คอลเลคชั่นผ้าไทยร่วมสมัย ‘จากแดนไกล’ ถือกำเนิดขึ้นจากฝีมือของ อู๋ - วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ดีไซเนอร์ และเจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH (วิชระวิชญ์) ที่เต็มเปี่ยมด้วยความเรียบง่าย และพิถีพิถัน ได้แสดงออกถึงเอกลักษณ์ของผ้าไทยทั้ง 7 ชนิด จากผู้ประการท้องถิ่นทั่วประเทศ
ผ้าไทยพื้นถิ่นที่วิชระวิชญ์ใช้ในการออกแบบประกอบด้วย 1. ผ้าฝ้าย จากโรงทอผ้า Jutatip จังหวัดขอนแก่น 2. ไหมแต้มหมี่ จากกลุ่มสตรีทอผ้ามัดหมี่บ้านหัวฝาย จังหวัดขอนแก่น 3.ผ้าไหมมัดหมี่ จากกลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุโข จังหวัดขอนแก่น 4.ผ้าฝ้าย จากโรงทอผ้า Cotton Farm จังหวัดเชียงใหม่ 5.ผ้าไหม จากเรือนไหมใบหม่อน จังหวัดสุรินทร์ 6. ผ้าขาวม้า โรงทอผ้าอิมปานิ จังหวัดราชบุรี และ 7. ผ้าบาติก จากโรงทอผ้าบาติก เดอ นารา จังหวัดปัตตานี
นอกจากเอกลักษณ์ และความแตกต่างทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศไทย คอลเลคชั่น ‘จากแดนไกล’ ไม่ได้พูดถึงระยะทางเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวกับ ‘มิติเวลา’ ที่คุณอู๋ในฐานะดีไซเนอร์บอกว่า ต้องการต่อยอดของเก่าให้กลับมาใหม่ และมีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง
‘จากแดนไกล’ คือผลงานภายใต้โครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล (Taproot Thai Textiles) โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม นอกจากนั้น ยังได้ความร่วมมือจากศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มาช่วยเหลือในการคัดเลือกผ้าไทยพื้นถิ่นอีกด้วย
วิชระวิชญ์ ดีไซเนอร์ผู้เป็นที่รู้จัก และโด่งดังในระดับสากลกล่าว่า ต้องการปลุกผ้าไทยให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง และต้องนำออกมาให้ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันให้ได้
“ผ้าไทย หรือของเก่าที่เรามีล้วนแต่เป็นของใกล้ตัวที่ถูกมองข้ามมาโดยตลอด ผมเกิดมาก็มีกี่ทอผ้าอยู่ใต้ถุนบ้าน แต่ไม่ได้คิดว่าจะมีโอกาสนำมาใช้งาน หรือต่อยอดให้กลายเป็นของใช้ในปัจจุบัน แต่เดิม WHISHARAWISH ก็เน้นไปที่งานออกแบบที่ทำด้วยมือ เรารู้สึกว่าคุณค่าของการออกแบบอยู่ที่ Art & Craft อะไรก็ตามที่ทำจากมือจะเป็นเอกลักษณ์ของเรา
“ในครั้งนี้ผมไม่ได้ทำหน้าที่เป็นโค้ชให้กับผู้ประกอบการ แต่เป็นการทำงาน และลองผิดลองถูกร่วมกัน แต่ละที่มีความต้องการไม่เหมือนกัน สิ่งสำคัญอยู่ที่การรับฟัง โชคดีที่ผู้ประกอบการทั้ง 7 ราย เปิดใจกว้าง และอยากพัฒนาผ้าไทยให้ออกสู่ระดับสากล”
ด้าน เอก - เอกสิทธิ์ โกมลกิติพงศ์ จากโรงทอผ้าอิมปานิ จังหวัดราชบุรี ในฐานะผู้สืบทอดรุ่นที่ 3 ก็เผชิญหน้ากับความยากลำบากในการสานต่อกิจการจากยุคแรก เพราะผ้าขาวม้ากลายเป็นสินค้าที่ไม่ได้รับความนิยมในกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ จึงทำการต่อยอดด้วยการดีไซน์ลายผ้า และคู่สีใหม่ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
“แต่เดิมผ้าขาวบ้าราชบุรีจะรู้จักกันในนามของ ‘ผ้าขาวม้าบ้านไร่’ ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องยิ่งใช้ยิ่งนิ่ม ในช่วงหลังเราเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงลายผ้าจากเดิมที่เป็นตารางหมากรุกเพียงอย่างเดียว ก็จะมีความร่วมสมัย และทันสมัยมากขึ้น แต่คุณภาพยังคงเดิม”
ทายาทโรงทอผ้าอิมปานิเปิดเผยว่า ได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์อู๋ - วิชระวิชญ์ โดยให้คำปรึกษา เพื่อสร้างลวดลายผ้าขาวม้า จนนำมาซึ่งลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ สำหรับงานออกแบบคอลเลคชั่นนี้โดยเฉพาะ และถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากเพราะความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ เป็นสิ่งสำคัญที่ก่อนหน้านี้ขาดหายไปจากวงการผ้าไทย
ออกแบบเพื่อระดับสากล และใส่ใจธรรมชาติ
ดีไซเนอร์ และเจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH บอกว่า ในขั้นตอนการทำงานตนเองจะพยายามทิ้งความคิดว่า วัสดุดังกล่าวคือ ผ้าไทย เพื่อให้ไม่ยึดติบกับงานออกแบบดั้งเดิม เพราะต้องการให้ผ้าไทยไปถึงระดับสากลเข้าถึงผู้คนในวงกว้าง มีความเข้าใจง่าย สวมใส่ได้สบาย
“ตลาดสากลต้องการคุณค่าทางงานฝีมือ แต่ก็ต้องมีความสนุก มีความเป็นปัจจุบัน ไม่ดูดั้งเดิมหรือแสดงออกถึงความเป็นเชื้อชาติจนเกินไป เหมือนเราปรุงอาหารไทยแต่เป็นรสชาติที่ผู้คนทั่วไปสามารถทานได้”
คุณอู๋ ยกตัวอย่างการออกแบบคอลเลคชั่นจากแดนไกล ว่าคล้ายกับการปรุงอาหาร ที่ดีไซเนอร์ต้องคิดคำนวณว่าจะปรุงอย่างไรให้ออกมาถูกปาก แต่ถ้าวัตถุดิบดีอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องปรุงเยอะ และปล่อยให้แสดงรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ออกมาให้มากที่สุด
นอกจากนั้น ในคอลเลคชั่นยังมีการออกแบบที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ โดนเลือกใช้สีย้อมธรรมชาติจากวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น พร้อมผสนผสานนวัตกรรมฟิลาเจน ใส่เข้าไปกับผ้าบางตัวเพื่อให้มีความนุ่มสบาน ดูแลรักษาได้ง่าย และสามารถใส่ในชีวิตประจำวันได้จริงๆ
“ในอนาคตผ้าไทยก็จะต้องคำนึงถึงตลาดสากล เรื่องความเป็นมิตรต่อธรรมชาติ การทำให้ขยะเป็นศูนย์ ความยั่งยิน หรือการใช้สีธรรมชาติ และนวัตกรรมต่างๆ จะถูกนำมาผสมอยู่กับวงการผ้าไทยมากขึ้น และนำไปสู่ตลาดสากลได้
ปัจจุบันไม่ใช่เรื่องของแฟชั่นเพียงอย่างเดียวแต่การคำนึงถึงธรรมชาติคือสิ่งจำเป็น ทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เราก็พยายามนำมาผสมผสานกับผ้าไทยด้วย” อู๋ ทิ้งท้าย