แต่คุณอาจตกใจเมื่อเห็นชื่อของ ‘อารีย์’ ติดอยู่ในลิสต์ย่านเดินได้เดินดีของกรุงเทพฯ ด้วยคะแนน ‘GoodWalk Score’ บอกระดับศักยภาพการเดินของย่านสูงถึง 72 คะแนน ทั้งที่ความจริงแล้วก็เห็นกันอยู่ว่า ทางเดินเท้าย่านอารีย์ยังขาดความต่อเนื่อง ถนนไม่มีทางม้าลาย ซอยตัน แสงสว่างไม่เพียงพอ และเสี่ยงต่ออาชญากรรม ดังนั้น ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center: UddC) แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงชวนตัวแทนจากสำนักงานเขตพญาไท ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ มาตั้งวงเสวนาในหัวข้อ ‘AREE YOU READY?’ เพื่อสำรวจความพร้อมของ ‘อารีย์’ กับการพัฒนาเป็นย่านเดินเท้าของทุกคน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง เปิดฉากด้วยการเล่าผลการศึกษาระยะที่ 2 ของโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี (GoodWalk) อย่างน่าสนใจว่า ย่านอารีย์มีสภาพแวดล้อมการเดินเท้าค่อนข้างดี และเริ่มเกิดการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานเขต ผู้อยู่อาศัย ร้านค้าแผงลอย และภาคประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนย่านด้วยมุมมองใหม่ ๆ ซึ่งเป็นจุดสำคัญของการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายออกมาหารือร่วมกันเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมการเดินเท้าที่คนทุกกลุ่มในย่านต้องการ
ทว่าปัญหาใหญ่ของการพัฒนาย่านเดินได้ในกรุงเทพฯ คือโครงสร้างปราบเซียนของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะโครงข่าย เนื้อเมือง และเส้นถนนที่ไม่ค่อยเป็นระเบียบเรียบร้อย นอกจากนั้น ข้อมูลจาก ดร.นิรมล ยังระบุลึกลงไปอีกว่า ปัจจุบันภาครัฐยังไม่ให้ความสำคัญกับระบบสาธารณูปโภคด้านการเดินเท้าเท่าที่ควร เพราะ 4 เขตเมืองชั้นในได้รับงบประมาณในการปรับปรุงทางเดินเท้าจากกรุงเทพมหานครเฉลี่ยเพียง 7 ล้านบาทต่อย่านต่อปี ทำให้คนกรุงเทพฯ จำเป็นต้องแบกรับต้นทุนการใช้ชีวิตสูง
“เงิน 7 ล้านบาทมันน้อยมาก ๆ เป็นไปไม่ได้กับการนำมาพัฒนาให้ทางเดินเท้ามีสภาพดี สวยงาม สะอาด แสงสว่างเพียงพอ ร่มเงาเพียงพอ ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่า ภาครัฐยังไม่พร้อมลงทุนกับสาธารณูปโภคการเดินเท้า แต่กลับมองไปที่การพัฒนาการสัญจรทางรถยนต์ ระบบถนน และระบบราง” ดร.นิรมลกล่าว
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ เจ้าของหนังสือ ‘เมือง กิน คน’ และอาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นเสริมว่า ต้นเหตุที่ทำให้กรุงเทพฯ ไม่สามารถพัฒนาเป็นเมืองเดินได้เดินดีมาจากผังเมืองของกรุงเทพฯ ไร้การวางแผน และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนในการออกแบบผังเมือง
“เวลาพูดถึงผังเมืองกรุงเทพฯ มันดูใหญ่มากเกินไป และเวลาพูดกันใหญ่มากเกินไปมันทำให้ไม่มีความลุ่มลึก เมื่อไรก็ตามที่พูดถึงผังเมืองกรุงเทพฯ ทุกคนจะรู้สึกไม่มีส่วนเกี่ยวของ แต่จะไปคิดถึงผังระบายสี หรือเห็นมันเป็นสิ่งเกะกะ และหากใครมองหาบเร่แผงลอยเป็นความเกะกะ จริง ๆ แล้วมันอาจจะเกะกะน้อยกว่าสาธารณูปโภคของรัฐที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือสาธารณูปโภคที่ล้าสมัย เช่น ตู้โทรศัพท์ เพราะมันใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้”
ดร.พิชญ์ กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงควรเริ่มต้นจากการจัดทำผังเขต และทุกคนที่อาศัยอยู่ในเขตควรร่วมกันออกแบบ แต่อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของประเทศไทยคือ ไม่เคยมีการจัดทำผังเขตให้ชัดเจน บวกกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตนั้น ๆ ไม่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของร่วม เพื่อสร้างคาแรคเตอร์ของเขตอย่างจริงจัง
“เวลามองภาพเมืองนิวยอร์กเราจะเห็นเสน่ห์ของแต่ละเขต แต่ของกรุงเทพฯ ผมกลับไม่แน่ใจ ทำให้เวลาเดินแล้วไม่รู้เป้าหมาย คือทุกคนกำลังพยายามทำให้เขตของตัวเองกลายเป็นธีมปาร์ก เอาแกะมาเลี้ยง ปลูกดอกทิวลิป ด้วยความไม่เข้าใจในคาแรคเตอร์ของเขตตัวเอง ปัจจุบันกรุงเทพฯ มี 50 เขต แต่ยังไม่มีใครเคยรู้ว่า แต่ละเขตแตกต่างกันอย่างไร เพราะภาครัฐมองเห็นแค่การบริหาร และพยายามปรับสภาพตัวเองให้อยู่ได้เท่านั้น”
ถัดมา สุวรรณา คำวงค์ปิน ตัวแทนกลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอยย่านอารีย์ แสดงความเห็นในฐานะผู้พิการทางสายตาว่า ย่านอารีย์เดินได้ค่อนข้างสะดวก เพราะเป็นย่านที่ผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถสอบถามทาง หรือขอความช่วยเหลือจากคนอื่นได้ตลอด ทำให้เธอรู้สึกไม่กังวลเรื่องความปลอดภัยมากนัก
แต่เมื่อถามถึงสิ่งอำนวยความสะดวกอย่าง ‘เบรลล์บล็อก’ ซึ่งเป็นทางเดินที่มีปุ่มกลม ๆ สำหรับช่วยผู้พิการทางสายตา สุวรรณาให้คำตอบว่า
“มันไม่สามารถใช้งานได้จริง เพราะมันไม่เว้นสิ่งกีดขวางอะไรให้เลย เช่น ถังขยะ น้ำขัง เสาไฟฟ้า ทำให้เวลาเดินลำบาก คือเราต้องพยายามหนีจากเบรลล์บล็อกแล้วไปเดินข้าง ๆ ดีกว่า”
ขณะเดียวกัน โตมร ศุขปรีชา นักเขียน นักแปล และบรรณาธิการ เป็นอีกหนึ่งคนที่มีประสบการณ์ร่วมกับย่านอารีย์มาตั้งแต่ปี 2535 จากการทำสารคดีเรื่องนกในเมือง และได้เดินทางมาดูนกที่เวตแลนด์ใจกลางอารีย์ ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนไปเป็นกรมประชาสัมพันธ์เรียบร้อยแล้ว
“ด้วยลักษณะเป็นกริด เป็นบล็อก เป็นซอยย่อย ทำให้ย่านอารีย์ง่ายต่อการทำความเข้าใจแผนผัง และพัฒนาการของย่านอารีย์เริ่มต้นจากการที่รถไฟฟ้าวิ่งผ่าน และการเกิดขึ้นของคอมมูนิตี้มอลล์ ทำให้กลายเป็นกระบวนการ Urbanization หรือการขยายตัวความเป็นเมืองเพิ่มมากยิ่งขึ้น และปัจจุบันพบเห็นได้หลายที่ เช่น นิมมานเหมินท์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมาพร้อมความขัดแย้งระหว่างคนอยู่เก่ากับคนใหม่ที่พยายามดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา แต่อารีย์อาจจะอยู่ในระยะเริ่มต้นยังไม่ถึงขั้นนิมมานเหมินท์ แต่จะดูแลจัดการประคับประคอบกันต่อไปในอนาคตอย่างไร เป็นคำถามที่ทุกฝ่ายต้องมาหาคำตอบร่วมกัน”
ไชยา โชติวรรธกวณิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตพญาไท เล่าภาพรวมของย่านอารีย์ว่า เนื่องจากราคาที่ดินของย่านอารีย์มีราคาสูง แค่เพียง 5 เซนติเมตรก็ต้องฟ้องร้องเอาชนะกันให้ได้ ซึ่งบางทีมันเป็นตัวตอบโจทย์ว่า ทุกผ่ายจะอยู่ร่วมย่านกันได้อย่างไรถ้าไม่มีใครเสียสละ
“ต้องยอมรับความจริงว่า ชุมชน การเดินทาง และต้นไม้ ทุกคนต่างก็มีเป้าหมายเป็นของตัวเอง บ้านใคร ๆ ก็ต้องการพื้นที่เยอะ ๆ แต่ทางราชการก็ต้องมีพื้นที่สาธารณะที่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ จึงอยากขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพราะในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ เราพยายามให้ทุกคนไม่มีความกระทบกระทั่งกัน และผมไม่สามารถไปบีบบังคับใครให้เขาเสียสละ มันเป็นเรื่องของจิตสำนึก ทุกคนต้องเข้าใจในสัจธรรมว่า ถ้าทางเท้ากว้าง ถนนจะแคบ ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง”
ความจริงอารีย์เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของคนสูง เพราะเต็มไปด้วยแหล่งงาน แหล่งท่องเที่ยว และที่อยู่อาศัย เป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ เพราะฉะนั้น ภาพของอารีย์ในอนาคตควรจะได้รับการพัฒนาให้เป็นย่านเดินทางที่ผู้สูงอายุ คนพิการ สามารถออกมาใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันได้มากยิ่งขึ้น ไชยากล่าวทิ้งท้าย
ขอขอบคุณภาพจาก GoodwalkThailand