คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา ห้องเรียนเผด็จการ "ถอดบทเรียนการเมืองร่วมสมัย" ส่วนหนึ่งของรายวิชาสัมมนาการเมืองการปกครองไทย หรือ ร.424 เพื่อทำความเข้าใจว่า เหตุใดระบอบเผด็จการจึงเติบโตเเละสามารถดำรงอยู่ได้ทุกยุคทุกสมัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือ “เผด็จการวิทยา” ระบุว่า การเข้าใจเผด็จการจำเป็นในทางรัฐศาสตร์ แม้จะรังเกียจก็ตาม ซึ่งเผด็จการเกิดได้ในทุกระบบการเมือง ในฐานะรูปแบบหนึ่งของการใช้อำนาจและขาดการตรวจสอบ ขณะที่ระบบเผด็จเบ็ดเสร็จจริงๆ ก็มีในโลกปัจจุบัน ที่ต่างล้วนใช้การเลือกตั้งสร้างความชอบธรรมในการครองอำนาจด้วย ซึ่งต้องสนใจยุทธศาสตร์ในการรักษาและใช้อำนาจ รวมถึงการกลายสภาพจากประชานิยมในสังคมประชาธิปไตยสู่การเป็นเผด็จการได้ด้วย ที่สำคัญเผด็จการไม่ได้เกิดขึ้นโดดๆ แต่มักจะมีกองหนุน อย่างมวลชนผู้ฝักใฝ่ระบบนี้เสมอ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ.พิชญ์ กล่าวด้วยว่า สังคมไทยมีบทเรียนเกี่ยวกับเผด็จการในอดีตหลายรอบ ล่าสุดคือหลังการรัฐประหารปี 2534 ที่มีพรรคสามัคคีธรรมเกิดขึ้นสำหรับสืบทอดอำนาจ ขณะที่การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง เชื่อว่า ผู้มีอำนาจอยากอยู่ในอำนาจต่อ แต่ไม่มั่นใจว่าจะชนะเลือกตั้ง หลังจากเลื่อนมาหลายครั้งและสร้างกลไกต่างๆ ขึ้น ดังนั้น การเลือกตั้งแค่เสรีและเป็นธรรมไม่เพียงพอ แต่ต้องมีความหมายด้วย อย่างน้อยที่สุดต้องให้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ได้ที่นั่ง ส.ส. มากที่สุด แม้จะจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ก็ตาม เพื่อเป็นการแสดงให้ฝ่ายตรงข้ามเห็นว่าจะครองอำนาจต่อไปไม่ได้โดยง่าย
นายณัชปกร นามเมือง คณะทำงานโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw กล่าวว่า คสช.ทั้งใช้และทำลายกฎหมายไปพร้อมๆ กัน ส่วนกองหนุนสำคัญของ คสช. นอกจาก ระบบราชการ,ศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลสถิตยุติธรรมทั่วไปหรือศาลทหารและกองทัพแล้ว ยังมีแม่น้ำ 5 สาย ที่แต่งตั้งโดย คสช. จึงเป็นเนื้อเดียวกันแต่แบ่งหน้าที่กันใช้อำนาจทั้งผ่านกฎหมายและแต่งตั้งบุคคลในองค์กรสำคัญๆ อย่างองค์กรอิสระ ที่กลายมาเป็นกองหนุนสำคัญของ คสช.อีกทอด และทรงพลังอย่างยิ่ง
นายณัชปกร นามเมือง คณะทำงาน iLaw
นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีวาระ 5 ปีและไม่มีช่องทางให้ยุติบทบาทหรือถอดถอนได้อีกด้วย เช่นเดียวกับ ส.ว.แต่งตั้งที่ออกแบบไว้ และยังมีพรรคการเมืองที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ที่ล้วนเป็นกองหนุนและเครื่องมือสำคัญของ คสช.
ด้าน นางสาวณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมกลุ่มพลังมด ระบุว่า นอกเหนือจากใช้กฎหมายสร้างความชอบธรรมให้และนิรโทษกรรมให้ตัวเองแล้ว รัฐบาล คสช.ยังสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว จากการคุกคามผู้เห็นต่าง โดยมีกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ นับตั้งแต่การปรับทัศนคติ การคุกคาม จนถึงยัดข้อหาต้องขึ้นศาลและถูกจำคุก ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก
ทั้งนี้ นางสาวณัฏฐา ยังเปรียบการเลือกตั้งที่จะถึงเป็นเสมือนสงคราม เพราะผู้ครองอำนาจใช้ทุกยุทธวิธีเพื่อชัยชนะ โดยเฉพาะการต่อรองผลประโยชน์ ที่มีกระแสข่าวการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม หรือ แลกกับคดีความ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการเมืองไทย ดังนั้น ฝ่ายประชาธิปไตยเลือกตั้ง จำเป็นต้องต่อสู้ทุกวิถีทางที่อารยะ ลงแรงให้มากกว่านี้อย่างเอาการเอางาน โดยเฉพาะการร้องเรียนในสิ่งไม่ชอบมาพากลทั้งมวล และยังไม่สามารถเชื่อได้ว่า การเลือกตั้งจะเป็นผลดีต่อสังคม หาก คสช.การสืบทอดอำนาจสำเร็จผ่านสิ่งที่ออกแบบไว้แล้ว