ไม่พบผลการค้นหา
ปลัดอุตสาหกรรมประเมินดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ปี 2561 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.5-2.5% สอดคล้องตามสภาพัฒน์ประเมินจีดีพีโต 3.4-4.6% ชี้อุตสาหกรรมอาหาร ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเติบโตโดดเด่น พร้อมคาดการณ์ภายใน 4 ปี 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย S curve ต้องการแรงงานปีละเกือบ 7 หมื่นคน

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้คาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) ในปี 2561 จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.5 - 2.5% ซึ่งสอดคล้องกับที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทย ปี 2561 จะขยายตัวอยู่ที่ 3.4 - 4.6% เพราะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและการส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 


โดยภาคอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโต ในปี 2561 ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี อยู่ที่ 3 – 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิตกลุ่มปศุสัตว์ จากความต้องการสินค้าไก่แปรรูป และไก่สดแช่เย็น แช่แข็งเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ การผลิตกลุ่มผักผลไม้เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับผลผลิตของสินค้าเกษตร เช่น สับปะรดกระป๋อง และน้ำผลไม้ รวมทั้งการผลิตสินค้าน้ำตาลที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวสภาพอากาศเหมาะสม ทำให้ค่าเฉลี่ยความหวานสูงขึ้น และปริมาณ���้อย ในฤดูกาล ปี 2560/2561 เพิ่มขึ้นกว่าฤดูกาลปี 2559/2560 จากปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอ และการขยายพื้นที่ปลูกตามระดับราคาน้ำตาลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ขณะที่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าการผลิตและการส่งออกจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 3% และ 7% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2560 โดยเครื่องซักผ้ามีแนวโน้มส่งออกเพิ่มขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ IC (แผงวงจรไฟฟ้า) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญของสินค้าประเภทเทคโนโลยีสูงขึ้น

สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 2,000,000 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.56% โดยเป็นการจำหน่ายในประเทศประมาณ 880,000 คัน เพิ่มขึ้น 3.52% และเป็นการส่งออกประมาณ 1,120,000 คัน เพิ่มขึ้น 1.82% และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม จะขยายตัวตามทิศทางการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกเส้นใย และผ้าผืนไปยังตลาด CLMV ซึ่งเป็นฐานการผลิตเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญของโลก 


"ปีนี้ประเทศไทยได้เปลี่ยนผ่านสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยน จากเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยฐานแรงงานเข้มข้นในอุตสาหกรรมหนัก ไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เน้นใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม" นายพสุกล่าว

ทั้งนี้ จากการสำรวจความต้องการแรงงานในกลุ่ม 10 สาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ปี 2560 – 2564 พบว่า มีความต้องการแรงงานในภาพรวมเฉลี่ย 69,242 คนต่อปี โดยอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมดิจิทัล

ด้านการดำเนินงานเพื่อเตรียมพัฒนาแรงงานสู่อุตสาหกรรม 4.0 ในปีงบประมาณ 2560 กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินโครงการเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานใน 3 สาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งนี้ ในปี 2561 ได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อยอดไปยังสาขาอื่นๆ ด้วย รวมทั้งการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะที่หลากหลาย เพื่อรองรับการเข้าสู่ Thailand 4.0 โดยวางแผนการพัฒนาแรงงานภาคอุตสาหกรรม จำนวนทั้งสิ้น 100,000 คน ภายใต้โครงการของกระทรวงอุตสาหกรรมและสถาบันในสังกัด

นอกจากนี้ กระทรวงฯ พร้อมบูรณาการร่วมกับกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคการศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากร โดยเฉพาะใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)