ไม่พบผลการค้นหา
‘ชัยชนะ’ ประธาน กมธ.ตำรวจ จี้กรมราชทัณฑ์แจงปม ’ทักษิณ‘ รักษาตัว รพ.ตำรวจ ปัดระเบียบเอื้อประโยชน์นายใหญ่ ชี้ นักโทษทุกคนต้องได้รับสิทธิเท่ากัน ไม่สองมาตรฐาน ยืนยัน กมธ.เดินทางตรวจสอบชั้น 14 ตามเดิม

วันที่ 21 ธ.ค. ที่อาคารรัฐสภา ชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร (สส.) ให้สัมภาษณ์ถึงการพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ครบ 120 วันของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 

ชัยชนะ กล่าวว่า วันนี้ได้เชิญรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้อำนวยการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร รักษาการผู้อำนวยการ รพ.ราชทัณฑ์ และฝ่ายกฎหมายทัณฑสถานเข้ามาชี้แจง ต่อ กมธ. 

โดยกรมราชทัณฑ์ส่งรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ มาชี้แจงเกี่ยวกับการควบคุมนักโทษที่เข้ารับการรักษาพยาบาลและพักรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องชี้แจงขั้นตอนการรับนักโทษว่า มีขั้นตอนอย่างไรการที่ทักษิณ เข้ารับการรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ เป็นการชี้ด้วยคำวินิจฉัยของแพทย์ หรืออำนาจของผู้อำนวยการเรือนจำ เบื้องต้นทราบว่ากรมราชทัณฑ์เตรียมคำวินิจฉัยของแพทย์มาชี้แจงต่อ กมธ. ว่า ทักษิณควรไปรักษาตัวที่ รพ.

ชัยชนะ ยืนยันว่า กมธ.ยังคงมีแผนตามเดิมที่จะเดินทางไปยังชั้น 14 รพ.ตำรวจ เนื่องจากเป็นอีกวิธีหนึ่ง และเป็นอีกกระบวนการหนึ่งของกรมราชทัณฑ์ในการรับผู้ต้องขัง และในส่วนของ รพ.ตำรวจ ต้องดูว่า การรับตัวนักโทษมีการปฏิบัติอย่างไร และปฏิบัติแบบเดียวกันทุกคนหรือไม่

ส่วนกรณีที่ สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ ระบุว่า ระเบียบกรมราชทัณฑ์ที่ออกมาล่าสุด ทักษิณ เข้าข่ายในระเบียบ แต่ไม่ได้รับการเอื้อประโยชน์ ชัยชนะ กล่าวว่า ต้องถาม สมศักดิ์ เพราะตนตอบแทนไม่ได้ แต่คิดว่าสิทธิที่นักโทษได้รับต้องเท่ากัน หากเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำและสองมาตรฐานก็อยู่ยาก


'วัชระ' จี้ ก.ยุติธรรมสอบปม ‘ทักษิณ‘ ไม่กรอกประวัตินักโทษ

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร นำโดย ชัยชนะ เดชเดโช สส.ประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานกรรมาธิการ ได้ทำหนังสือเชิญ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าพักรักษาตัวของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 

โดย พ.ต.อ.ทวี ได้มอบหมาย ให้ สิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์มาชี้แจงแทน ขณะที่โรงพยาบาลตำรวจ ส่ง พล.ต.ต.นพ.สามารถ ม่วงศิริ นายแพทย์ สบ.7 โรงพยาบาลตำรวจมาชี้แจง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุม วัชระ เพชรทอง อดีต สส. พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นผู้ยื่นเรื่องให้ตำรวจตรวจสอบเรื่องนี้ได้เปิดเผย ว่า เมื่อวาน (20ธ.ค.)ได้ไปยื่นหนังสือถึง พ.ต.อ.ทวี ให้ระงับการคุมขังนอกเรือนจำของ ทักษิณ 

