ไม่พบผลการค้นหา
เวทีสัมมนาเลือกตั้งขั้นต้นทางออกการเลือกตั้ง - ทางตันประชาธิปไตย อดีต กกต.จวกระบบไพรมารีโหวตไม่สะท้อนตัวแทนจังหวัดแท้จริง ออกแบบมากลัวพรรคใหญ่ชนะเลือกต้ัง แกนนำพรรค ชทพ.แนะควรใช้แบบรายภาค หวั่นเอื้อผู้มีอิทธิพลกำหนดตัวผู้สมัครเลือกตั้ง

วิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนา "การเลือกตั้งขั้นต้น : ทางออกการเลือกตั้งหรือทางตันประชาธิปไตย ?" โดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า หลักการระบบไพรมารีโหวตนั้นดี แต่กำลังจะกลายเป็นทางตันของประชาธิปไตย แม้แรกเริ่มเดิมทีจะเป็นทางออกของการเลือกตั้ง เนื่องจากมีการแก้ไขในบทเฉพาะกาล ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ให้มีตัวแทนเขต-ระดับจังหวัดเพียง 100 กว่าคน มาเลือกตัวแทนผู้ลงสมัครของแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งไม่ได้สะท้อนความเป็นตัวแทนคนทั้งจังหวัดอย่างแท้จริง จึงเป็นเพียงพิธีกรรมที่หลอกลวง

"สะท้อนอคติและความไม่มีวุฒิภาวะของผู้ออกกฎหมายเอง ที่กลัวพรรคขนาดใหญ่ชนะการเลือกตั้งและออกแบบมาเอื้อให้ผู้มีอำนาจได้เปรียบทางการเมือง ไม่ได้ใช้ปัญญา นำระบบจากต่างประเทศนี้ มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสังคมไทยอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม การเริ่มใช้ระบบนี้ อาจมีความวุ่นวายตามมา แต่ต้องค่อยๆพัฒนาต่อไป ไม่ควรยกเลิกแนวคิดไพรมารีโหวตในระบบการเมืองไทย" นายสมชัย ระบุ

ชทพ. แนะไพรมารีโหวตเป็นรายภาค

ขณะที่ นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ปัญหาของระบบการเมืองไทย คือการลอกเอาของประเทศอื่นมาใช้ ขณะที่พฤติกรรมการเลือกตั้งของคนไทยแตกต่างและมีปัญหา ทั้งการขายเสียงและเลือกเพราะผลประโยชน์เฉพาะหน้า โดยเฉพาะการที่ผู้มีสิทธิถูกบังคับโดยกฎหมายให้ต้องไปเลือกตั้ง ทั้งที่ประเทศประชาธิปไตยอื่นๆไม่ได้บังคับ แต่ก็มีผู้ที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามเจตจำนงค์ของตัวเองจริงๆเช่นกัน ดังนั้น กฎหมายที่เกี่ยวข้องจึงเป็นปัญหา ทั้งที่ รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้มีระบบไพรมารีโหวต แต่มากำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองเท่านั้น ซึ่งยังเอื้อให้ผู้มีอิทธิพลกุมสภาพการเลือกตัวแทนพรรคได้อยู่

นายนิกร เห็นว่า ควรคงระบบไพรมารีโหวตไว้ แต่ควรใช้แนวทางที่ กรธ.เสนอแบบเลือกเป็นภาค หรือให้ส่งผู้สมัครในเขตที่พร้อมก่อน แต่กฎหมายปัจจุบันล็อกทุกอย่างไว้ ซึ่งพรรคขนาดเล็กอาจทำไม่ได้ ทั้งค่าใช้จ่ายและการหาสมาชิก ส่วนพรรคขนาดใหญ่ ที่มีสมาชิกพรรคจำนวนมาก ก็จัดการไพรมารี่โหวตอยากเช่นกัน 

ด้าน รศ.ยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าวว่า ไพรมารีโหวต เป็นเพียงเทคนิคทางการเมือง ไม่ได้ช่วยพัฒนาประชาธิปไตย อีกทั้ง ไพรมารีโหวตในกฎหมายพรรคการเมือง ปี 2560 อาจนำสู่ภาวะประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่น หรือ ไม่เสรี เพราะทำให้พรรคการเมืองไม่ได้เติบโตโดยธรรมชาติ

ไชยยันต์ ไชยพร 22475.jpg

นักวิชาการ ชี้ไพรมารี ทำข้าราชการไม่กล้าสมัครสมาชิกพรรค

ด้าน ศ.ไชยยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปาฐกถาพิเศษ “ไพรมารีโหวต : จุดเปลี่ยนการเมืองไทย” โดยระบุถึงการใช้ระบบไพรมารีโหวต ที่จะทำให้ประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองกำหนดนโยบายและตัวแทนลงสมัครเลือกตั้งได้ เป็นการส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ครั้งแรกนี้ที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ประกาศใช้ เชื่อว่า ข้าราชการส่วนใหญ่จะไม่สมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือแสดงตัวใช้สิทธิไพรมารีโหวต เพราะกลัวว่าจะกระทบกับหน้าที่การงาน หากผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่คนละพรรคการเมือง ส่วนคนที่จะไปใช้สิทธิไพรมารีโหวต จะเป็นคนที่ไม่เสียประโยชน์หรือไม่ได้รับผลกระทบจากการใช้สิทธิ

ศ.ไชยยันต์ ชี้ว่า ถ้าจะให้กฎหมายฉบับบนี้ประสบความสำเร็จตามเจตนารมณ์ ต้องให้ผู้ร่างฯ อย่าง พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม รวมไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และชนชั้นนำที่กุมอำนาจรัฐปัจจุบัน สมัครสมาชิกพรรคการเมืองและเปิดตัวในการไปไพรมารีโหวต พร้อมทั้งประกาศเชิญชวนและการันตีว่าการสังกัดพรรคการเมืองของข้าราชการจะไม่กระทบหน้าที่การงานและส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วย