ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (20 ก.ค.) สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ให้การต้อนรับ “เพื่อนเก่า” ของเขาอย่าง เฮนรี คิสซินเจอร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ สู่กรุงปักกิ่ง โดยการเยือนจีนครั้งนี้ของคิสซินเจอร์มีขึ้น ในขณะที่สหรัฐฯ และจีนพยายามปรับปรุงความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ คิสซินเจอร์ในวัย 100 ปี เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการเจรจาให้ทั้งสองประเทศ ปรับปรุงความสัมพันธ์ให้เป็นปกติในช่วงทศวรรษ 1970 ระหว่างช่วงสงครามเย็น ก่อนที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติจะตกต่ำลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้

“ชาวจีนให้ความสำคัญกับมิตรภาพ และเราจะไม่มีวันลืมเพื่อนเก่าของเรา และการมีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์ของคุณ ในการส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ และส่งเสริมมิตรภาพระหว่างชาวจีนและชาวอเมริกัน” สื่อของรัฐบาลจีนรายงานอ้างคำพูด ที่สีกล่าวกับคิสซินเจอร์เมื่อวันพฤหัสบดี “สิ่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ แต่ยังเปลี่ยนแปลงโลกด้วย” สีกล่าวเสริม “จีนและสหรัฐฯ อยู่บนทางแยกอีกครั้ง และทั้งสองฝ่ายต้องตัดสินใจอีกครั้ง”

แม้ว่าจะเป็นประเด็นที่ขัดแย้งกันอยู่ในสหรัฐฯ แต่คิสซินเจอร์ยังคงเป็นบุคคลที่ได้รับความนับถืออย่างสูงในจีน ประเด็นดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ระหว่างการเดินทางเยือนของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งมีภาพตรงกันข้ามกับการต้อนรับที่ จอห์น เคอร์รี ผู้แทนด้านสภาพอากาศของสหรัฐฯ ได้รับระหว่างการเยือนกรุงปีกกิ่งของเขา ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (19 ก.ค.)

ทั้งนี้ เคอร์รี และ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ซึ่งเดินทางเยือนจีนเมื่อช่วงต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ไม่ได้เข้าพบกับประธานาธิบดีจีนขณะอยู่ในกรุงปักกิ่ง อย่างไรก็ดี แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ได้เข้าพบกับประธานาธิบดีจีน เมื่อเขาเดินทางไปเยือนกรุงปักกิ่งเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (18 ก.ค.) คิสซินเจอร์ยังได้พูดคุยกับ หลี่ฉางฟู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจีน ทั้งนี้ หลี่ถูกห้ามไม่ให้เดินทางเยือนสหรัฐฯ เนื่องจากการขายอาวุธที่เขาควบคุมดูแลร่วมกับรัสเซีย โดยจากแถลงการณ์ที่เผยแพร่ออกมานั้น กระทรวงกลาโหมของจีนระบุว่า หลี่ยกย่องบทบาทของคิสซินเจอร์ในการเปิดความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยเขากล่าวเสริมว่า ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีเพิ่งมาถึงจุดต่ำสุด เนื่องจาก “บางคนในฝั่งอเมริกาที่ไม่เต็มใจที่จะพบกับจีนครึ่งทาง”

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลจีนเคยปฏิเสธคำเชิญให้หลี่พบกับ ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในการประชุมนอกรอบของการประชุมสุดยอดที่สิงคโปร์ เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาวกล่าวว่า "น่าเสียดาย" ที่ "พลเมืองภาคเอกชน" อย่างคิสซินเจอร์สามารถเข้าพบกับหลี่ได้ แต่กลับไม่ใช่ออสตินที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงจากสหรัฐฯ

ปัจจุบันนี้ จีนกับสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียด จากทั้งประเด็นไต้หวัน การค้า เทคโนโลยี การขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคทะเลจีนใต้ มาจนถึงประเด็นสงครามในยูเครน ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติมาถึงจุดเผชิญหน้ารุนแรง หลังจากการเดินทางเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในขณะนั้นเมื่อเดือน ส.ค. 2565 ก่อนสถานการณ์จะเลวร้ายลง เมื่อสหรัฐฯ ยิ่งบอลลูนที่อ้างว่าจีนใช้เพื่อการสอดแนมตกเหนือน่านฟ้าสหรัฐฯ ในขณะที่จีนอ้างว่าบอลลูนที่บินออกนอกเส้นทางดังกล่าวใช้เพื่อการสำรวจทางอากาศเท่านั้น

ท่ามกลางความพยายามล่าสุดในการปรับปรุงความสัมพันธ์ สหรัฐฯ และจีนต่างชื่นชมความสำเร็จในระดับปานกลางของการปรับปรุงความสัมพันธ์ ในขณะที่ทั้งสองชาติเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสื่อสารอย่างเปิดเผย ทั้งนี้ การเยือนจีนของคิสซินเจอร์ซึ่งจัดขึ้นเป็นการส่วนตัว อาจเปิดโอกาสให้ทั้งสองชาติมีการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น เกี่ยวกับสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายต้องการจากความสัมพันธ์ของพวกเขา

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา แมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ทราบดีถึงการเดินทางเยือนขีนของคิสซินเจอร์ ซึ่งเป็นการเดินทาง “ภายใต้ความสมัครใจของเขาเอง ไม่ได้ทำหน้าที่ในนาม” ของสหรัฐฯ

ในปี 2514 คิสซินเจอร์บินไปยังกรุงปักกิ่งแบบลับๆ นับเป็นการเริ่มความสัมพันธ์ที่ลดระดับการเผชิญหน้าลง ของรัฐบาลสหรัฐฯ กับรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน โดยท่าทีของสหรัฐฯ ต่อจีน ซึ่งเป็นประเทศที่โดดเดี่ยวตัวเองออกจากประชาคมโลกในขณะนั้น ส่งผลให้จีนผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจด้านการผลิตและเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลกในที่สุด โดยเวลาต่อมา คิสซินเจอร์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วม สำหรับการเจรจาที่นำไปสู่การหยุดยิงในสงครามเวียดนาม ซึ่งสิ้นสุดในปี 2518

อย่างไรก็ดี นักวิจารณ์บางคนมองว่าคิสซินเจอร์เป็นอาชญากรสงคราม จากบทบาทของเขาในการสั่งทิ้งระเบิดอย่างลับๆ ในกัมพูชาและลาว รวมถึงสนับสนุนการทำรัฐประหารในชิลีและอาร์เจนตินา และเมินเฉยต่อความโหดร้ายป่าเถื่อนที่ปากีสถานกระทำ ระหว่างสงครามประกาศอิสรภาพของบังกลาเทศในปี 2514


ที่มา:

https://www.aljazeera.com/news/2023/7/20/chinas-xi-welcomes-old-friend-henry-kissinger-in-beijing?fbclid=IwAR1BQvVGvDav06xSdYtfkJIFb_A7yXN20k7pgZbgZiZUJziwZdT_C5v3pbA