ขณะเดียวกันยังเปิดเผยด้วยว่า ตั้งแต่ ทักษิณ ก้าวเท้าเข้าไปยังเรือนจำ ตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค. ทักษิณไม่ได้กรอกแบบประวัติ ร.ท. 101 ซึ่งเป็นการกรอกประวัตินักโทษจำนวน 4 หน้า แม้แต่บรรทัดเดียว จึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมตั้งคณะกรรมการสอบ ว่า เหตุใดจึงไม่ให้นายทักษิณกรอกประวัตินักโทษ หรือเกรงว่าจะเสียประวัติ แต่ถ้าเสียประวัติเหตุใดนักโทษอีก 400,000 รายทั่วประเทศจึงต้องกรอกทุกคนยกเว้นยกเว้น ทักษิณ เพียงคนเดียว

S__86270279_0.jpg

อีกทั้งการออกระเบียบกรมราชทัณฑ์สามารถให้ คุมขังนอกเรือนจำได้ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา คนที่ลงนามประกาศระเบียบดังกล่าว ได้ขึ้นตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ จึงเป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นว่า การเอื้อประโยชน์ต่างตอบแทน และขอเรียกร้องให้เลื่อนประกาศนี้ออกไปอีกหนึ่งปี เพื่อไม่ให้เป็นข้อครหาต่อสังคม และประชาชน 

เพราะขณะนี้ประชาชนทั่วประเทศเชื่อว่า ระเบียบดังกล่าวออกมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ ทักษิณ ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาขอให้เลื่อนประกาศออกไปประกาศออกไป ซึ่งเป็นอำนาจของอธิบดี ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ไม่ทำการซักประวัติ ต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเอาผิดทางวินัยแต่ขอให้กันข้าราชการชั้นผู้น้อยไว้เป็นพยาน 

จากนั้นเมื่อเข้าสู่ห้องประชุม วัชระ พยายามที่จะพูดถึงการยื่นเรื่อง โดยขอให้สื่อมวลชนร่วมรับฟัง แต่ พล.ต.ตรี สุรพล บุญมา สส.เพื่อไทย ในฐานะ กมธ.การตำรวจ ขอให้การประชุมเป็นการประชุมลับ แล้วค่อยมีการแถลงข่าวภายหลังการประชุม

S__86270288.jpg

แต่ ชัยชนะ ประธาน กมธ. ได้อนุญาตให้ วัชระ อภิปรายได้ ซึ่งเมื่อ วัชระ เริ่มอภิปราย ได้ชูเหรียญห้อยคอ พร้อมบอกว่า วันนี้ตนแขวนพระในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ พล.ต.ตรี สุรพล ขอให้ วัชระเข้าประเด็น ไม่ต้องใช้สำนวนโวหาร อย่าเล่นการเมือง มีอะไรให้พูดตรงๆ ซึ่งหลังประชุมก็จะมีการแถลงข่าวให้สื่อทราบอยู่แล้ว

จากนั้น วัชระ ได้อภิปรายขอให้กรมราชทัณฑ์นำคลิปวิดีโอตั้งแต่วันแรกที่ ทักษิณ เข้าเรือนจำวันแรก ตลอดเวลาที่อยู่ในเรือนจำ รวมถึงภาพถ่ายที่โรงพยาบาลตำรวจหลังอ้างว่า กล้องวงจรปิดเสีย แต่กรมราชทัณฑ์ยืนยันว่า มีการถ่ายภาพส่งผู้บังคับบัญชาทุก 2 ชั่วโมง มาส่งให้กับคณะ กมธ.

จากนั้นประธานในที่ประชุมได้ขอให้สื่อมวลชนออกจากห้องประชุมโดยขอให้รอฟังการแถลงข่าวภายหลังการประชุมแล้วเสร็จ 


กมธ.ตำรวจฯ ศึกษาดูงาน ชั้น 14 12 ม.ค.

ชัยชนะ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเรียกประชุม กมธ. เรียกกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ และนายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ เข้ามาชี้แจงต่อที่ประชุม กมธ.การตำรวจกรณีที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากเรือนจำ และรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ตำรวจ ชั้น 14 ใกล้ครบกำหนด 120 วัน 

โดย ชัยชนะ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนพอสมควร และได้ข้อสรุปว่า แพทย์ของกรมราชทัณฑ์เป็นผู้วินิจฉัยให้ ทักษิณ ไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากพบว่า เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี และเกิดอาการแน่นหน้าอกตอนดึกระหว่างจำคุกอยู่ในเรือนจำ เพราะเคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนทำให้เป็นโรคปอด 

ส่วนเงินที่ใช้ในการรักษาตัว กรมราชทัณฑ์แจ้งว่า เป็นเงิน สปสช. แต่หากเกินกว่าสิทธิที่มีอยู่ ผู้ต้องขังสามารถจ่ายเงินส่วนต่างได้ ตนจึงได้สอบถามถึงระเบียบของดำเนินการ พร้อมขอให้ส่งเอกสารและรายละเอียดกลับมาให้กมธ.การตำรวจ ตรวจสอบว่าตรงตามนั้นหรือไม่

ขณะเดียวกัน กมธ.ตำรวจฯ ยังได้ขอให้กรมราชทัณฑ์ส่งเอกสารข้อมูล ภาพถ่าย ผู้คุมที่ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และโรงพยาบาลตำรวจ รวมถึงรายละเอียดการเข้าผลัดเวร ว่ามีจำนวนผู้คุมกี่คน 

ส่วนกรณีที่ วัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ยื่นเรื่องร้องเรียน กล่าวหาว่า ทักษิณ ไม่ได้กรอกข้อมูลแบบประวัติ ร.ท.101 นั้น ทางกรมราชทัณฑ์แจ้งว่า จะส่งเอกสารผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ดูว่านักโทษได้กรอกเอกสารถูกต้องครบถ้วนแล้ว แต่ทางผู้ร้องเรียนได้ขอเอกสารสำเนาด้วย ฉะนั้นทางเจ้าหน้าที่จะรวบรวมเอกสารส่งให้ในวันถัดไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติเดินทางไปศึกษาดูงานที่ รพ.ตำรวจ ในวันที่ 12 ม.ค. เวลา 9.30 น. ร่วมด้วย เพื่อดูการรักษาตัว การปฏิบัติต่อผู้ป่วย สถานที่ มาตรการควบคุม และการเข้าเวรของเจ้าหน้าที่ว่าเป็นอย่างไร โดยเราตั้งใจจะไปตรวจสอบดูทุกชั้น แต่ต้องรอทางโรงพยาบาลตำรวจอนุญาตว่าจะให้เข้าบริเวณชั้นใดบ้าง เพราะถือเป็นสิทธิของโรงพยาบาล 

หากไม่อนุญาตก็จะต้องตอบสังคมให้ได้ว่า เหตุผลคืออะไร ส่วนในวันดังกล่าวนักโทษจะได้รับการปล่อยตัวก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาดูงานหรือไม่ ตอนนี้คงยังตอบไม่ได้

ทั้งนี้ สำหรับระเบียบกรมราชทัณฑ์เกี่ยวกับสถานที่กุมขังนอกเรือนจำ พ.ศ.2566 กรณีที่ออกจากเรือนจำและรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ตำรวจ ครบกำหนด 120 วัน ที่ประชุมได้ขอให้กรมราชทัณฑ์ ส่งเอกสารชี้แจงว่า ขั้นตอน และหลักเกณฑ์การพิจารณาเป็นอย่างไร รวมถึงนักโทษประเภทใดบ้างที่เข้าข่าย จึงยังไม่สามารถทราบได้ว่า มีนักโทษกี่คนที่เข้าข่ายเกณฑ์ดังกล่าว ย้ำว่าขอรอดูเอกสารก่อน 

อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อมูลที่กรมราชทัณฑ์ยังตอบไม่ชัดเจน ชัยชนะ กล่าวว่า เรื่องของการปฏิบัติต่อนักโทษสองมาตรฐาน ยังไม่คลายความสงสัย เพราะยังต้องรอเอกสารจากกรมราชทัณฑ์ก่อนว่า หากผู้ต้องหาใช้บัตรทองเกินสิทธิที่มีอยู่ สามารถใช้เงินของครอบครัวได้จริงหรือไม่ หากทำได้จริงก็จะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนคนอื่นๆ ได้รับทราบด้วย