ไม่พบผลการค้นหา
กรมชลประทาน เผยแม้จะมีฝนตกลงมาบ้าง แต่ปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศยังมีไม่มาก ปริมาณอยู่ในเกณฑ์น้อย วอนทุกฝ่ายร่วมใจกันประหยัดน้ำ ลดความเสี่ยงต่อปัญหาขาดแคลน

วันที่ 12 พ.ค. นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และกลางทั่วประเทศ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 34,472 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 10,802 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 40,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,380 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 34 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 1,684 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ ปัจจุบัน มีการใช้น้ำไปแล้ว 1,056 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 9 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 347 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 11 ของแผนจัดสรรน้ำฯที่วางไว้

สำหรับสถานการณ์ฝนที่ตกจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อนในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1–11 พ.ค.2563 รวมประมาณ 234 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงวันเดียวกัน มีน้ำไหลลงอ่างฯรวมกันประมาณ 47 ล้าน ลบ.ม. แม้ว่ายังอยู่ในเกณฑ์น้อย แต่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ทั้งนี้ อ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่มีน้ำต้นทุนน้อย จะมีพื้นที่เพียงพอที่จะรองรับปริมาณน้ำได้อีกมากตลอดในช่วงฤดูฝนนี้

กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานทุกพื้นที่ บริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ พร้อมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ ให้สามารถพร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลา รวมไปถึงให้เร่งกำจัดวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำ การตรวจสอบระบบและอาคารชลประทาน ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ นอกจากนี้ ยังบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในท้องที่ ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เพื่อให้ทุกพื้นที่พร้อมรับกับสถานการณ์น้ำที่อาจเกิดขึ้นไม่ว่าจะภัยแล้งหรืออุทกภัย พร้อมกันนี้ ยังคงต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้ร่วมใจกันประหยัดน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต