มูลนิธิทอมสัน รอยเตอร์ส สำรวจสตรีชาวญี่ปุ่นจำนวน 1,000 คนที่อาศัย และเดินทางในเมืองโตเกียว ลอนดอน นิวยอร์ก ไคโร และเม็กซิโก พบว่า มีผู้หญิงน้อยกว่าครึ่งที่สนับสนุนการมีโซนเฉพาะบนรถไฟ และรถเมล์สำหรับผู้หญิง แต่เกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงในโตเกียวกลับสนับสนุนตู้โดยสารแบบแยกเพศบนรถไฟ
กว่า 2 ใน 3 ของคดีลวนลาม 1,750 คดีในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เกิดขึ้นบนรถไฟ หรือสถานีรถไฟ รถไฟบางสายในโตเกียวเริ่มมีการให้บริการตู้ชบวนรถไฟสำหรับผู้หญิงในบางช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2000 เพื่อแก้ปัญหานี้
“ในตู้โดยสารที่มีแต่ผู้หญิงเราปกป้องตัวเองได้ แล้วก็มีโอกาสที่จะถูกลวนลามน้อยลงด้วย” อาซาฮี จิฮิโระ นักศึกษาหญิงชาวญี่ปุ่นวัย 22 ปีกล่าว
ขณะเดียวกัน ชายชาวญี่ปุ่นส่วนหนึ่งก็ตั้งใจขึ้นตู้ขบวนสำหรับผู้หญิง เพื่อประท้วงนโยบายดังกล่าว ซึ่งถูกมองว่าเป็นการเหยียดเพศ บางคนประสบเหตุถูกกล่าวหาว่า ลวนลามจนทำให้เสี่ยงต่อการถูกไล่ออกจากงาน ถึงขั้นต้องหาทางป้องกันตัวเอง เช่น การทำประกันที่มีบริการทางกฎหมายหากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้น เพราะการเบียดเสียดกันในชั่วโมงเร่งด่วนบนขบวนรถไฟนั้นเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงได้ยาก และชายชาวญี่ปุ่นบางส่วนก็มองเรื่องนี้เป็นปัญหากระทั่งอยากให้มีตู้ขบวนชายล้วนบ้างเช่นกัน
ในปี 2560 บิ๊กโลบ (Biglobe) บริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในญี่ปุ่นเคยทำแบบสำรวจผู้ชายชาวญี่ปุ่น 400 คนใน 4 ช่วงอายุ 20-29, 30-39, 40-49, และ 50-59 ช่วงอายุละ 100 คน พบว่า ชายชาวญี่ปุ่นที่สนใจอยากให้มีตู้ขบวนสำหรับผู้ชายโดยเฉพาะนั้น ในช่วงอายุ 20-29 ปี มีจำนวน 66 เปอร์เซ็นต์ ช่วง 30-39 ปี 51 เปอร์เซ็นต์ ช่วง 40-49 ปี 47 เปอร์เซ็นต์ และช่วง 50-59 ปี 38 เปอร์เซ็นต์
สำหรับในประเทศอื่นๆ ผลสำรวจของมูลนิธิทอมสัน รอยเตอร์สระบุว่า ผู้หญิงในกรุงไคโรและเม็กซิโกเองก็มองว่า ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่งในการเดินทาง ทั้งระบบขนส่งมวลชน และยานพาหนะ โดยสตรีในกรุงไคโร 60 เปอร์เซ็นต์ และสตรีในกรุงเม็กซิโก 55 เปอร์เซ็นต์ ก็คิดว่าโซนเฉพาะบนรถไฟ และบนรถเมล์สำหรับผู้หญิงจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยขึ้นได้
ทว่าในลอนดอน และนิวยอร์กนั้น มีผู้หญิงไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เห็นด้วยกับนโยบายลักษณะนี้ และมีการให้ความสำคัญกับเวลา และค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการเดินทางมากกว่าความปลอดภัย
ในอีกมุมหนึ่ง มาร์ตี แลงเกลัน (Marty Langelan) สตรีชาวอเมริกันผู้เขียนหนังสือแบ๊กออฟ วิธีเผชิญหน้าและหยุดยั้งการคุกคามทางเพศและผู้คุกคามทางเพศ (Back Off: How to Confront and Stop Sexual Harassment and Harassers) นั้นมองว่า การกีดไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศ “ตามหลักจริยธรรมแล้ว วิธีตอบโต้กับความรุนแรงคือต้องหยุดผู้กระทำผิด ไม่ใช่กีดกันเหยื่อออกมา”
ทางด้านแมนดี แม็คเกรเกอร์ (Mandy McGregor) ผู้บริหารนโยบายขององค์การคมนาคมสำหรับลอนดอนกล่าวว่า ไม่มีแผนจะให้มีขนส่งมวลชนสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะในเมืองหลวงของอังกฤษ
“สิ่งที่เราต้องทำคือ การมุ่งเป้าไปที่พฤติกรรมของผู้ชาย มีคนเพียงกลุ่มน้อยเท่านั้นที่ทำแบบนี้ ดังนั้น เราต้องมุ่งไปที่การจับคนพวกนี้ แทนที่จะให้ผู้หญิงต้องทำอะไรต่างจากคนทั่วไป” แมนดีกล่าว
ที่มา: