ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพทั่วประเทศ แถลงข่าวคัดค้านการออกพระราชบัญญัติ คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ หรือ ซูเปอร์บอร์ดสุขภาพแห่งชาติ ที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้เสนอ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว ที่มีแนวโน้มว่าประชาชนจะต้องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย โดยล่าสุดร่างกฎหมายนี้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างการพิจารณาเนื้อหาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า มาตรา 3 ของร่างกฎหมายซูเปอร์บอร์ด ระบุว่า นโยบายด้านระบบสุขภาพใด ขัดหรือแย้งกับนโยบายด้านระบบสุขภาพตามพระราชบัญญัตตินี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.ฉบับนี้" ซึ่งสร้างความกังวลให้กับภาคประชาชน เนื่องจากนโยบายสุขภาพเดิมหรือนโยบายใหม่ทุกอย่างจะต้องผ่านความเห็นชอบของซูเปอร์บอร์ดที่มีสัดส่วนของกรรมการที่เป็นไม่ธรรม
เนื่องจากของคณะกรรมการ มีภาคประชาชนเพียง 3 คน จากกรรมการ 45 คน ที่เหลือเป็นสัดส่วนของข้าราชการ นอกจากนี้ยังมีสภาอุตสาหกรรมและสภาหอการค้าเข้ามามีบทบาทด้วย นายนิมิตร์ มองว่า โครงสร้างดังกล่าวไม่พิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม
หากร่างซูเปอร์บอร์ดสุขภาพแห่งชาติประกาศใช้เป็นกฎหมาย จะเกิดความเสียหายจะตาม โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วย จากเดิมมีหลักประกันสุขภาพ หรือ 30 บาทรองรับ แต่อาจจะถูกบังคับให้ร่วมจ่าย ซึ่งกระทบสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยอย่างแน่นอน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการออกกฎหมายดังกล่าว และแก้จุดอ่อนของหลักประกันสุขภาพเดิมอย่างเป็นธรรม
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
"ข้อเรียกร้องก็คือหยุดเดินหน้าเรื่องนี้ แล้วมาดูว่าโครงสร้างที่มีอยู่มันเพียงพอแล้ว ก็ดำเนินการและสนับสนุนกฎหมายหลักประกันสุขภาพซึ่งอาจจะมีจุดอ่อน ก็ร่วมกันแก้อย่างเป็นธรรม แก้ให้มันดียิ่งขึ้น"นายนิมิตร์ กล่าว
ด้านนางมีนา ดวงราษี ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ร่างกฎหมายนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการทำลายระบบหลักประกันสุขภาพ นางมีนา มองว่า การรักษาพยาบาลของประชาชน เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่รัฐควรดูแล และประชาชนไม่จำเป็นต้องร่วมจ่าย เนื่องจากได้จ่ายเงินผ่านภาษีในหลายรูปแบบแล้ว
นางมีนา ดวงราษี ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
"เราคิดว่าเรื่องนี้ไม่เป็นธรรมกับทางอีสานเราด้วย นอกจากประชาชนทั้งประเทศ โดยเฉพาะการร่วมจ่ายพวกเราก็ไม่มีศักยภาพ และคิดว่ามันไม่จำเป็นที่จะต้องร่วมเลย เพราะว่าเราจ่ายผ่านภาษีไปในหลายรูปแบบแล้ว มันเป็นเรื่องที่รัฐจะต้องจัดสวัสดิการให้กับประชาชน" นางมีนา กล่าว
ทั้งนี้ ผู้เสนอ ร่างพ.ร.บ. คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ หรือ ซูเปอร์บอร์ดสุขภาพแห่งชาติ คือ กระทรวงสาธารณสุข เริ่มผลักดันมาตั้งแต่ปี 2559 มีสาระสำคัญคือทำหน้าที่กำหนดนโยบายสุขภาพของประเทศให้มีทิศทางเดียวกัน ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในการเข้าถึงระบบสุขภาพที่ดี ซึ่งหมายถึงการรวมกองทุน 3 ระบบ ได้แก่ บัตรทอง ประกันสังคมและข้าราชการ มาไว้ในความดูแลของซูเปอร์บอร์ด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :