ไม่พบผลการค้นหา
รัฐสภาล่ม! อีกแล้ว ‘ชวน’ เข็นไม่ไหว หลังสมาชิกแสดงตนเพียง 181 คน ทำ ‘ร่างพ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ’ ค้างเติ่งคารัฐสภา ‘จุลพันธุ์’ บี้ให้รัฐสภาหลังเลือกตั้งชี้ขาดแทน หลัง ส.ส.ฝ่ายค้านรุมปลุกทำแท้ง-ถอนร่างพ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ เชื่อเป็นการควบคุมสื่อที่เห็นต่างจากรัฐ ล้าสมัย หากปล่อยผ่านจะสิ้นเปลืองงบฯ และพิจารณาไม่สมบูรณ์

วันที่ 7 ก.พ. 2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 8 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …. ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า กฎหมายฉบับนี้รากของมันมาจากความไม่ชอบธรรม จึงอยากให้รัฐมนตรีถอนออกไปก่อนเพื่อสอดรับกับที่ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภากล่าวไว้คือ อยากใช้เวลาของรัฐสภาให้คุ้มค่าที่สุด ถ้าผ่านไปได้จะสร้างปัญหาด้วยเหตุผลของมันคือ มีรากของลัทธิอำนาจนิยมตั้งแต่สมัยสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) หลังปี 2557 ซึ่งมีการยกร่างมา 6-7 ปีแล้ว ที่เห็นว่า สื่อมวลชนต้องถูกควบคุมได้โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉะนั้นเชื่อว่า มันไม่มีความบริสุทธิ์ต่อประชาชน 

จิรายุ กล่าวอีกว่า การดูแลสื่อ หรือการปฏิรูปสื่อ กลไกเหล่านี้มันมีกาลเวลาเป็นตัวช่วย ปีศาจแห่งกาลเวลาเท่านั้นจะทำให้สื่อมวลชนอยู่ไม่ได้ในสังคมไทย อีกทั้งรายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้มันตกยุค ในเมื่อสื่อมีกลไกตรวจสอบกันเองอยู่แล้ว แต่ให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบอีก ถามว่าผู้ตรวจสอบเหล่านั้นมีสังกัดหรือไม่ ถ้ามีสังกัดก็เอนเอียง กฎหมายฉบับนี้ก็ไม่สมบูรณ์ ไปจนถึงการตั้งกรรมการจริยธรรมที่ไม่ได้ให้อะไรกับประชาชน แถมยังไปปิดกั้นประชาชน จึงสรุปว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ตรงปก และไม่รู้กาลเทศะ 

จิรายุ  ประชุมสภา งบประมาณ 0889F81CF723.jpeg

ด้าน เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในฐานะผู้แทนราษฎรมีหน้าที่ส่งเสียงให้กับทุกคนทราบจึงได้ไปสอบถามกับสื่อมวลชนที่อยู่ในห้องแถลงข่าวจึงพบว่า จริยธรรมเป็นสิ่งที่อันตรายมาก เพราะหลายคนมีความคิดไม่เหมือนกัน ซึ่งในพ.ร.บ.มีเรื่องนี้อยู่ คำว่าศีลธรรมของตนคือการไม่ทำรัฐประหาร และฟังเสียงของทุกคน แต่เป็นเรื่องที่น่าแปลกที่หลายคนคาดหวังกับสื่อเยอะ แต่ไม่มีใครทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้สื่อเลย หลายครั้งที่สื่อมวลชนไปทำข่าวโดยเฉพาะในการชุมนุม บางคนไม่กล้าห้อยป้ายสื่อ เพราะช่องมีความคิดไม่ตรงกับนักข่าว ซึ่งตนมองว่า สื่อจะเป็นอย่างไร ไม่ควรไปควบคุมเขา เพราะทุกคนมี Free Speech ไม่เพียงแค่สื่อ แต่ต้องเป็นกับทุกคน แม้กระทั่งนักเคลื่อนไหวทางการเมือง 

เท่าพิภพ กล่าวอีกว่า การที่บอกว่าสื่อไม่มีความเป็นกลาง หรือสื่อไม่ดีอย่างไร ต้องดูที่กฎหมายว่ามันจะแก้ได้หรือไม่ เสียงจากนักข่าวประจำสภาระบุว่า เงินเดือนของนักข่าวน้อย ค่าล่วงเวลาไม่มี สวัสดิการมีเพียงประกันสังคม เวลาการทำงานไม่ชัดเจนจนทำให้เกิดข่าวเศร้าที่คนในวงการข่าวเสียชีวิตหน้าคอมพิวเตอร์ หลายคนมองว่าเป็นเรื่องปกติ และไม่มีใครคิด มีนักข่าวบางคนระบุว่า ทำงานมา 5 ปี ไม่มีวันหยุด และเงินเดือนขึ้นมาเพียง 500 บาท สำนักข่าวหลายแห่งออกกฎห้ามตั้งสหภาพ เสรีภาพในที่ทำงานยังไม่มี เสรีภาพสื่อที่ไหนจะมีได้ จริยธรรมจะไม่มีไม่ได้ ถ้าปากท้องมันไม่ดีด้วย ดังนั้นการเมืองดีปากท้องดี ถึงจะมีอนาคตอย่างที่พรรคก้าวไกลเสนอเป็นนโยบาย 

“การจะทำให้สื่อมวลชนทำงานได้เที่ยงธรรมก็ต่อเมื่อการเมืองดี การมีเสรีภาพคุ้มครองจากอำนาจมืด อำนาจอำมหิตย์ของรัฐให้เขาใช้สิทธิการแสดงออกของเขาได้พูด การจะทำให้นักข่าวได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและคุณภาพก็ต่อเมื่อปากท้องของพวกเขาดี มีค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผล มีสวัสดิการที่ดี มีสิทธิเรียกร้องการทำงานต่างๆ ของเขา ดังนั้นปากท้องดีจึงเป็นคำตอบ เมื่อสื่อสารมวลชนมันดีขึ้น ประเทศไทยจะมีอนาคต ทุกคนจะได้รับรู้ความเป็นจริงสิ่งที่ถูกต้อง” เท่าพิภพ กล่าว 

เท่าพิภพ -DB01-4A8D-AC70-FC6ECD6C93AB.jpeg

ด้าน วิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นเรื่องที่ตกยุค และล้าสมัย รวมถึงเป็นภาพลวงตา สื่อมวลชนย่อมมีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมาตรา 35 และมีหน้าที่เสนอข้อเท็จจริงต่อประชาชน ตรวจสอบข้อมูลให้ประชาชนได้รับรู้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ออกมาเพื่อที่จะควบคุมสื่อที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล 

ในการกำกับดูแลของสื่อนั้นมีอยู่ 3 ประเภทคือ การควบคุมดูแลกันเอง การร่วมกับรัฐเพื่อดูแล และการควบคุมโดยรัฐแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีแนวโน้มเป็นประเภทสุดท้ายเพราะเป็นกฎหมายที่สืบทอดอำนาจจากเผด็จการ แล้วอย่างยิ่งเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไปอวยพรที่สำนักข่าวท็อปนิวส์ อาจทำให้เกิดการเลือกข้าง และแตกแยก 

“กฎหมายฉบับดังกล่าวมีความตั้งใจจะลิดรอนสิทธิเสรีภาพ เพราะสิ่งต่างๆ ที่เคยถูกตั้งฉายาว่า แปดเปื้อน หรือคำพูดคำจาของนายกฯ ที่แสดงต่อสื่อ มันแสดงให้เห็นว่า ถ้าปล่อยกฎหมายนี้ออกไปจะมีการดำเนินการกับสื่อที่อยู่ฝั่งตรงข้าม และคอยตรวจสอบทำให้สื่อมวลชนต้องรับผิดชอบ” วิสาร กล่าว 

ขณะที่ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า แรกเริ่มสื่อเป็นเครื่องมือการสื่อสารของรัฐ จากอดีตที่ผ่านมานักสื่อสารมวลชนได้อธิบายการสื่อสารของรัฐว่า เป็นทฤษฎีเข็มฉีดยา ฉีดข้อมูลเพียงด้านเดียวให้แก่ประชาชนรู้ และปฏิบัติตาม จนในยุคต่อมาเราได้ทำความเข้าใจว่ามันคือการล้างสมอง แต่เมื่อวันเวลาเปลี่ยนไปการตื่นรู้ของสังคมมีเพิ่มมากขึ้นทำให้สื่อต้องปรับตัว เพราะสื่อต่างรู้ดีว่า ไม่สามารถเป็นเครื่องมือของรัฐตลอดไปได้ เพราะสื่อต้องเป็นของประชาชน 

ธัญวัจน์ กล่าวอีกว่า ในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 สิ่งที่ตนได้พบเจอคือ มีการนำเสนอข่าวที่แตกต่างออกไปจากความเป็นจริง ภาพข่าวต่างๆ ที่สื่อมวลชนไม่สามารถนำเสนอทางโทรทัศน์ได้ถูกขายอยู่ในคลองถม แม้ว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะใช้คำว่า “ศีลธรรมอันดี” เพื่อความเป็นกลางของสังคม แต่ถามว่าการไม่พูดเรื่องการเมืองเป็นความเป็นกลางหรือไม่ ท่านคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่ เช่นการรัฐประการที่อ้างว่าต้องการความสงบ และคืนความสุขให้กับประชาชนนั่นคือความเป็นกลาง และศีลธรรมอันดีหรือเปล่า 

ธัญวัจน์ ระบุอีกว่า จากที่ตนได้ขับเคลื่อนเรื่องการค้าประเวณีถูกกฎหมาย แต่กฎหมายเกี่ยวกับการค้าประเวณียังขัดต่อศีลธรรมอันดี จึงอยากรู้ว่าสิ่งเหล่านี้สามารถพูดในสื่อได้หรือไม่ ถ้าพูดไม่ได้มันจะเป็นธรรมต่อผู้ประกอบอาชีพดังกล่าวในสังคมหรือไม่ และสิ่งที่สำคัญในกลไกประชาธิปไตยคือ สื่อต้องกำกับดูแลด้วยกันเอง 

ขณะที่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ เป็นกฎหมายปฏิรูปที่ล้มเหลว ผิดที่ผิดทาง ทำให้สภาผ่านร่างได้อย่างยากลำบาก เป็นกระบวนการซึ่งเกิดจากความคิดอำนาจนิยม ตั้งต้นเป็นไม้ไผ่ แต่เมื่อมองลงไปบ้องกัญชา รวมถึงมีการออกกฎหมายเพื่อกำกับสื่อ แต่มีองค์กรวิชาชีพในปัจจุบันอยู่แล้ว ทำให้รัฐสามารถเข้าไปมีบทบาทในการแต่งตั้งบริหารจัดการ และมีอำนาจเข้าไปแทรกซง ฉะนั้นจึงไม่มีผลดีใดๆ กับประชาชน มีเพียงรัฐเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ 

จุลพันธ์ กล่าวอีกว่า นี่เป็นช่วงท้ายสมัยประชุม วันนี้ต่อให้ร่างกฎหมายได้รับความเห็นชอบ แต่รัฐสภาชุดนี้เหลือเวลาแค่เพียงเดือนเศษ กรณีพิจารณากฎหมายฉบับนี้ที่มีกว่า 49 มาตรา จะเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาเดือนเศษเป็นไปไม่ได้ แม้พิจาณาเสร็จสิ้น ก็ไม่มีรัฐสภาให้นำเรื่องกลับมาพิจารณาและจะกลายเป็นค้างคาไม่เกิดประโยชน์ใดๆ จึงอยากให้ถอนออกไปก่อน และถ้าหากกลับมาเป็นรัฐมนตรีในครั้งหน้า และยังมองว่าจำเป็นค่อยเสนอเข้ามาเพื่อให้มีเวลาทำงานจนจบกระบวนการ ไม่ใช่มาจั่วหัวไว้แล้วยุบสภาไป สุดท้ายรัฐบาลหน้าก็ต้องมารับผิดชอบต่อ 

จุลพันธ์ เสริมว่า ในบทเฉพาะกาลของกฎหมายฉบับนี้ที่ให้กรรมการวิชาชีพสื่อมวลชนประกอบไปด้วย อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และผู้แทนที่แต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์นั้นก็คือคนเดียวกับคนที่เสนอ ‘ผังลมเจ้า’ มันจะทำให้เราเชื่อใจอย่างบริสุทธิ์ได้อย่างไรว่า สุดท้ายเราจะได้องค์กรวิชาชีพสื่อที่บิดเบี้ยว จะได้สื่อที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ไปห้องส่งแล้วบอกว่าดีเยี่ยม ส่วนสื่อที่มีกระแสแตกต่างไปจากรัฐบาลจะถูกต่อต้านทั้งหมด 

ธีรรัตน์ อภิปรายไม่ไว้วางใจ ประชุมสภา 6D7D238C6.jpeg

ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการเสนอร่างเข้ามาเพื่อควบคุมสื่อ แม้ที่ผ่านมามีแถลงการณ์จากสมาคมวิชาชีพสื่อหลายๆ ที่ ได้คัดค้าน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการตั้งองค์กรที่ซ้ำซ้อน อีกทั้งกฎหมายฉบับนี้มีเพื่อเป็นช่องทางให้เกิดการนำเอางบประมาณมาใช้จ่ายให้กรรมการที่นั่งอยู่ในสภาสื่อมวลชนซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่อยากเห็น และคิดว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ถ้าหากรัฐบาลยังดื้อดึง หมายความว่า เป็นการดึงเอาองคาพยพมาควบคุมสื่ออีกครั้ง และจะไม่เกิดอะไรกับประชาชน มันอยู่ท้ายสมัยของรัฐบาล รวมถึงสภาของเรามีอายุเดือนกว่าๆ 49 มาตราไม่มีทางสำเร็จลงได้จะเป็นการเปล่า เชื่อว่า ควรจะถอนออกไปแล้วรอรัฐบาลใหม่เข้ามาทำหน้าที่นี้ได้อย่างสมบูรณ์

“เพื่อนสมาชิกควรตัดไฟแต่ต้นลม ไม่ให้ไฟลุกลามไปก่อน เหมือนกับรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนด ส.ว. 250 คน เข้ามาแล้ว มันออกยากมาก ถ้าตั้งสภาจริยธรรมสื่อมวลชนขึ้นมา คิดว่าคงอยู่ยาวเหมือนกัน อย่าให้ปัญหานี้เกิดแล้วเราต้องมาแก้ไข” ธีรรัตน์ กล่าว 

ชวน ประธานสภา 730757CB820.jpegชวน พรเพชร -3667-4640-BFE7-5AB51EB24FC7.jpeg

รัฐสภาล่ม ! พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ ค้างเติ่ง ‘ชวน’ เข็นองค์ประชุมไม่ไหว

ภายหลังสมาชิกรัฐสภาได้ผลัดเปลี่ยนอภิปราย เวลา 17.45 น. ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาทำหน้าที่ประธารการประชุม ได้แจ้งให้สมาชิกกดบัตรแสดงตนเพื่อตรวจสอบองค์ประชุม แต่มีสมาชิกแสดงตนเพียง 181 คน จากจำนวนองค์ประชุมที่ต้องเกินกึ่งหนึ่งคือ 334 คน จากทั้งหมด 667 คน 

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้กล่าวก่อนการแสดงตนว่า ดูด้วยสายตา องค์ประชุมขาดเยอะ แม้ว่ากฎหมายนี้จะเป็นกฎหมายที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอเข้ามา แต่ทาง ส.ว. ค่อนข้างบางตาเพราะอาจจะไม่เห็นด้วย และวันพรุ่งนี้ (8 ก.พ.) จะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเพิ่มเติม พ.ศ. … ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอมาหลายครั้ง ซึ่งการลงมติในกฎหมายนี้หากไม่ครบ ก็ทิ้งมันไว้ แล้วให้อำนาจประชาชนเลือกตั้ง แล้วรอรัฐบาลใหม่เสนอเข้ามาเพื่อพิจารณา 

ด้าน ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ความประสงค์ในวันพรุ่งนี้ (8 ก.พ. 2566 ) คือต้องการให้พิจารณารัฐธรรมนูญและลงมติให้เสร็จ ซึ่งถ้าพิจารณากฎหมายจริยธรรมสื่อฯ ไม่เสร็จ เห็นด้วยว่า ควรแยกประชุมพิเศษไป แต่ผลคือวันนี้องค์ประชุมไม่ครบ ก็ปิดประชุม ค้างบรรจุในวาระปกติต่อไป จะประชุมนัดพิเศษเฉพาะเรื่องนี้ก็ได้ แต่คงไม่มีใครทำแล้ว ก็คงจะต้องพิจารณาไปตามลำดับแล้วมาเรื่องด่วนที่ค้างอยู่ 

ชวน กล่าวอีกว่า ส่วนวันที่ 8 ก.พ. จะองค์ประชุมรัฐสภาจะครบหรือไม่ครบเป็นเรื่องของวันที่ 8 ก.พ. ซึ่งประเด็นที่จะมีการพิจารณาคืออำนาจหน้าที่ และบทบาทของ ส.ว. ซึ่งแน่นอนเป็นประเด็นที่ ส.ว. ส่วนหนึ่งมองว่าเป็นกฎหมายด่า ส.ว. อย่างไรก็ตามในช่วงสุดท้าย พรรคการเมืองต้องทำงานสร้างสรรค์ การอภิปรายอย่าไปหยาบคาบรุนแรง เพราะอาจเป็นนาทีวิกฤตของพรรคการเมือง เมื่อเป็นเช่นนี้ต้องดำเนินการไปตามปกติ และเชื่อว่าการลงมติในวันพรุ่งนี้จะไม่เกินเวลา 14.00 น. ถ้าสมาชิกไม่เห็นด้วยอย่าใช้วิธีไม่แสดงตน ถ้าเราลงมติไม่รับก็จบ เวลาเป็นของมีค่า อะไรมีประโยชน์ก็ทำก่อนครบวาระ 4 ปี 

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมร่วมของรัฐสภารอบนี้เป็นการล่มครั้งที่ 4 ตั้งแต่มีการเปิดการประชุมร่วมในปี 2566 ขณะที่การประชุมของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ล่มไปแล้วทั้งสิ้น 6 ครั้งตั้งแต่เปิดศักราชปี 2566