ไม่พบผลการค้นหา
ทีมนักวิทยาศาสตร์ใช้ข้อมูลใหม่ในการประเมินว่า ทุกๆ ปี คนยุโรปจำนวนเกือบ 800,000 ราย ต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เพราะอากาศเป็นพิษ ซึ่งตัวเลขนี้สูงกว่าการประเมินครั้งก่อนถึงเท่าตัว นั่นหมายความว่า อากาศเป็นพิษฆ่าคนมากกว่าบุหรี่เสียอีก

งานวิจัยชิ้นใหม่ในวารสารการแพทย์หัวใจยุโรป (European Heart Journal) ชี้ว่า ขณะที่มลพิษทางอากาศจะส่งผลกับปอดเป็นลำดับแรก แต่ก็มีผลกระทบต่อกระแสเลือด นำไปสู่โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุการตายของคนจำนวนมาก โดยมากกว่าผู้ที่ตายเพราะโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจถึงสองเท่า

สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศต่อปีในยุโรป จำนวน 790,000 รายนั้น แบ่งตามสาเหตุการเสียชีวิตได้ดังนี้

  • 40 เปอร์เซ็นต์ เสียชีวิตเพราะโรคหัวใจขาดเลือด
  • 32 เปอร์เซ็นต์ เสียชีวิตเพราะโรคไม่ติดต่อชนิดอื่นๆ
  • 8 เปอร์เซ็นต์ เสียชีวิตเพราะโรคหลอดเลือดสมอง
  • 7 เปอร์เซ็นต์ เสียชีวิตเพราะมะเร็งปอด
  • 7 เปอร์เซ็นต์ เสียชีวิตเพราะโรคปอดบวม
  • 6 เปอร์เซ็นต์ เสียชีวิตเพราะโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง

ศาสตราจารย์โธมัส มุนเซิล (Thomas Münzel) จากมหาวิทยาลัยศูนย์การแพทย์ไมนซ์ ในเยอรมนี อธิบายว่า จากตัวเลขนั้นสามารถพูดได้ว่า มลพิษทางอากาศทำให้คนเสียชีวิตมากกว่าบุหรี่

"การสูบบุหรี่นั้นเลี่ยงได้ แต่เราเลี่ยงมลพิษในอากาศไม่ได้" มุนเซิลกล่าว และอธิบายว่า การป้องกันโรคหัวและหลอดเลือดต้องนับมลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญด้วย

ทว่าในปัจจุบันฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นอนุภาคขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรเมื่อมีการพยายามแก้ปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือด

“ในฐานะแพทย์และคนไข้ เราไม่สามารถปรับเปลี่ยนข้อกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นในอากาศได้ ดังนั้นนักการเมืองต้องต่อสู้และมอบสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้กับเรา”

ศาสตราจารย์ ยอส เลลีวัลด์ (Jos Lelieveld) จากสถาบันเคมีแห่งไมนซ์ หนึ่งในทีมวิจัย เสนอว่าในเมื่อมลพิษในอากาศส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ เราต้องเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานอื่นอย่างเร่งด่วน การใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียน จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และช่วยลดมลพิษทางอากาศที่สัมพันธ์กับอัตราการตายถึง 55 เปอร์เซ็นต์

ผลลัพธ์ที่คำนวณออกมาได้นั้นสูงกว่าที่เคยมีการประเมินกันก่อนหน้ามาก เนื่องจากในขณะนี้มีข้อมูลที่ดีกว่าแล้วซึ่งสะท้อนภาพผลกระทบของมลพิษทางอากาศ โดยการวิจัยใหม่นี้ใช้ข้อมูลสามชุด ได้แก่ ข้อมูลการสัมผัสมลพิษทางอากาศ ข้อมูลอายุและความหนาแน่นของประชากร และข้อมูลผลกระทบต่อสุขภาพของอากาศเป็นพิษ

ก่อนหน้านี้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของผลพิษปริมาณสูงในอากาศนั้นมีอยู่น้อยมาก และมีการใช้ผลลัพธ์จากการศึกษาควันบุหรี่มือสองแทน ทำให้ปริมาณการเสียชีวิตในการวิจัยก่อนหน้านั้นต่ำกว่าความเป็นจริง ต่างกับในปัจจุบันที่มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกว่า 40 ชิ้น

ค่าประมาณการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรนั้นต่างกันไปตามแต่ละประเทศ ในเยอรมนี มีผู้เสียชีวิต 154 คน ทุก 100,000 คน มีอายุไขประเมินลดลง 2.4 ปีโดยเฉลี่ย ในสหราชอาณาจักร มีผู้เสียชีวิต 98 คน ทุก 100,000 คน และอายุไขประเมินลดลง 1.5 ปี เลลีวัลด์ มองว่าสาเหตุที่อัตราการเสียชีวิตในสหราชอาณาจักรน้อยกว่า อาจเป็นเพราะลมจากมหาสมุทรแอตแลนติกช่วยปัดเป่ามลพิษออกไป

ทีมนักวิทยาศาสตร์ตระหนักดีว่ามีความไม่แน่นอนสูงสำหรับค่าประมาณการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในยุโรป โดยอาจคลาดเคลื่อน 645,000 ถึง 934,000 ราย การเสียชีวิตในบางรายอาจถูกสรุปพลาดว่าเป็นเพราะมลพิษทางอากาศ แต่ก็มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากเช่นกันว่าตัวเลขการเสียชีวิตจะสูงกว่าที่ประเมินกัน

ในการประเมินนี้ ผลกระทบของมลพิษทางอากาศที่ผลต่อการเสียชีวิตในทารกไม่ได้ถูกนำมานับรวมด้วย เพราะหลักฐานไม่ชัดเจนมากพอ อีกทั้งยังพิจารณาแค่ฝุ่น PM2.5 และโอโซน โดยไม่ได้นับรวมอนภาคอื่นๆ อย่างไนโตรเจนไดออกไซด์หรือมลพิษอื่นๆ ด้วย

ที่มา :

On Being
198Article
0Video
0Blog