เป็นข่าวมานานตั้งแต่กลางปีก่อนเรื่องการแยกทางกันเดินของพี่น้อง 2 ป. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพื่อเตรียมรับศึกเลือกตั้งในช่วงบั่นปลายสมัยรัฐบาลสืบทอดอำนาจประยุทธ์ 2 และเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า พล.ประวิตร ยังคงอยู่กับพรรคปลังประชารัฐเช่นเดิม ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ เดินทางเข้าร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ
เมื่อพรรคสืบทอดอำนาจแตกตัวเป็นสองพรรค โดยยังมีหัวเป็น 2 นายพลผู้ทำรัฐประหารล้มอำนาจรัฐบาลเมื่อปี 2557 ครั้งนี้ขุนพลข้างกายของทั้งคู่ไม่ใช่นายทหาร หากแต่เป็นนักการเมืองซึ่งพยายามจะทำให้พวกได้กลับมามีอำนาจบริหารอีกครั้งจากการเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึง
วอยซ์ ชวนสำรวจรายชื่อ และภูมิหลังพื้นเพของนักการเมืองที่ถูกมองว่าเป็น ขุนพลคนสำคัญของทั้งคู่ งานนี้ยังไม่แน่ชัดนักว่า แตกแล้วโต หรือ แตกแล้วตาย
1.พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
อดีตมือปราบเว็บไซต์หมิ่นฯ
คนแรกของฝั่ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นใครไปไม่ได้นอกจาก พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ บ้านหลังใหม่ของพล.อ.ประยุทธ์
ชื่อชั้นของ พีระพันธุ์ เขาเคยขึ้นสู่จุดสูงสุดทางการเมืองในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (2551-2554) ในอดีตเขาเคยเป็นผู้พิพากษา ก่อนจะผันตัวมาเข้าสู่สนามการเมืองภายใต้สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ชนะการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2539 ได้เป็น ส.ส.กทม. เขตห้วยขวาง ดินแดง พญาไท และได้รับการเลือกตั้งเรื่อยมา ไม่ว่าจะอยู่ในระบบแบ่งเขตหรือบัญชีรายชื่อ และการเลือกตั้งครั้งล่าสุด 2562 เขาอยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ ลำดับที่ 16
ผลงานโดดเด่นที่สร้างชื่อเสียงให้กับพีระพันธุ์ มีหลายเรื่องทั้งการสอบสวนการทุจริต "ค่าโง่ทางด่วน 6,200 ล้านบาท" การตรวจสอบการทุจริตจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ของกองทัพ อีกทั้งเขายังเคยเป็น รองประธานนคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะอนุกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามเว็บไซต์หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยในครั้งนั้นทางอนุกรรมการได้ จัดทำเว็บไซต์ protecttheking.net ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการดำเนินการรับแจ้งเบาะแสการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและดำเนินการปราบปรามรวมถึงดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดให้หมดสิ้น
หลังการเลือกตั้งปี 2562 ได้ไม่นาน ในเดือน ธ.ค. 2562 พีระพันธุ์ ได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากพลาดเก้าอี้หัวหน้าพรรคในช่วงกลางเดือน พ.ค. ทำให้ความเป็น ส.ส. ยุติลง แต่เพียง 8 วันหลังจากลาออกเขาก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในปี 2564 เขาสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และลาออกจากการเป็นสมาชิกในปีถัดมา ชื่อของเขากลับมาโดดเด่นอีกครั้งในช่วงเดือน ส.ค. 2565 เมื่อมติที่ประชุมใหญ่พรรครวมไทยสร้างชาติรับรองให้เขาดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ซึ่งมีกระแสข่าวเรื่อยมาว่านี่คือ พรรคที่สร้างมาเพื่อรับรองการเล่นการเมืองเต็มตัวของ พล.อ.ประยุทธ์
2.เอกนัฏ พร้อมพันธุ์
ลูกชายลุงกำนัน โทรโข่ง กปปส.
เปิดหัวที่หัวหน้าพรรคอย่างพีระพันธุ์ ไปแล้ว คนต่อมาตำแหน่งแห่งที่ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่ากันเพราะ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ในปัจุบันดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ตำแหน่งที่ใครๆ ก็ให้สมญานามว่า “พ่อบ้านพรรคการเมือง”
เป็นที่ทราบกันดีเอกนัฏ คือ ลูกบุญธรรมของ สุเทพเทือกสุบรรรณ เขาเข้าสู่เส้นทางการเมืองครั้งแรกในฐานะ เลขานุการส่วนตัวของสุเทพ และอยู่ข้างกายสุเทพในช่วงเวลาที่มีการชุมนุมประท้วงของกลุ่ม นปช. เขาลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2554 ภายใต้สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. กทม. เขตทวีวัฒนา-หนองแขม ครั้งนั้นถือเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่เพราะมีอายุน้อยที่สุดในสภาด้วยอายุเพียง 25 ปี
กระทั่งในช่วงการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ซึ่งพ่อบุญธรรมของเขาเป็นแกนนำหลัก เอกนัฏได้ลาออกจากการเป็น ส.ส. และเข้าร่วมกับ กปปส. อย่างเต็มตัวในฐานะโฆษก กปปส. และจากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขาถูกตั้งข้อกล่าวหาฐานกบฏ ชุมนุมมั่วสุมก่อความวุนวายในบ้านเมือง และข้อหาอื่นๆ พร้อมพวกอีก 39 คน โดยเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2564 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษายกฟ้องในข้อหากบฏ แต่ลงโทษในข้อหาอื่นๆ ทำให้เอกนัฏมีโทษ จำคุก 1 ปี แต่ให้รอลงอาญา และปรับ 13,333 บาท
3.สุชาติ ชมกลิ่น
เด็กในคาถากำนันเป๊าะ สู่บ้านใหม่เสี่ยเฮ้ง
แม้จะยังไม่ได้เข้าร่วมพรรครวมไทยสร้างชาติอย่างเป็นทางการ แต่ก็ถือว่าเป็นที่แน่นอนแล้วสำหรับถนนการเมืองในการเลือกตั้ง 2566 ของเสี่ยเฮ้ง สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานซึ่งจะติดตามไปร่วมเดินทางกับ พล.อ.ประยุทธ์
เส้นทางการเติบโตทางการเมืองของรัฐมนตรีคนนี้ ถือว่าไม่ธรรมดาเพราะเพิ่งชนะเลือกตั้งมาเพียง 2 สมัย ก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีได้ เขาเติบโต และขึ้นมาเป็น ส.ส. ครั้งแรกภายใต้สังกัดของพรรคพลังชล ในการเลือกตั้งปี 2554 ขณะที่ก่อนหน้านี้เล่นการเมืองในสนามท้องถิ่น ภายใต้ร่มเงาของบ้านใหญ่กำนันเปาะ ตั้งแต่อายุ 25 ปี
ในการเลือกตั้งปี 2562 เขาก็ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. อีกทั้งยังมีเครือข่าย ส.ส. ในสังกัดอยู่จำนวนหนึ่ง ในภาวะรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ จำนวนเสียง ส.ส. กับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีถือมีความแปรผันตามกัน แต่สุชาติ ก็ยินดีที่จะรอคอย เพื่อรักษาโครงสร้างใหญ่ของรัฐบาลประยุทธ์เอาไว้ก่อน นั่นเพราะมีหุ้นส่วนร่วมรัฐบาลที่หลากหลายจึงจำเป็นต้องแบ่งสรรปันส่วนให้เหมาะสม ก่อนจะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีในการปรับคณะรัฐมนตรีในปี 2563
จากเด็กในคาถาของบ้านใหญ่ วันนี้บ้านใหม่ก้าวขึ้นมาทัดเทียมกันในฐานะรัฐมนตรี รอยร้าวบนเส้นทางการเมืองย่อมมีปรากฏ ทั้งการทับที่ทับทางกัน ทั้งในการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ประกอบกับปรากฏการณ์ขาลงของบ้านใหญ่ ทำให้บารมีของบ้านใหม่เริ่มเด่นชัด และน่าจับตา
โดยการเตรียมร่วมชายคารวมไทยสร้างชาติครั้งนี้ของสุชาติ เขาไม่ได้มาเพียงคนเดียวแต่ยังมี ส.ส. ในสังกัดพร้อมร่วมศึกเลือกตั้งด้วยไม่น้อยกว่า 15 คน
4.ธนกร วังบุญคงชนะ
โฆษกผู้ภักดี
ธนกร วังบุญคงชนะ ชื่อนี้ปรากฏบนหน้าข่าวมาระยะหนึ่ง ในฐานะปากเสียงของพล.อ.ประยุทธ์ ตำแหน่งที่เป็นทางการที่เขาเคยเป็นคือ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ โฆษกพรรค โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมตรี ก่อนชีวิตทางการเมืองจะพุ่งสู่จุดสูงสุดในฐานะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ถือว่าไม่ง่าย ธนกร เริ่มต้นเส้นทางชีวิตการเมืองด้วยการสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. กทม. ในปี 2550 ภายใต้สังกัดพรรคมัชฌิมาธิปไตย แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ในปี 2554 ลงสมัครในระบบบัญชีรายชื่ออีกครั้งกับพรรคภูมิใจไทย ได้ลำดับที่ 38 ก็ยังไม่ได้รับเลือกตั้ง
หลังจากนั้นเขาได้ย้ายมาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐพร้อมกับกลุ่มสามมิตร ลงสมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อได้อยู่ลำดับที่ 27 และต้องรออีก 3 ปีกว่า จึงได้ขยับขึ้นมาเป็น ส.ส. แทน มาดามเดียร์ วทันยา ที่ลาออกจากพรรคพลังประชารัฐออกไปอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์
แม้ชื่อชั้นของธนกร จะยังไม่เด่นชัดในฐานะแม่เหล็ก หรือดาวฤกษ์ แต่ในแง่ของความภักดี หวังดีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ถือเป็นเรื่องที่ไม่อาจปฏิเสธได้ พร้อมชน พร้อมโต้ แทนพล.อ.ประยุทธ์ทุกเมื่อ ไม่สนรุ่น ไม่สนน้ำหนัก ว่ากันว่าในช่วงเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งพักงานเพื่อวินิฉัยวาระ 8 ปี ขณะที่แสงกำลังส่องไปทางพล.อ.ประวิตร ในบรรดาคนไม่มีกี่คนที่ยังยืนเคียงข้าง พล.อ.ประยุทธ์ คือ ธนกร
5.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี
ลีลาปราศรัย ที่ ‘ณัฐวุฒิ’ เลียนแบบ
ไตรรงค์ เมื่อพูดชื่อนี้ขึ้นมาเทียบกับประวัติการทำงานทางการเมืองที่ผ่านมาถือว่า ‘เก๋า’ 78 ปีคืออายุ 39 ปี คือช่วงเวลาที่เขาเดินทางร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ ตำแหน่งแห่งที่ทางการเมืองถือว่าหลากหลาย ทั้งเคยเป็น ส.ส. รวม 11 สมัย เป็น ส.ว. อีกหนึ่งสมัย ตำแหน่งในฝ่ายรัฐบาลเริ่มต้นตั้งแต่ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง ก่อนจะขยับมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานฯ จนขึ้นสู่จุดสุงสุดในฐานะรองนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ในด้านลีลาการปราศรัยเองก็ถือว่า มีท่วงทำนองเฉพาะตัว หากเทียบชั้นในด้านลีลาท่าที ไตรรงค์ ถือเป็นครูของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตดาวสภา แกนนำ นปช. ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทยในปัจจุบัน เพราะเมื่อครั้งที่ณัฐวุฒิ ยังเป็นเพียงดาวสภาโจ๊ก บุคคลที่เขาเลียนแบบก็คือ ไตรรงค์ นี่เอง
สำหรับประวัติด้านการศึกษา ไตรรงค์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2510 และระดับปริญญาโท จาก มหาวิทยาลัยฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2515 และสำเร็จปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2518
“ผมขอมีลมหายใจเป็นของตนเอง” คือข้อความที่แฝงนัยเมื่อเขาตัดสินใจโพสต์แจ้งให้สาธารณชนทราบว่า ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองที่เขาสังกัดมาเกินกว่าครึ่งชีวิต และเปิดตัวกับพรรครวมไทยสร้างชาติพร้อมกับคนรุ่นเก๋าเช่นเดียวกันคือ ชุมพล กาญจนะ และชัชวาลย์ คงอุดม
ทั้งนี้ ชื่อของไตรรงค์ เคยถูกนำมาอ้างว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีที่ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่ม กปปส. ขัดขวางการเลือกตั้งในปี 2557 ที่จังหวัดสงขลาด้วย
6.ชัชวาลย์ คงอุดม
อดีตเจ้าพ่อ นักพนัน คนสนิท ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์
ชัชวาลย์ คงอุดม หรือที่รู้จักกันในนาม ชัช เตาปูน เขาเพิ่งผันตัวเองมาเป็นนักการเมืองลงเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2562 ในครั้งนั้นพรรคพลังท้องถิ่นไท ที่เขาเป็นหัวหน้าพรรคได้จำนวนที่นั่งในสภา 3 ที่นั่ง และได้เข้าร่วมรัฐบาล ต่อมาในปี 2563 ได้ ส.ส. ในสังกัดเพิ่มมาอีก 2 คน จากปรากฏการณ์งูเห่า
พื้นเพเดิมของชัชวาลย์ เป็นที่รับรู้กันดีว่าเขาคือ เจ้าพ่อ อดีตนักพนัน และเคยเป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ ‘สยามรัฐ’ ทั้งนี้การขึ้นมาเป็นเจ้าของกิจการนี้ เกิดจากการเข้าไปช่วยงานทางการเมืองกับ ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช จนได้รับความไว้วางใจ ถึงขั้นที่ ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ เอ่ยปากขอให้เป็นลูกชายอีกคน กระทั่ง ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้มอบหมายให้เขาเข้ามาดูกิจการหนังสือพิมพ์แทน จนยกธุรกิจนี้ให้กับเขาในปี 2539
ขณะที่ยังดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท นโยบายที่เขาพลังสนับสนุนและผลักดันตลอดมาคือ บ่อนถูกกฎหมาย เพื่อนำไปสู่การเก็บภาษี สร้างรายได้ให้กับประเทศอีกช่องทางหนึ่ง
ทั้งนี้ในปี 2543 เขายังได้รับเลือกตั้งให้เป็น ส.ว.อีกด้วย
7.ชุมพล กาญจนะ
ส.ส.สุราษฎร์ฯ 7 สมัย
แม้รายชื่อ ส.ส. ในจังหวัดสุราษฎรธานี จะไม่มีชื่อของ ชุมพล กาญจนะ อยู่ แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความบารมีของเขาลดลง เพราะการเลือกตั้งรอบที่ผ่านมา เขาได้ส่งลูกสาวเข้าสู่สนามการเมืองแทน และผลการเลือกตั้งที่ออกมาคือการชนะคู่แข่งขาดลอย กว่า 30,000 เสียง และในการย้ายเข้ามาเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาตินี้ วชิราภรณ์ กาญจนะ ลูกสาวของเขาก็ได้ย้ายออกจากพรรคประชาธิปัตย์ตามมาด้วย
หากนับเฉพาะตัวเขาเอง 7 คือจำนวนรอบสมัยที่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. อย่างไรก็ตามในปี 2550 เขาได้ลงเลือกตั้งร่วมกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ และ ประพนธ์ นิลวัชรมณี ได้รับเลือกเป็น ส.ส.สมัยที่ 7 แต่เนื่องจากยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้อง ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ชุมพล กาญจนะจึงถูก ผู้พิพากษา ตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี
ต่อมาในปี 2563 เขาได้กลับเข้าสู่สนามการเมืองอีกครั้งในการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด แต่ก็สอบตกไปในที่สุด ทั้งนี้ในปี 2565 ลูกชายของเขาคือ แสงโรจน์ กาญจนะ ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีซื้อบริการทางเพศเด็ก และข่มขืน รวมทั้งมีข่าวว่า พยานในคดีคนหนึ่งถูกฆ่าตายด้วย โดยพล.ต.ท.ชลอ ชูวงษ์ ผู้ช่วยผบ.ตร. ระบุถึงกรณีดังกล่าวว่า เป็นการฆ่าปิดปากพยานที่ทราบเรื่อง
1.ไพบูลย์ นิติตะวัน
อภินิหารพระพุทธเจ้า
ชื่อนี้คงเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี สำหรับ ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2562 ป้ายหาเสียงของเขากลายเป็นสีสันพอสมควร เพราะน่าจะเป็นครั้งแรกที่มีการหาเสียงทางการเมืองโดยอิงกับหลักคำสอนของพุทธศาสนา ครั้งนั้นเขาใช้สโลแกนว่า “น้อมนำคำสอนพระพุทธเจ้า”
หลังการเลือกตั้ง พรรคของเขาได้คะแนนเสียง 4.5 หมื่น ยังไม่ถึงเกณฑ์จำนวนคะแนนต่อการมี ส.ส. 1 คน ในระบบบัญชีรายชื่อ ดูเหมือนไพบูลย์จะสอบตก แต่ก็เกิดอภินิหารในการคำนวณที่นั่ง ส.ส. ของ กกต. ที่สุดแล้วเขาก็ได้ใส่สูทเดินเข้าสภา เวลานั้นผู้คนต่างขนานนามเขาว่า “ส.ส.ปัดเศษ” หลังการเลือกตั้งไม่ถึงปี เขาก็ได้ย้ายเข้าไปสังกัดอยู่ภายใต้พรรคพลังประชารัฐ
บทบาทของไพบูลย์ในรัฐสภาชุดนี้ก็ถือเป็นที่ประจักษ์ในฐานะของหนึ่งในองครักษ์พิทักษ์นายกฯ แต่อีกหนึ่งบทบาทที่ถือว่ามีความสำคัญคือ ยื่นเรื่องให้รัฐสภาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ (หลังจากเกิดกระแสผลักดันของกลุ่มผู้ชุมนุมในปี 2563) ว่าการแก้ไขที่ดำเนินมาจนจบวาระที่ 2 แล้วนั้น โดยเป็นประเด็นที่จะมีการแก้ไขเพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยขอให้ศาลวินิจฉัยว่า รัฐสภามีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขประเด็นนี้หรือไม่ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ศาลวินิจฉัยว่า รัฐสภาจะมีอำนาจหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อมีอำนาจจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงมติเห็นชอบหรือไม่กับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง นั่นเป็นเหตุทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตามกระแสเรียกร้องของมวลชนนอกสภาต้องยุติลง
นอกจากนี้เขายังเป็นผู้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องที่เปลี่ยนกระดานเกมการเมืองอีก 2 เรื่องด้วยกันคือ กรณีการใช้อำนาจของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการแต่งตั้งโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี ซึ่งส่งผลให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของยิ่งลักษณ์สิ้นสุดลง และอีกกรณีคือ การยื่นเรื่องขอให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติจากกรณีการเสนอชื่อหม่อมกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ
2.วิรัช รัตนเศรษฐ
โคราชบ้าน ‘รัตนเศรษฐ’
สำหรับวิรัช รัตนเศรษฐ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เขาเป็น ส.ส.นครราชสีมา มาแล้วทั้งหมด 5 สมัย ไม่เพียงเท่านั้นครอบครัวของเขายังเป็น ส.ส. ด้วยเช่นกัน ทั้งทัศนียา รัตนเศรษฐ ภรรยา ทวิรัฐ รัตนเศรษฐ ลูกชาย วลัยพร รัตนเศรษฐ น้องสาว โดยทั้งหมดสังกัดอยู่กับพลังประชารัฐทั้งหมด
นอกจากนี้ทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเศรษฐกิจไทย น้องสาวของทัศนียาก็จะย้ายมาลงสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐด้วย อีกทั้งมีกระแสข่าวว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้า วิรัชได้วางทายาททางการเมืองไว้ โดยการส่งลูกชายคนเล็กคือ ตติรัฐ รัตนเศรษฐ เลขานุการ รมช.คมนาคม และอรัชมน รัตนเศรษฐ ภรรยาอธิรัฐ ลูกชายคนโต ลง ส.ส.แบบแบ่งเขตด้วย
3.ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์
รัฐมนตรีปราบเว็บไซต์หมิ่น
สำหรับชัยวุฒิ ปัจจุบันเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ และยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมด้วย เขาเข้าสู่เส้นทางการเมืองครั้งแรกในปี 2544 โดยเป็น ส.ส. เขต จังหวัดสิงห์บุรี ในสังกัด พรรคประชาธิปัตย์ ในปี 2547 ในสังกัดพรรคชาติไทย และได้รับเลือกให้เป็น ส.ว. ในปี 2557
หนึ่งในผลงานโดดเด่นของเขาในฐานะรัฐมนตรีคือการ ส่งเจ้าหน้าเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับประชาชน ตามฐานความหมิ่นกษัตริย์ มาตรา 112 รวมทั้งสั่งการให้มีการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์หลายครั้ง อาทิ เพลงปฏิรูปของศิลปินกลุ่ม RAD ไลฟ์ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
4.สันติ พร้อมพัฒน์
ก๊วนมะขามหวาน
แม้ชื่อตัวเองจะอยู่ในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็ก็ถือว่าไม่ธรรมดาเพราะ สันติสามารถนำทัพ ส.ส. ในทีมจังหวัดเพชรบูรณ์ เข้าเส้นชัยครบทุกเขต ได้ ส.ส. ทั้งหมด 6 ที่นั่ง รวมตัวเขาเองด้วย
ที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่าอาจจะย้ายไปอยู่กับพล.อ.ประยุทธ์ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจปักหลักอยู่ต่อกับพล.อ.ประวิตร พร้อมหนุนหลัง พล.อ.ประวิตร เป็นแคนดิเดทนายกฯ ของพรรคเพียงคนเดียว
พื้นเพเดิมเขาเป็นนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรม ผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักร และชิ้นส่วนรถยนต์ ก่อนจะมาร่วมงานทางการเมืองกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุธ ในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในปี 2537 และก้าวเข้าสู่การเลือกตั้งระดับชาติใต้สังกัดพรรคความหวังใหม่ชนะเลือกตั้ง 2 สมัย จากนั้นได้ย้ายไปทำงานทางการเมืองกับพรรคไทยรักไทย ลงสมัครในระบบบัญชีรายชื่อ ในปี พ.ศ. 2548 และระบบสัดส่วน พรรคพลังประชาชน ในปี พ.ศ. 2550 จนกระทั่งได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลของสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลของสมชาย วงศ์สวัสดิ์
นอกจากนี้ยังเคยร่วมกิจกรรมกับ นปช. ช่วงปี 2552-2553 ต่อมาในการเลือกตั้ง 2554 ได้รับเลือกตั้งในบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และได้ขยับไปเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในปี 2556 กระทั่งกลับมาสู่สนามทางการเมืองอีกครั้งหลังการรัฐประหาร ภายใต้สังกัดพลังประชารัฐ
5.อภิชัย เตชะอุบล
นายทุนผู้มั่งคั่ง
สำหรับอภิชัย ในด้านธุรกิจ เขาคือเจ้าของธุรกิจ บมจ.เจซีเค อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ JCK (เดิม บมจ. ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม หรือ TFD) ประกอบธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปหรือแวร์เฮาส์ ในนิคมอุตสาหกรรม และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และ บมจ.เจซีเค ฮอสพิทอลลิตี้ หรือ JCKH (เดิม บมจ. ฮอท พอท หรือ HOTPOT) ประกอบธุรกิจอาหารเป็นหลักในตราสินค้า ฮอทพอท ไดโดมอน ร้านอาหารจีน Zheng Dou ร้านอาหารอิตาเลียน Signor Sassi
เพิ่งได้รับเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2562 ในบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ โดยดำรงตำแหน่งในกรรมการบริหารพรรค เป็นเหรัญญิกพรรค แต่หลังจากอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะลาออกจากพรรค เขาก็ได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นกรรมการบริหารพรรคด้วย
ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจปี 2564 เขาเป็นหนึ่งใน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ที่โหวตงดออกเสียงในการลงมติไว้วางใจ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ต่อมาในปี 2565 เขาได้ลาออกจากพรรค และสมัครเข้าพรรคพลังประชารัฐ และได้ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) ของพรรคพลังประชารัฐ
6.สมศักดิ์ เทพสุทิน
เสือวังน้ำยม
สมศักดิ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เขาเริ่มต้นชีวิตในสนามการเมืองระดับชาติจากการได้รับเลือกงตั้งเป็น ส.ส. สุโขทัย ตั้งแต่ปี 2526 ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรกในสมัยรัฐบาลพล.อ.สุจินดา คราประยูร ต่อมาในยุครัฐบาลชวน หลักภัย รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และรัฐบาลชวนสอง ก่อนย้ายมาสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทย ในการเลือกตั้งปี 2544 ซึ่งถือเป็นคนสำคัญของพรรคไทยรักไทยในเวลานั้นเพราะตลอดระยะเวลาของรัฐบาลทักษิณ 1 และ 2 ไม่มีช่วงเวลาไหนเลยที่เขาไม่ได้ดำรงในระดับรัฐมนตรี
สมศักดิ์ และสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นแกนนำกลุ่มทางการเมืองในพรรคไทยรักไทย ที่ชื่อว่ากลุ่มวังน้ำยม ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดของไทยรักไทยในเวลานั้น มี ส.ส. สังกัดอยู่ในกลุ่มนี้ราว 120 คน
หลังการรัฐประหาร 2549 สมศักดิ์และกลุ่มวังน้ำยมได้ลาออกจากพรรคไทยรักไทย ไปจัดตั้งกลุ่มของตัวเองขึ้นมาใหม่ ใช้ชื่อว่า "กลุ่มมัชฌิมา" ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบพรรค ก่อนจะกลับมาใหม่ใต้ร่มพรรคมัชฌิมาธิปไตย ซึ่งมีอนงค์วรรณ เทพสุทิน ภรรยาเป็นหัวหน้าพรรค แต่ที่สุดแล้วก็ถูกตัดสินยุบพรรคอีกครั้ง พร้อมกับพรรคชาติไทย และพรรคพลังประชาชน ทำให้ ส.ส. ในกลุ่มของของสมศักดิ์ ได้ย้ายมาร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับกลุ่มเพื่อนเนวิน ในนามพรรคภูมิใจไทย
แต่ในการเลือกตั้งปี 2557 ซึ่งถูกตัดสินเป็นโมฆะไป เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 16 ต่อมาในปี 2561 เขาระบุจะไม่ทำการยืนยันสมาชิกกับพรรคเพื่อไทย และได้ประกาศเข้าร่วมงานกับ พรรคพลังประชารัฐ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อกลุ่มการเมืองของตนจากกลุ่ม วังน้ำยม หรือ มัชฌิมา เป็น กลุ่มสามมิตร
7.สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
มือประสานไร้ภาพขัดแย้ง
สุริยะ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เคยเป็นอดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย และเป็นแกนนำกลุ่มวังน้ำยม ร่วมกับสมศักดิ์ เทพสุทิน ในสมัยที่เขาเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ประสบปัญหาในคดีการจัดซื้อและติดตั้งเครื่องตรวจจับระเบิด (CTX 9000) และการก่อสร้างระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก็สิ้นสุดลง ในปี 2555 หลัง ป.ป.ช. มีมติสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากมีพยานหลักฐานไม่เพียงพอ
ในปี 2550 จากกรณียุบพรรคไทยรักไทย เขาถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย หลังจากนั้นได้เข้าร่วมแถลงข่าวเปิดตัวพรรคภูมิใจไทยในปี 2552 ก่อนจะกลับมาเป็นหัวหน้ากลุ่มสามมิตรซึ่งประกาศร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