต่จะเป็นเพียงความหวังลมๆ แล้งๆ หรือไม่ ก็ต้องรอดูกันที่ผลงาน