ไม่พบผลการค้นหา
ภาคประชาชน เตรียมยื่นหนังสือถึงรัฐบาลคัดค้านความพยายามในการแก้ไขกฎหมาย 3 ฉบับสำคัญที่เกี่ยวกับสุขภาพ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดแก้ไขกฎหมายดังกล่าว อย่าเลื่อนการเลือกตั้ง และเมื่อมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง จึงค่อยนำกลับมาพิจารณาใหม่ โดยเปิดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

เมื่อวานนี้ (18 พ.ย.61) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการจัดเสวนา “ 3 กฎหมายสุขภาพ...ก้าวหน้าหรือล้าหลัง” ซึ่งจัดโดยขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน และมีวิทยากรคือนายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี และนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์   


loo_1.jpg

ซึ่งนายนิมิตร์ กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนาว่า ร่างกฎหมายที่เป็นหลักประกันด้านสุขภาพของประชาชน กำลังถูกแก้ไขในรัฐบาลคสช. ประกอบด้วยร่างพระราชบัญญัติ คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ หรือ ซูเปอร์บอร์ดสุขภาพแห่งชาติ โดยกระทรวงสาธารณสุข เริ่มผลักดันมาตั้งแต่ปี 2559 มีสาระสำคัญคือทำหน้าที่กำหนดนโยบายสุขภาพของประเทศให้มีทิศทางเดียวกัน ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในการเข้าถึงระบบสุขภาพที่ดี ซึ่งหมายถึงการรวมกองทุน 3 ระบบ ได้แก่ บัตรทอง ประกันสังคมและข้าราชการ มาไว้ในความดูแลของซูเปอร์บอร์ด การแก้ไขพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ กฎหมายบัตรทอง ที่กระทรวงสาธารณสุขเริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 , และพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.  

โดยปัญหาหลักของการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว คือการลดสัดส่วนภาคประชาชน โดยเฉพาะในคณะกรรมการซูเปอร์บอร์ดสุขภาพแห่งชาติ ที่เหลือเพียงตัวแทนภาคประชาชนแค่ 3 คนจากจำนวนทั้งหมด 45 คน ที่ประกอบไปด้วยหน่วยงานรัฐ ผู้ทรงคุณวุฒิ สภาอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีแนวคิดว่าระบบสุขภาพจะยั่งยืนได้ ประชาชนต้องร่วมจ่าย จุดนี้จะทำให้เกิดระบบสงเคราะห์เฉพาะกลุ่ม ส่งผลให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยไม่เข้าถึงการรักษาสุขภาพ 


nimit_1.jpg

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์   

ส่วน พ.ร.บ.สสส. ที่มีความพยายามแก้ไข เพื่อมุ่งหวังจำกัดวงเงิน รวมถึงการนำมติ ระเบียบหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่บอร์ด สสส. อนุมัติ ต้องไปผ่านความเห็นขอบจากกระทรวงการคลังอีกชั้นหนึ่ง จึงมองว่าเป็นความพยายามที่สอดไส้ ให้อยู่ภายใต้ระบบราชการ ซึ่งเป็นการทำลายเจตนารมณ์ของ สสส. ที่มีระเบียบเป็นของตัวเอง

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ระบุว่า กฎหมายตัวเดิมขัดแย้งกับกฎหมายซูเปอร์บอร์ด ดังนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องจับตา และสิ่งที่เกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างชัดเจน คือ ต้องไม่มีการเลื่อนเลือกตั้ง และรัฐบาลปัจจุบันควรยุติการแก้กฎหมายสุขภาพใดๆ ในช่วงนี้ เพื่อรอให้รัฐบาลหน้าที่มาจาการเลือกตั้งเข้ามาแก้ปัญหาอย่างเป็นประชาธิปไตย ตามข้อเรียกร้องของภาคประชาชน

"ทั้ง 3 เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะหยุด แล้วค่อยๆทำในรัฐบาลสมัยหน้าที่จะมาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นไม่ควรเลื่อนการเลือกตั้ง และปล่อยให้กระบวนการของพรรคการเมืองก็เดินหน้าไป แล้วเราเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่อาสาตัวจะเข้าสู่การเลือกตั้งในเร็วๆนี้ ไปศึกษาเรื่องนี้ เพราะคุณจะเจอเราในทุกเวทีแน่ๆ แล้วในบางจังหวะ เราจะจัดเวทีเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อจะเชิญนักการเมืองให้มาเสนอนโยบายของตัวเองว่า จะพัฒนาระบบสุขภาพแบบไหน การแก้กฎหมายจะแก้อย่างไร เราอยากได้กลไกหรือวิถีของประชาธิปไตยมาแก้ไขปัญหานี้" นายนิมิตร์ กล่าว

ขณะที่ในวันนี้ (19 พ.ย.61)เวลา 13.00 น.เครือข่ายด้านสุขภาพประมาณ 150 คน ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้ยุติการแก้ไขพระราชบัญญัติ สสส. เนื่องจากเห็นว่าเนื้อหาที่แก้ไขมีลักษณะถอยหลังเข้าคลอง นำ สสส.กลับเข้าสู่ระบบราชการ จึงไม่เห็นประโยชน์ในการแก้ไข