ไม่พบผลการค้นหา
ในขณะที่ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย กำลังเตรียมพบกับ คิมจองอึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ ทางการสหรัฐฯ ได้ออกมาขู่ว่าจะบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรที่มีอยู่ “อย่างแข็งขัน” และเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรใหม่ หากเกาหลีเหนือจัดหาอาวุธให้รัสเซียเพื่อการทำสงครามในยูเครน

แมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันจันทร์ (11 ก.ย.) ว่า สหรัฐฯ จะยังคง "มีส่วนรับผิดชอบ" ต่อหน่วยงานต่างๆ ที่ช่วยเหลือการรณรงค์ทางทหารของรัสเซียในยูเครน 

“ผมจะเตือนทั้งสองประเทศว่า การถ่ายโอนอาวุธใดๆ จากเกาหลีเหนือไปยังรัสเซีย จะเป็นการละเมิดมติต่างๆ ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ” มิลเลอร์กล่าวกับผู้สื่อข่าว “แน่นอนว่าเราได้บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรอย่างจริงจัง ต่อหน่วยงานที่ให้ทุนสนับสนุนความพยายามทำสงครามของรัสเซีย และเราจะบังคับใช้การคว่ำบาตรเหล่านั้นต่อไป และจะไม่ลังเลที่จะกำหนดมาตรการคว่ำบาตรใหม่หากเหมาะสม”

อย่างไรก็ดี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ไม่ได้ระบุว่าสหรัฐฯ จะกำหนดบทลงโทษต่อเกาหลีเหนือ รัสเซีย หรือทั้งสองประเทศ โดยมิลเลอร์กล่าวว่า สหรัฐฯ กำลังติดตามสถานการณ์ และจะ “รอดูผลการประชุมก่อนจะมีการคาดการณ์” ทั้งนี้ ทั้งรัสเซียและเกาหลีเหนือ ต่างตกอยู่ภายใต้การคว่ำบาตรอย่างหนักของสหรัฐฯ ในขณะที่ทางการรัสเซียและเกาหลีเหนือยืนยันว่า ปูตินและคิมมีกำหนดพบกันในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

เมื่อช่วงวันจันทร์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีรัสเซียเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมทางเศรษฐกิจ ในเมืองท่าวลาดิวอสต็อก ทางตะวันออกไกลของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาได้พบกับคิมเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา

มิลเลอร์กล่าวแย้งว่าการที่ปูตินหันไปขอความช่วยเหลือจากคิม ซึ่งเป็น “ประเทศนอกคอกในเวทีระหว่างประเทศ” กำลังแสดงให้เห็นว่าการรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ ที่เริ่มขึ้นโดยรัสเซียในปี 2565 ถือเป็น “ความล้มเหลวทางยุทธศาสตร์” ของปูติน

“ไม่มีหลักฐานใดที่ดีไปกว่าตอนนี้แล้ว 1 ปีครึ่งต่อมา ไม่เพียงแต่เขาจะล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายในสนามรบ แต่คุณยังเห็นเขาเดินทางข้ามประเทศของเขาเอง พร้อมสวมหมวกในมือเพื่อขอความช่วยเหลือทางทหารจาก คิมจองอึน” มิลเลอร์กล่าวถึงปูตินเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

หลังจากล้มเหลวในการยึดกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน ในช่วงสัปดาห์แรกของการรุกราน รัสเซียได้จำกัดเป้าหมายการทำสงคราม ไว้เพียงการยึดครองพื้นที่ทางตะวันออกของประเทศเพื่อนบ้านตัวเอง อย่างไรก็ดี ยูเครนได้เปิดฉากการรุกตอบโต้เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้ แต่กองกำลังยูเครนได้เปรียบเพียงเล็กน้อยต่อกองทัพรัสเซียเท่านั้น

“เรายังคงประเมินต่อไปว่า ยูเครนมีความคืบหน้าในการรุกโต้ตอบ และเรามีความมั่นใจในความสามารถของกองกำลังของพวกเขา” มิลเลอร์กล่าวเสริม

สหรัฐฯ ซึ่งมอบเงินหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือยูเครน ในการต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย ได้เตือนชาติคู่แข่งและศัตรู ซึ่งรวมถึงจีน ไม่ให้ให้ช่วยเหลือรัสเซียในการรุกรานทางทหารต่อยูเครน ทั้งนี้ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการสหรัฐฯ ได้เรียกร้องเกาหลีเหนือในหลายครั้งไม่ให้ขายอาวุธแก่รัสเซีย

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามต่อมิลเลอร์ว่า เพราะเหตุใดสหรัฐฯ จึงกังวลว่าการประชุมระหว่างคิมกับปูติน จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับข้อตกลงด้านอาวุธ มิลเลอร์ได้ตอบว่า การประชุมของผู้นำเกาหลีเหนือและรัสเซีย ไม่ได้เป็นเพียงแค่การ "รวมตัวสังสรรค์ในทางสังคม"

รัสเซียและเกาหลีเหนือส่งสัญญาณว่า ความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เซอร์เกย์ ชอยกู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ได้เดินทางเยือนเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่หัวหน้าฝ่ายกลาโหมของรัสเซีย ได้เดินทางไปเยือนเกาหลีเหนือนับตั้งแต่ปี 2534 โดยในขณะนั้น ชอยกูได้เข้าพบกับคิมเพื่อหารือเกี่ยวกับ "ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์และยุทธวิธี" นอกจากนี้ คิมและปูตินยังได้แลกเปลี่ยนจดหมายเมื่อเดือนที่แล้ว โดยทั้งสองผู้นำให้คำมั่นว่า พวกเขาจะสนับสนุนความร่วมมือระหว่างรัสเซียกับเกาหลีเหนือ

ในทางตรงกันข้าม เมื่อปีที่แล้ว สหรัฐฯ ยังกล่าวหาเกาหลีเหนือ ว่าแอบส่งกระสุนปืนใหญ่ไปยังรัสเซีย เพื่อนำไปใช้รบโดยกองกำลังทหารรับจ้างวากเนอร์ในสงครามยูเครน อย่างไรก็ดี ข้อกล่าวหาดังกล่าวจากสหรัฐฯ ได้รับการปฎิเสธจากทั้งทางการรัสเซียและเกาหลีเหนือ

ในรายงานที่แยกจากกัน ความตึงเครียดระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯ ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ และการทดสอบขีปนาวุธที่เพิ่มขึ้นของเกาหลีเหนือ ทั้งนี้ เกาหลีเหนือวได้างกรอบการยิงขีปนาวุธเหล่านี้ เพื่อเป็นการตอบโต้เชิงรับต่อการฝึกซ้อมรบทางทหารร่วมของสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ใกล้กันกับพื้นที่คาบสมุทรเกาหลี


ที่มา:

https://www.aljazeera.com/news/2023/9/11/us-threatens-sanctions-if-north-korea-sells-arms-to-russia?fbclid=IwAR3yq_nCJpbTWM5aGJ3IcJOr7aX1hg5tuxCY1ekHL6xplfCPR5SVpt3VBqY