ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทย อภิปรายประเด็นการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาล โดยเมื่อ 9 ก.พ. 2565 มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลเตรียมปลดโควิด-19 ออกจากสิทธิ์การรักษาฉุกเฉิน (UCEP) แล้วปรับโควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่น พรรคเพื่อไทยขอให้รัฐบาลทบทวนเสียใหม่ เพราะตอนนี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เป็นการผลักภาระให้แก่ประชาชน วัดจากบทเรียนรู้ความผิดพลาดจากในอดีต ประชาชนติดเชื้อโดยไม่มีที่รักษาเป็นจำนวนมาก วันนี้ตัวเลขผลตรวจ ATK สูงขึ้น จึงเป็นเวลาที่ต้องเฝ้าติดตามอย่างระมัดระวังที่สุด ไม่ใช่เวลาจะมาปลดให้โควิด-19 เป็นเหมือนโรคทั่วไป เพราะขณะนี้ยังไม่มีอะไรมารับรองว่าโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นได้ เนื่องจากโรคประจำถิ่นนั้นต้องสามารถบอกได้ถึงพฤติกรรมของโรค ต้องสามารถทราบได้ว่าเกิดขึ้นในฤดูกาลใด เกิดขึ้นแล้วจะเกิดความเสียหายเจ็บป่วยหนักถึงขั้นเสียชีวิตในระดับใด
"แม้รัฐบาลจะประกาศว่า ถึงปลดโควิด-19 ออกจาก UCEP แล้ว ประชาชนก็ยังรักษาฟรีตามสิทธิที่ตนมี ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม หรือข้าราชการ แต่ผู้สื่อข่าวได้รายงานสถานการณ์ระบาดขณะนี้ ว่าเตียงส่วนใหญ่เต็มหมดแล้ว ไม่สามารถจะบอกได้ว่าผู้ที่มีสิทธินี้จะได้รับตามสิทธิตามที่ได้กล่าวมาเลย ผู้ติดเชื้อจะเดินทางไปหาหมอก็ลำบาก เนื่องจากโรงพยาบาลของรัฐไม่มีรถรับส่งผู้ป่วย การรักษาแบบ Home isolation ก็ไม่สะดวก เพราะที่พักเป็นบ้านเอื้ออาทร อาคารชุด หรือชุมชนแออัด ยิ่งถ้าผู้ป่วยอาศัยอยู่กับผู้สูงอายุ จะปล่อยให้ติดเชื้อกันทางครอบครัวเช่นนั้นหรือ ยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ ข่าวรัฐบาลปลดโควิด-19 ออกจาก UCEP นั่นเท่ากับเป็นการผลักภาระให้ประชาชนซ้ำแล้วซ้ำเล่า
"รัฐบาลอาจจะถามความเห็นของประชาชนว่า เห็นด้วยหรือไม่หากจะปลดโควิด-19 ออกจากสิทธิการรักษาฉุกเฉิน วันนี้รัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชน หากมีผู้ป่วยติดเชื้ออาการรุนแรงไม่เข้าเกณฑ์การป่วยฉุกเฉิน หน่วยงานใดจะมารับผิดชอบค่าใช้จ่าย หรือถ้าเกิดความสูญเสียหน่วยงานใดจะเป็นผู้ดูแล คำตอบที่ว่ายังรักษาฟรีอยู่ตามสิทธิ ไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้พี่น้องประชาชนได้เลย
"ดิฉันและพรรคเพื่อไทยต้องขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานด้วยความเสียสละ ขณะที่รัฐบาลแสดงความเห็นแก่ตัว อ้างเรื่องประหยัดงบประมาณ แต่กลับใช้จ่ายส่วนอื่นอย่างฟุ่มเฟือยโดยไม่จำเป็น ควรยกสุภาษิต ว่ารัฐบาลชุดนี้ มือถือสากปากถือศีล เป็นรัฐบาลคนดีที่ยัดเยียดความสิ้นหวังให้ประชาชนทุกนาทีไป"
ธีรรัตน์ อ้างถึงงรัฐธรรมนูญมาตรา 47 วรรค 3 ที่ระบุว่า บุคคลย่อมมีสิทธิ์ได้รับการปกป้องและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตนอยากให้รัฐบาลตระหนักว่าทุกชีวิตมีคุณค่า จะยากดีมีจนก็ต้องได้รับการดูแลจากรัฐบาลอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่บริหารราชการเพียงเพื่อประโยชน์และพวกพ้องและนายทุนของตนเองเท่านั้น ดังกรณีสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่ได้รับ คำขอเลิกประกอบธุรกิจประกันภัย 3 บริษัท ให้เหตุผลว่าประสบภาวะขาดทุนจากการขายประกันโควิด-19 ประเภท เจอ-จ่าย-จบ เพราะแนวโน้มการระบาดใหม่กำลังสูงขึ้น
ธีรรัตน์ ยังกล่าวถึงข้อสงสัยในประกันโควิด เจอ-จ่าย-จบ คือในช่วงที่มีการอนุญาตให้ขายกรมธรรม์ เป็นช่วงที่ไทยมีวัคซีนแล้ว ตัวเลขการแพร่ระบาดลดลง บริษัทประกันรับเบี้ยมหาศาล เมื่อมีการระบาดหนัก บริษัทประกันกลับขอยกเลิกเฉยๆ คณะกรรมการผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชนจำนวนมากกว่า 2 ล้านรายที่ทำความเสียหายจากการถอนประกันโควิด-19 ตนจึงอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้ประชาชนด้วยตนเอง ช่วยแก้ข้อสงสัยที่ว่าคำสั่งปิดประเทศ ที่ไม่ฟังข้อมูลใดๆ จากผู้ทักท้วง เป็นเพราะต้องการเอื้อให้นายทุนได้ประโยชน์ในธุรกิจประกันภัยใช่หรือไม่ หรือแม้แต่เป็นการขจัดข้อสงสัยที่ว่า ในบริษัทที่ขอปิดกิจการนั้น เป็นบริษัทที่เคยซื้อที่ดิน ราคา 600 ล้านบาทจากสมาชิกในครอบครัวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นเอง
อีกส่วนที่มีความกังวลคืออนาคตของชาติ และการศึกษาของเด็ก สถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นให้เห็นความเหลื่อมล้ำของเด็กไทยระหว่างนักเรียนในเมืองและนักเรียนชานเมืองอย่างชัดเจน ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษามากกว่า 1 ล้าน 2 แสนราย เด็กส่วนใหญ่ของประเทศยังประสบปัญหาไม่สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนได้ และ 16% ของนักเรียนต้องออกจากระบบการศึกษา เนื่องจากสภาวะยากจนเฉียบพลันของครอบครัว ผู้ปกครองไม่สามารถแบกรับค่าเล่าเรียนบุตรหลานได้ ซึ่งในหลายประเทศมีมาตรการช่วยสนับสนุนและเติมเต็ม ให้นักเรียนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างทั่วถึง ขนาดที่ประเทศไทยนั้นใช้วิธีแจกเงินหัวละ 2,000 บาท เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายสูงจากการออนไลน์ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาถือว่ารัฐบาลสอบตกเพราะยังไม่สามารถพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนให้ดีขึ้นได้เลย
"การที่รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษาของไทย ตัดงบประมาณด้านการศึกษา แต่กลับพบประมาณด้านการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ เมื่อวานบริษัทจากสหรัฐอเมริกาเพิ่งเปิดเผยว่ารัฐบาลไทยกำลังมีการเตรียมซื้อเครื่องบิน F-35 เพิ่มอีก เปรียบได้กับรัฐบาลที่ชำนาญเรื่องการซื้ออาวุธ ไม่เคยจะติดอาวุธทางปัญญาให้กับประชาชน"
ธีรรัตน์ กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลกำลังจะปลดโควิด-19 ออกจาก UCEP ขอให้พิจารณาให้ดีเสียก่อนว่ารัฐบาลกำลังจะทำลายผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติหรือไม่ ขอเสนอให้รัฐบาลยุบ ศบค. และยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่มีวัตถุประสงค์เพียงแค่ว่าจะจำกัดสิทธิเสรีภาพของกลุ่มผู้เรียกร้องทางการเมืองจะดีเสียกว่า แต่วิธีที่สุดที่คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ ควรจะทำ คือลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะเป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างสูงสุด