กองกำลังผสมจากกองทัพไทย-สหรัฐอเมริกา -เกาหลีใต้ เปิดฉากฝึกปฏิบัติยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก โดยปูพรมยึดหัวหาดยาว อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ในการฝึกคอบร้า โกลด์ 2018 ซึ่งในปีนี้มีกำลังพลเข้าร่วมฝึกจาก 3 กองทัพ จำนวน 2,500 นาย
ในส่วนของการแสดงแสนยานุภาพทางการทหาร กองทัพสหรัฐฯ ได้นำเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ USS Bonhomme Richard เข้าร่วมการฝึก ส่วนกองทัพเกาหลีใต้ ได้ส่งกำลังพลจากหน่วยนาวิกโยธิน จำนวน 300 นาย ด้านกองทัพไทยได้จัดชุดโจมตีทางอากาศ 1 กองร้อย พร้อมฝูงบิน F16 ร่วมฝึกด้วย
โดยในวันนี้ (17 ก.พ.) พล.อ.อ.สุทธิพงษ์ อินทรีย์ยงค์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด (รอง ผบ.สส.) ผู้แทนจากกองทัพสหรัฐฯ และผู้แทนจากกองทัพเกาหลี ร่วมชมการฝึกและถ่ายรูปหมู่ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจ โดยมีผู้บัญชาการทหารระดับสูงทั้ง 3 ชาติเข้าร่วม
(พล.อ.อาวุโสมินอ่องหล่ายน์แห่งเมียนมา เข้าพบ พล.อ.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผบ.สส.ของไทย)
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์และเอเอฟพี/ฟรอนเทียร์เมียนมา รายงานว่าการฝึกซ้อมรบระหว่าง 3 ประเทศครั้งนี้มีการเชิญตัวแทนกองทัพอีกหลายประเทศที่เป็นพันธมิตรเข้าร่วมด้วย แต่ประเด็นที่ทำให้การฝึกถูกวิพากษ์วิจารณ์คือการเชิญตัวแทนกองทัพเมียนมาร่วมสังเกตการณ์การฝึกช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งที่กองทัพเมียนมาถูกนานาประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ โจมตีในฐานะที่เกี่ยวข้องกับการล้างเผ่าพันธุ์และละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของเมียนมา
ก่อนหน้านี้ นิกกี เฮลีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC ไต่สวนข้อเท็จจริงว่ากองทัพเมียนมาว่ามีนโยบายอย่างไรในการปราบปรามชาวโรฮิงญา ซึ่งตัวแทนของกองทัพเมียนมาแถลงว่า ทหารไม่เคยพุ่งเป้าโจมตีพลเรือน แต่ยอมรับว่ามีการสังหารสมาชิก 'กลุ่มก่อการร้าย' เกิดขึ้น
แต่การเปิดโอกาสให้กองทัพเมียนมาเข้าร่วมการฝึกคอบร้าโกลด์ครั้งนี้ ทำให้สหรัฐฯ ถูกกดดันจากประเทศสมาชิกยูเอ็นเอสซีเช่นกัน ทำให้สหรัฐฯ ออกมายืนยันว่า ทหารเมียนมาไม่ได้ร่วมฝึกซ้อมรบใดๆ แต่มาร่วมสังเกตการณ์ตามคำเชิญของฝ่ายไทย
(ภาพจากเฟซบุ๊ก: Senior General Min Aung Hlaing )
ส่วนพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่ายน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา เผยแพร่ภาพผ่านเฟซบุ๊กของตนเอง โดยระบุว่าเขาได้รับคำเชิญจากพลอากาศเอกธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของไทย ให้เดินทางเยือนไทยเพื่อทำหน้าที่ทูตสันถวไมตรี
โดยเมื่อวานนี้ (16 ก.พ.) พล.อ.อาวุโสมินอ่องหล่ายน์ได้เข้ารับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่กองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการส่งเสริมความร่วมมือในกรอบทวิภาคีระหว่างกองทัพของทั้งสองประเทศ และได้เข้าพบพลเอกเปรม ติณณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรีอีกด้วย
ด้านแมตต์ สมิธ ผู้อำนวยการโครงการด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 'ฟอร์ติไฟไรท์ง ระบุว่า รัฐบาลไทยควรรับฟังเสียงเรียกร้องจากนานาชาติซึ่งกดดันให้กองทัพเมียนมาแสดงความรับผิดชอบกรณีล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา เพราะ พล.อ.อ.อาวุโสมินอ่องหล่ายน์เป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงกรณีทหารเมียนมาก่อเหตุข่มขืนและละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญา แต่ผู้ก่อเหตุจำนวนมากกลับลอยนวลพ้นผิด ไม่มีการลงโทษใดๆ เกิดขึ้น
อ่านเพิ่มเติม: