ไม่พบผลการค้นหา
ส.ส.พรรคเพื่อไทยเผยประชาชนนับล้านคนเข้าไม่ถึงการเยียวยา อัดรัฐบาลคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หวั่นฉุดเศรษฐกิจไทยทรุดยาว สร้างเงื่อนไขกดดันประชาชน แนะเยียวยาต้องทั่วถึง ไม่ควรกำหนดเงื่อนไขรุงรัง

น.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า วิกฤติในพื้นที่ภาคเหนือปีนี้ถือว่าหนักมาก ทั้งฝุ่นพิษ ไฟป่า และสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคเศรษฐกิจกระทบไปทุกจังหวัด คาดการณ์ว่าในปีนี้เศรษฐกิจในเชียงใหม่จะติดลบ เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยว แต่เมื่อเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 นักท่องเที่ยวไม่เดินทางมา รวมทั้งเศรษฐกิจในพื้นที่ก็ประสบปัญหาประชาชนไม่มีรายได้ ส่วนใหญ่ประสบปัญหารายจ่ายในชีวิตประจำวัน

แม้รัฐบาลจะคลายล็อกบางกิจการ แต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติ ประชาชนไม่ออกไปจับจ่ายใช้สอย ด้วยมาตรการที่ออกมาไม่ตอบโจทย์ ผู้ประกอบการร้านอาหารมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น มาตรการที่รัฐออกมานั้นจำกัดสิทธิเสรีภาพ และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปเชื่อว่าผู้ประกอบการจะปิดกิจการเป็นจำนวนมาก เพราะไม่สามารถแบกภาระต้นทุนได้ 

ดังนั้นการที่รัฐบาลยังไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่าเศรษฐกิจไทยจะทรุดหนักไปอีก เพราะนักท่องเที่ยวจะยกเลิกการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย รัฐบาลหวังใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่ออายุรัฐบาลโดยไม่คำนึกถึงผลกระทบ ที่เกิดขึ้น

"มาตรการเยียวยาประชาชน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเร่งทำ ประชาชนทุกคนที่ได้รับผลกระทบย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยา แต่รัฐบาลกลับทำเหมือนประชาชนไปขอเงินรัฐบาล ทั้งๆ ที่งบประมาณที่นำมาจ่ายเป็นเงินภาษีของพี่น้องประชาชน การทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล ส่งผลให้ประชาชนหลายล้านคน เข้าไม่ถึงการเยียวยาของรัฐ ดังนั้น รัฐควรกำหนดรูปแบบใหม่ โดยให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วม ในการช่วยคัดกรองคนที่เดือดร้อนจริงๆ รัฐบาลควรคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนมากกว่านี้" น.ส.ทัศนีย์กล่าว

พบเกษตรกรตกสำรวจไม่เข้าถึงเงินเยียวยา 5 พันบาทอีกมาก

นายจตุพร เจริญเชื้อ ส.ส.ขอนแก่น รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลเปิดโครงการเยียวยาเกษตรกร ครอบครัวละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน เห็นด้วยที่จะทำโครงการนี้ แต่ปัญหาที่พบ คือ รัฐบาลไปกำหนดเงื่อนไขว่า เกษตรกรที่จะเข้าโครงการต้องไปปรับปรุงข้อมูล ดังนั้นจึงมีเกษตรกรเป็นจำนวนมากที่ตกสำรวจในการรับเงินเยียวยา

ทั้งนี้ ขอแนะนำว่า การจ่ายเงินเยียวยาให้กับเกษตรกร รัฐต้องจ่ายให้เกษตรกรทุกคนอย่างทั่วถึง ไม่ควรสร้างเงื่อนไขในการเยียวยาประชาชน ทั้งที่ข้อมูลรัฐมีอยู่แล้ว แต่กลับทำงานไม่ประสานกัน ระหว่างกระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรฯ ส่งผลให้มีเกษตรกรตกสำรวจไม่ได้รับการเยียวยาเป็นจำนวนมาก ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพทำให้ประชาชนเสียโอกาส  

ดังนั้นการช่วยเหลือประชาชน โดยใช้เงินภาษีของประชาชน รัฐบาลควรให้ประชาชนเข้าถึงการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง และต้องไม่นำเงินที่กู้มา ไปใช้ในการหาเสียงให้กับพรรคการเมืองหรือแจกจ่ายให้กับพรรคพวกของรัฐบาลเท่านั้น 

"การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โอ้อวดว่ารัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาประชาชน 30 ล้านคน เหนือกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่ทราบว่าต้องการสื่ออะไร เพราะรัฐบาลต้องทำเพื่อประชาชนอยู่แล้ว รัฐบาลไม่ควรมาโอ้อวดเรื่องแบบนี้ แต่รัฐบาลชุดนี้กลับสร้างความกดดันให้ประชาชน ส่งผลให้ประชาชนไม่มีทางเลือก และมีประชาชนฆ่าตัวตายเป็นจำนวนมาก นายกรัฐมนตรีควรทบทวนตนเอง ว่าบริหารประเทศมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน  เพราะจากการทำงานที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า พลเอกประยุทธ์ บริหารงานไร้ประสิทธิภาพส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก" นายจตุพร กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :