ไม่พบผลการค้นหา
ด่วน! ครม.มีมติให้ชะลอแผนการประกาศของ สธ.กรณีการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ออกจากการรักษาภาวะวิกฤตฉุกเฉิน หรือ ยูเซ็ป ทำให้ผู้ป่วยยังคงรักษาได้ทุกที่ ด้าน นายกฯย้ำต้องให้มีสถานที่รองรับผู้ป่วยให้เพียงพอ ห่วงเด็กเล็ก วัยเรียน

วันที่ 22 ก.พ. 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ที่ประชุม ครม. มีความเป็นห่วงเรื่องการออกประกาศเรื่องการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ให้ออกจากการภาวะฉุกเฉินวิกฤต รักษาทุกที่ หรือ ยูเซ็ป (UCEP) ฉบับใหม่ โดยที่ประชุมให้กระทรวงสาธารณสุข กลับไปทบทวนและชะลอการประกาศออกไปก่อน เพราะต้องมีการซักซ้อมทำความเข้าใจ ปรับการบริการ รองรับผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ หรือกลุ่มสีเขียว ที่มีค่อนข้างมาก รวมถึงให้เพิ่มคู่สาย 1331 ให้การบริการครอบคลุม ก่อนที่จะเสนอเรื่องดังกล่าวกลับมาสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง 

ด้าน ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุม ครม. ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมได้ติดตามการแพร่ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) กำชับให้บริหารจัดการการรักษาทั้งระบบ Home Isolation (การรักษาตัวเองจากที่บ้าน) และ Community Isolation (การรักษาตนเองในชุมชน) ให้เพียงพอ และแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์ที่พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะในเด็กเล็ก วัยเรียน จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเคร่งครัดในการทำงาน 

“ประยุทธ์” เมินสื่อยิงคำถามรัว เดินหน้าตึงขึ้นตึกไทย

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่อย่างใด โดยได้เดินจากตึกสันติไมตรีไปยังตึกไทยคู่ฟ้าในทันที โดยไม่สนใจคำถามของสื่อมวลชนแต่อย่างใด 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2565 อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการกำหนดขั้นตอนมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ หรือ UCEP เสนอกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เมื่อวันที่ 18 ก.พ.65 นำโรคโควิด-19 ออกจาก UCEP ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 เป็นต้นไป ให้คำจำกัดความของโรคโควิด-19 ไว้ว่าเป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองดูแลตามสิทธิหลักประกันสุขภาพของประชาชนแต่ละคน กำหนดให้มี UCEP PLUS กรณีผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการรุนแรง หรือมีโรคร่วม จะเข้าเกณฑ์ UCEP PLUS ที่มีอาการวิกฤติฉุกเฉิน เช่น หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วนหรือชักต่อเนื่องไม่หยุด สามารถเข้าโรงพยาบาลใดก็ได้

รวมทั้งกรณีผู้ป่วยกลุ่มอาการสีเขียว กักตัวอยู่ที่บ้าน หรือ Home Isolation หรือศูนย์พักคอย Community Isolation หากมีอาการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงขึ้น สามารถใช้สิทธิ UCEP PLUS ได้เช่นกัน